หิน-ช้าง-สี ที่ขอนแก่น   


18 พฤศจิกายน 60 14:48:25

    

          เรื่องปรัมปรา ประเภทเทวดาปาของลงทะเล กลายเป็นหินรูปร่างพิลึก ก็แค่ฟังสนุก ๆ ไม่เอาสาระ แต่ถ้าเป็นคำอธิบายเจือวิทยาศาสตร์ อาจมีคนเชื่อ เช่น บอก หินช้างสี เป็นเพราะก้อนหินใหญ่นั้น โดนช้างเอาลำตัวมาสี นานเข้า ก็กร่อนเป็นแนวโค้งตามรอยตัวช้าง
 
          ช้างกี่ล้านตัว สีกันนานสักเท่าไรถึงจะสึกได้เนียนปานนั้น
          เอางี้ ...เรื่องของหิน ภูเขา ฟังแล้วอย่ารีบเชื่อ ให้ตรวจสอบกับกรมทรัพยากรธรณี ที่ www.dmr.go.th/ThailandGeopark หาข้อมูลที่มีหลักทางวิทยาศาสตร์รับรองดีกว่า


          หินช้างสี อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติน้ำพอง อ.บ้านฝาง จ.ขอนแก่น จากที่ทำการอุทยานเดินลัดเลาะชมวิวเหนืออ่างเก็บน้ำ ชมฟ้าสีคราม ตัดกับผืนน้ำกว้างเบื้องล่าง รายทางมี ดอกไม้งามแทรกแซมอยู่กับหินภูเขาก้อนใหญ่สารพัดรูป ไปสักหอบหนึ่ง จะเจอหินทรายก้อนใหญ่ โผล่เหนือพื้นดิน สูงสัก 2-4 เมตร ด้านข้าง เห็นร่องรอยเฉียงไปทางหนึ่งอย่างชัดเจน มีกระจายอยู่หลายก้อน บางจุดเห็นเป็นหินรูปหัวช้าง หัวกะโหลกก็มี เดินลึกเข้าไปมีรูปร่างเว้าเป็นแอ่งน้ำในโพรงหิน


 
          บนเว็บไซต์ขยายความว่า ก้อนที่เห็น เป็นหินทรายสีขาว สลับชั้นหินกรวดมน น้ำตาลบาง ๆ อยู่ในหมวดหินพระวิหาร มีกุมภลักษณ์ (potholes) หรือรอยยุบและรอบชั้นเฉียงขนาดเล็ก เกิดจากการกัดเซาะโดยน้ำฝนตามรอยแตก ประกอบกับความแตกต่างอย่างมากของอุณหภูมิกลางวันและกลางคืน เกิดการหดและขยายตัวไม่เท่ากัน กลายเป็นรอยแยก ที่ดำเนินต่อเนื่องอยู่หลายล้านปี
 
          ตรงจุดที่เป็นโพรง น่าเกิดจากการกัดกร่อนของน้ำ มีข้อสันนิษฐานว่าบริเวณนี้น่าจะเคยอยู่ใต้น้ำ มีน้ำหมุนวนกัดเซาะอยู่นาน
          กว่าจะเป็นอย่างนี้ได้ อย่างน้อยก็ต้องมี 50 ล้านปีขึ้นไป


 
          ลักษณะความเปลี่ยนแปลงของหิน อีกอย่างที่พบ คือ สะพานหินธรรมชาติที่วัดเขื่อนอุบลรัตน์ อ.อุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น มีคำอธิบายทางธรณีวิทยาว่าเป็นสะพานที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ กว้าง 5 เมตร ยาว 200 เมตร มีกุมภลักษณ์ และชั้นเฉียงระดับ ใต้ท้องสะพานสูงจากพื้น 2 เมตร ตัวสะพานหินธรรมชาติ ที่โดนกัดเซาะโดยน้ำฝน ตามรอยแตกในเนื้อหินเป็นเวลานานหลายล้านปี จนหินที่อยู่ใต้สะพานในอดีต หลุดหายไป กลายเป็นช่องว่างที่พบเห็นในปัจจุบัน
 
          ไม่ได้เป็นปาฏิหาริย์ของเทวดาที่ไหนหรอกนักธรณีวิทยาในพื้นที่ อธิบายเพิ่มเติมว่า แผ่นดินภาคอีสาน แบ่งเป็น 2 ส่วนใหญ่ มีแอ่งภูพานขวาง เมื่อสัก 100 ล้านปี มีแรงกระทำต่อแผ่นดินให้เกิดการยกตัวขึ้น แผ่นดินหลายส่วนยกตัวในแนวขนานกับเทือกภูพาน นานไปเกิดการกัดกร่อน หินส่วนหนึ่งที่อยู่ด้านใต้หลุดล่อนออก จึงดูเป็นสะพานธรรมชาติ มีอยู่หลายแห่ง
          สิ่งเหล่านี้ เป็นหลักฐานทางธรรมชาติที่ไม่มีใครสร้างขึ้น จึงเหมาะจะเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ เพื่อความเข้าใจทางธรณีวิทยา แผ่นเปลือกโลก รวมถึงสภาพแวดล้อม
 
          ทั้งให้ความเพลิดเพลินกับสภาพธรรมชาติที่เลิศเลอเกินกว่ามือมนุษย์ปั้น
          ส่วนเรื่องปรัมปราที่มี จะได้ต้นเค้าที่ใด ถึงจะไม่สอดคล้องต้องด้วยหลักวิทยาศาสตร์ ก็ยอมรับได้ในจินตนาการของผู้เป็นต้นเรื่อง
          แต่อย่าเพลินสนุกอย่างเดียว หาสาระกับแหล่งเรียนรู้ที่ทางการทำไว้ด้วย.

ที่มาข่าว โดย เดลินิวส์ 
ภาพโดย Lung Jack Kasemsan

 







เว็บโฮสติ้ง

เว็บโฮสติ้ง   Cloud Web Hosting   Streaming Server   VPS