สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ลงมาเอง! จับตาสถานการณ์น้ำอีสานตอนบนวิเคราะห์ชั่วโมงต่อชั่วโมง   


4 ตุลาคม 61 23:05:05

สทนช. ลุยตรวจอ่างเก็บน้ำภาคอีสานตอนบน รับมือสถานการณ์ภัยแล้ง
วิเคราะห์สถานการณ์ชั่วโมงต่อชั่วโมง รับมือภัยแล้งอย่างยั่งยืน 

                
จากการลงพื้นที่ตรวจติดตามสถานการณ์น้ำที่ประตูระบายน้ำธรณิศนฤมิต ในโครงการพัฒนาลุ่มน้ำก่ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ต.น้ำก่ำ อ.ธาตุพนม จ.นครพนม  ของนายสำเริง  แสงภู่วงค์ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือ สทนช. เพื่อเป็นการประเมินสถานการณ์น้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำก่ำ ที่ประสบกับสถานการณ์น้ำท่วมในช่วงที่ผ่านมา รวมทั้งการวางแผนรับมือกับสถานการณ์ภัยแล้งหลังสิ้นสุดช่วงฤดูฝน ซึ่งถึงแม้ว่าในระยะ 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนจะมีพายุพาดผ่านเข้ามาแต่ปริมาณน้ำฝนที่เข้ามาในพื้นที่ยังคงน้อยกว่าเกณฑ์การประเมิน ทำให้ขณะนี้การบริหารจัดการน้ำเพื่อวางแผนรับมือกับสถานการณ์ภัยแล้งที่อาจจะเกิดขึ้นได้หลังสิ้นสุดช่วงฤดูฝนจึงเป็นโจทย์ที่สำคัญที่ สทนช.และหน่วยงานที่รับผิดชอบงานด้านน้ำจะต้องประสานการทำงานร่วมกันเพื่อรับมือกับสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่ภาคอีสานตอนบนได้อย่างยั่งยืน


                
นายสำเริง  แสงภู่วงค์ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือ สทนช. กล่าวว่า จากแนวโน้มการคาดการณ์ฝนที่ลดลง ซึ่งในการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำก่ำนั้นขณะนี้มีการบริหารจัดการน้ำและผันน้ำจนทำให้พื้นที่ที่เกิดสถานการณ์น้ำท่วมในเขต จ.นครพนม และ จ.สกลนคร ในช่วงที่ผ่านมานั้นขณะนี้กลับเข้าสู่สภาวะปกติโดยรวมแล้ว ดังนั้นในขณะนี้ความจำเป็นเร่งด่วนที่รัฐบาลได้มอบหมายภารกิจให้ สทนช.ดำเนินการคือการติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด เพื่อกำหนดแผนปฎิบัติการร่วมกับหน่วยงานที่รับผิดชอบที่เกี่ยวข้องในแผนบริหารจัดการและการปฎิบัติการฝนหลวง เพื่อที่จะช่วยเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักก่อนสิ้นสุดฤดูฝน ขณะที่จากการตรวจสอบสถานการณืน้ำในอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้อยกว่าร้อยละ 60 พบว่าปริมาณน้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ ขนาดกลางและอ่างเก็บน้ำในภาคอีสานตอนบนขณะนี้นั้นยังคงน่าเป็นห่วงอย่างมาก
                
“วันนี้ สทนช.ได้มีการหารือร่วมกันกับหน่วยงานที่รับผิดชอบงานด้านน้ำทุกกระทรวง และ ทุกหน่วยงาน ในการที่จะทำงานร่วมกันเป็นทีม มีการวางแผน จัดระบบการบริหารจัดการน้ำในทุกช่วง ซึ่งต้องยอมรับว่าขณะนี้ช่วงฤดูฝนนั้นเข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้ายแล้ว การบริหารจัดการน้ำเพื่อให้มีใช้ในการอุปโภค บริโภค และภาคการเกษตรนั้น เป็นสิ่งที่จำเป็นที่สุดในช่วงฤดูแล้ง ที่จะเริ่มขึ้นตั้งแต่เดือน พ.ย. แต่สิ่งที่เกิดขึ้นวันนี้คือภาคอีสานตอนบนมีเขื่อนขนาดใหญ่มีปริมาณน้ำในความจุอ่างน้อยกว่าร้อยละ 60 คือเขื่อนห้วยหลวง จ.อุดรธานี และ เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น และมีอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำเก็บกักในความจุอ่างน้อยกว่าร้อยละ 30 มากถึง 21 แห่ง ดั้งนั้นการวางแผนปรับการระบายน้ำของอ่างเก็บน้ำทุกขนาด ตามการคาดการณ์ของฝนในระยะที่เหลือและการวางแผนการบริหารจัดการน้ำต้นทุนที่มีอยู่เพื่อให้สัมพันธ์ในทุกฝ่ายคือสิ่งที่ สทนช.ต้องทำงานร่วมกับทุกหน่วยทันทีเพื่อให้มีน้ำใช้ตลอดทั้งช่วงฤดูแล้งปีนี้ต่อเนื่องไปจนถึงปี 2562”


                 
นายสำเริง กล่าวต่ออีกว่า คณะทำงานของ สทนช.จะลงพื้นที่ตรวจติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่ภาคอีสานตอนบนอย่างต่อเนื่อง เพื่อประมาณการและบริหารจัดการน้ำที่มีอยู่ในขณะนี้ ซึ่งต้องยอมรับว่าน้ำในอ่างเก็บน้ำของภาคอีสานตอนบนที่ผ่านมาในช่วงฤดูฝนและช่วงที่มีพายุพาดผ่านนั้น เขื่อนและอ่างเก็บน้ำ มีการบริหารจัดการน้ำที่ไม่สัมพันธ์กัน ดังนั้นจากนี้ไป เมื่อเราพ้นช่วงฤดูน้ำหลากและช่วงฤดูฝนไปแล้ว การทำงานร่วมกันเป็นทีมในการบริการจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้ง จะต้องเริ่มต้นทันที โดยเฉพาะกับการเตรียมการบริหารจัดการน้ำ ในพื้นที่ที่มีน้ำต้นทุนน้อย รวมไปถึงการประเมินพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายหรือจะได้รับผลกระทบ เพื่อให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุดครอบคลุมพื้นที่ภาคอีสานตอนบน

 







เว็บโฮสติ้ง

เว็บโฮสติ้ง   Cloud Web Hosting   Streaming Server   VPS