นักวิจัย ม.ขอนแก่นสุดเจ๋ง! พัฒนากระบวนการผลิตเชื้อเพลิง 'ก๊าซไฮเทน' จากน้ำอ้อย   


22 กันยายน 60 14:16:50

เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2560 มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดการแถลงข่าว เรื่อง นักวิจัย มข.ผลิตแก๊สไฮเทนพลังงานทดแทนใหม่ ต่อลมหายใจพลังงานโลก โดยมี ศ. ดร. ศุภชัย ปทุมนากุล รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและการถ่ายทอดเทคโนโลยี พร้อมด้วย รศ.ดร.พรเทพ ถนนแก้ว คณบดีคณะเทคโนโลยี ศ.ดร. อลิศรา เรืองแสง อาจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ คณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมแถลงข่าว

ศ. ดร. ศุภชัย ปทุมนากุล รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและการถ่ายทอดเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยกำลังขับเคลื่อนเชิงนโยบายเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยให้เป็นเศรษฐกิจใหม่ (New Engines of Growth) โดยมุ่งเน้นการวิจัย ผนวกความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม วิทยาศาสตร์  ตลอดจนเทคโนโลยีชีวภาพ เพื่อขับเคลื่อนนำพาประเทศไทยไปสู่เป้าหมายไทยแลนด์ 4.0 มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในฐานะศูนย์รวมองค์ความรู้แห่งภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  จึงสนองตอบนโยบายรัฐ โดยการผลิตงานวิจัยที่ตอบโจทย์ ด้านเทคโนโลยีชีวภาพ  มุ่งเน้นให้เกิดพลังงานทดแทนที่สามารถต่อยอดในเชิงพาณิชย์  ภายใต้ผลงาน ชื่อ การพัฒนากระบวนการผลิตก๊าซไฮเทน พลังงานทดแทนใหม่จากน้ำอ้อย ผลงานวิจัยของ ศ.ดร. อลิศรา เรืองแสง ภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ คณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยขอนแก่น

ศ.ดร. อลิศรา เรืองแสง ภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ คณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผยว่า การวิจัยครั้งนี้เป็นการใช้ประโยชน์จากน้ำอ้อยเพื่อผลิตพลังงาน โดยได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาล และจากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (สวก.)

ขั้นตอนการวิจัยเริ่มจากการผลิตไฮโดรเจนในถังหมักไฮโดรเจนโดยใช้น้ำอ้อยเป็นวัตถุดิบในการผลิตภายใต้กระบวนการหมักแบบไร้อากาศ น้ำหมักจากกระบวนการผลิตไฮโดรเจนถูกส่งไปใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตมีเทนในถังหมักมีเทนต่อไป แก๊สไฮโดรเจนและมีเทนที่ผลิตได้ถูกนำมาผสมกันได้แก๊สผสมระหว่างไฮโดรเจนและมีเทนที่เรียกว่า “ไฮเทน” (hythane)

ไฮเทนที่ผลิตได้ถูกนำไปทดลองผลิตกระแสไฟฟ้าในเครื่องปั่นไฟขนาดเล็ก ผลการทดสอบกับเครื่องยนต์พบว่า ไฮเทนสามารถใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องปั่นไฟได้เป็นอย่างดี โดยมีประสิทธิภาพการทำงานที่ใกล้เคียงกับการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงปกติ และค่าการสึกหรอของเครื่องปั่นไฟที่ใช้ไฮเทนก็ไม่มีความแตกต่างกับเครื่องปั่นไฟที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงปกติ

ไฮเทนมีค่าพลังงานสูงกว่าแก๊สธรรมชาติ (CNG) การใช้ไฮเทนในเครื่องยนต์สันดาปภายในจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับเครื่องยนต์ ช่วยให้ประหยัดเชื้อเพลิง  และช่วยลดการปลดปล่อยแก๊สเรือนกระจกและสารประกอบไฮโดรคาร์บอนลงได้มากกว่า 80% เมื่อเทียบกับการใช้แก๊สธรรมชาติ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของไฮเทนที่สามารถนำไปพัฒนาต่อยอดเป็นเชื้อเพลิงทางเลือกในอนาคตของประเทศไทยได้เป็นอย่างดี

 

ขอขอบคุณ ข่าว : รวิพร สายแสนทอง ภาพ : อรรถพล ฮามพงษ์

มหาวิทยาลัยขอนแก่น







เว็บโฮสติ้ง

เว็บโฮสติ้ง   Cloud Web Hosting   Streaming Server   VPS