ออกไปเบิ่ง 'ภูเวียง' อิงหน้าผาหาไดโนเสาร์   


17 มีนาคม 60 09:14:40

ออกไปเบิ่ง 'ภูเวียง' อิงหน้าผาหาไดโนเสาร์

เช้านี้พากันไต่ระดับความสูงของ พื้นที่ ไปไหว้พระยัง วัดถ้ำผาเกิ้ง อ.เวียงเก่า จ.ขอนแก่น ด้านบนหน้าผาของวัดประดิษฐานพระพุทธรูปขนาดใหญ่อยู่บนอาคารวิหาร ด้านหน้ามีรูปปั้นพญานาคขนาดใหญ่
 


 
มองออกไปนอกหน้าต่าง... รถยังทำความเร็วสม่ำเสมอ สองข้างทางเต็มด้วยไม้ใหญ่ เสียงใครบางคนแว่วมาราวการเดินทางครั้งนี้จะได้สัมผัสกับ โบนัสของชีวิต...

คนมาภูเวียงต้องตั้งใจมาจริงๆ เพราะที่นี่ไม่ใช่ทางผ่าน” แน่นอน การมาเยือน เทือกเขาภูเวียง จ.ขอนแก่น ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ เราตั้งใจมาชมความซับซ้อนที่ธรรมชาติสร้างไว้ เอาเข้าจริง พื้นที่บนเทือกเขาส่วนกลางเป็นแอ่งกระทะยุบตัว ล้อมด้วยเทือกเขาแน่นหนาถึง 2 วงล้อม เลยทำให้เทือกเขาภูเวียงมีความสลับซับซ้อนของชั้นหิน และเป็นที่แรกในประเทศที่ค้นพบกระดูกไดโนเสาร์ ซึ่งนั่นเป็น หมุดหมายแรกในการพัฒนาการศึกษาเรื่องไดโนเสาร์ของไทย !
 


 
ด้วยยุคเริ่มแรกมีการขุดค้นหาแร่ภายในเทือกเขา และบังเอิญไปเจอกระดูกชิ้นหนึ่ง มีขนาดใหญ่ เค้าลางไม่เหมือนหินธรรมดาจึงส่งไปตรวจยังห้องวิจัย จนพบว่าเป็น ชิ้นส่วนไดโนเสาร์สายพันธุ์ซอโรพอด ซึ่งเป็นกระดูกต้นขาหลังด้านซ้าย

จากนั้นบนเทือกเขาแห่งนี้ก็ทำการขุดค้นชิ้นส่วนไดโนเสาร์ส่วนอื่น ๆ เรื่อยมา จนตั้งเป็น พิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ภูเวียง ซึ่งตัวพิพิธภัณฑ์นี้ถือว่าสะดวกสบาย เพราะพื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในร่มเหมาะกับการที่เด็ก ๆ จะได้มาเข้าชม
 


ซึ่งมีทั้งห้องที่แสดงประวัติไดโนเสาร์ที่ค้นพบในพื้นที่ รวมถึงบอกเล่าเรื่องราวการกำเนิดโลก การสูญพันธุ์ของไดโนเสาร์ ที่สำคัญต้องมาค้นหาเค้าโครงของไดโนเสาร์ สายพันธุ์ “ภูเวียงโกซอรัส สิรินธรนี” เพราะเป็นไดโนเสาร์สายพันธุ์ใหม่ของโลก ที่ขุดค้นพบที่นี่
 
มาถึงที่นี่แล้วต้องนั่งรถต่อเข้าไปยัง “หลุมขุด” ที่มีการค้นพบโครงกระดูกไดโนเสาร์ ตอนนี้มีทั้งหมด 9 หลุม ปัจจุบันนักธรณีวิทยายังมีการขุดค้นเพิ่มเรื่อยๆ ซึ่งพื้นที่นี้มีความพิเศษพบ โครงกระดูกทั้งไดโนเสาร์ขนาดเล็ก และขนาดโตเต็มวัย



เจ้าหน้าที่เล่าถึงความพิเศษของเทือกเขาภูเวียงซึ่งอุดมสมบูรณ์ เดิมคงเป็นที่อยู่อาศัยของไดโนเสาร์ โดยมีการขุดค้นพบ แบ่งแยกกันอย่างชัดเจน บางพื้นที่พบไดโนเสาร์ขนาดเล็ก คาดว่าเป็นรังที่ใช้ในการหลบซ่อน ส่วนบางพื้นที่พบขนาดโตเต็มวัย คงเป็นพื้นที่ใช้หากินของไดโนเสาร์

หลุมขุดในพื้นที่มี ไฮไลต์อยู่ที่หลุม 1, 2, 9 แต่ถ้ามีเวลาอยากให้เข้าไปชมทุกหลุม เพราะนอกจากจะได้ชมโครงกระดูกแล้ว ยังได้เห็นธรรมชาติในพื้นที่อุทยาน แต่ทางที่ดีควรมีการติดต่อเจ้าหน้าที่ เพื่อนำทางซึ่งจะทำให้สะดวกขึ้นไม่น้อย



มาทั้งทีต้องไปให้ครบ... เราเลยนั่งรถต่อไปยังแหล่งรอยเท้าไดโนเสาร์ภูเวียง ถ้าเราเดินไปเองอาจยังไม่เห็นชัดเจน แต่ถ้าสังเกตดี ๆ จะเห็นรอยเท้าที่แฝงด้วยกรงเล็บที่แหลมคมจิกลงไปบนแผ่นหิน จริง ๆ แล้วเจ้าหน้าที่คาดว่า พื้นที่นี้แต่ก่อนเป็นดินโคลนที่ไดโนเสาร์เหยียบลงบนพื้นแล้วเกิดรอยเท้า

จากนั้นดินตะกอนค่อยทับถมรอยเท้าที่ยุบลงไปในดินโคลน และปล่อยให้กาลเวลาเปลี่ยนดินให้เป็นหิน เมื่อแผ่นหินเคลื่อนตัว ตะกอนที่ทับถมรอยเท้าจะกะเทาะออก เผยให้เห็นรอยเท้าเดิมเด่นชัดมากขึ้น ตรงจุดนี้ ถ้าเด็ก ๆ ที่เริ่มเรียนรู้เรื่องไดโนเสาร์ เมื่อเห็นรอยเท้าจะสามารถจินตนาการถึงรูปทรงความสูง รวมถึงน้ำหนักของเจ้าไดโนเสาร์ที่ฝากรอยเท้าเอาไว้บนผืนโลกได้ชัดเจน

ผมชมตะวัน
  
ก่อนทิ้งตัวลงนอนคืนนี้ เราไม่วายต้องแวะนั่งพักอิง ผาชมตะวันใน อุทยานแห่งชาติภูเวียง ที่เป็นหน้าผาสูงยื่นออกไป ทำให้เห็นทิวทัศน์ด้านล่างอย่างชัดเจน เหมาะแก่การมานั่งพักเหนื่อย รับลมให้ชื่นใจแล้วค่อยเดินทางต่อ
 
พอหายเหนื่อย มาเดินกันต่อที่ น้ำตกตาดฟ้า ที่ไม่ไกลกันนัก เรามาตอนที่น้ำตกกำลังมีน้ำพอดี ทำให้ได้รับละอองของน้ำตกสดชื่นไม่เบา ตัวน้ำตกด้านล่างเป็นแอ่งน้ำ ที่น้ำด้านบนจะไหลซึมลงชั้นหินด้านล่าง ที่น่าสนใจก็คือ น้ำตกด้านบน ที่คงต้องขอขึ้นไปชมกันสักหน่อย...

ด้านบนเป็นเหมือนบ่อน้ำผุดจากดิน พื้นที่ตรงนี้มีดอกไม้ให้ชมหลากหลาย ถ้าใครจะนั่งพักเหนื่อยกันอีกรอบก็มีโขดหินให้นั่งหย่อนใจท่ามกลางธรรมชาติ



 
การเดินทางตั้งแต่เช้า... คงพอให้คืนนี้นอนหลับสบายขึ้น ก่อนพรุ่งนี้จะตื่นมารับแสงเช้า และเดินทางกันต่อ....

เช้านี้พากันไต่ระดับความสูงของพื้นที่ ไปไหว้พระยัง วัดถ้ำผาเกิ้ง อ.เวียงเก่า จ.ขอนแก่น ด้าน บนหน้าผาของวัดประดิษฐานพระพุทธรูปขนาดใหญ่อยู่บนอาคารวิหาร ด้านหน้ามีรูปปั้นพญานาคขนาดใหญ่ ในตัวอาคารวิหารมีพระพุทธรูปในแต่ละชั้น ยิ่งถ้าเดินไปยังจุดบนสุด สามารถมองมายังด้านล่างทำให้เห็นทิวทัศน์ที่สวยงาม และสามารถยืนรับลมกันได้อย่างสบาย

วัดถ้ำผาเกิ้ง

ในวันนี้เราตั้งใจเที่ยวกันชิล ชิลเลยแวะมาที่ อุทยานแห่งชาติน้ำพอง จ.ขอนแก่น เพื่อชมหินช้างสี โดยเมื่อเดินเข้าไปถึงด้านในจะเห็นประติมากรรมที่ธรรมชาติสร้างไว้ ด้วยมีก้อนหินขนาดใหญ่หลายก้อนตั้งอยู่เต็มลาน แต่ละก้อนมีรูปลักษณะต่างกันไป แต่มีก้อนหนึ่งที่เป็นสัญลักษณ์ของที่นี่คือ หินช้างสี ซึ่งแต่ก่อนช้างที่มาหากินจะมาแวะสีด้านข้างลำตัวเข้ากับหินก้อนนี้


หินช้างสี

เดินลึกเข้าไปจะพบกับหน้าผากว้าง เมื่อมองลงไปด้านล่างเห็นวิวอ่างเก็บน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ เป็นภาพน่ามองไม่น้อยเพราะได้เห็นท้องฟ้าตัดกับลำน้ำ แซมด้วยพื้นที่สีเขียว...

บรรยากาศตรงหน้าผาชวนให้น่านอน เราเลยเสียเวลากับตรงนี้นานสักหน่อย ก่อนเดินลึกเข้าไปถึง หินแมวน้ำ ซึ่งเป็นหิน ขนาดใหญ่ ชั้นหินบริเวณนี้มีการกัดเซาะของน้ำจนเนื้อหินเป็นวง ๆ สวยงาม น่าถ่ายรูปไปอีกแบบ

เมื่อเดินไปด้านบนของหินแมวน้ำ จะเห็นวิวบนจุดสูงสุด ได้สูดอากาศบริสุทธิ์เต็มปอด ผ่อนคลายไปกับลมพัดเย็น ๆ และก่อนจะจากลาสถานที่นี้ไปเราไปชมอุโมงค์หินที่สลักภาพสัญลักษณ์ของมนุษย์ ถ้ำยุคโบราณ แม้ไม่มีลวดลายแต้มด้วยสี แต่ดู ๆ ก็จงใจสื่อสารให้ทราบผ่านเรื่องราวที่สลักไว้ยังผนัง

“เบิ่งออกไป” ไกลถึงเทือกเขาภูเวียง ความซับซ้อนของชีวิตที่อยู่ใต้ซากหินก็ค่อยๆ ผลิบานในความคิดที่อาจจะแตกหน่อให้กับคนมาเยือนได้เข้าใจ...

ทุกสิ่งที่ “เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป”.

ที่มา 
https://www.dailynews.co.th/article/562074

 







เว็บโฮสติ้ง

เว็บโฮสติ้ง   Cloud Web Hosting   Streaming Server   VPS