ขอนแก่น วัดเก่าแก่จัดงานบุญผะเหวดรอบสิมอีสาน (มีคลิป)   


19 มีนาคม 62 02:11:15

ชาวบ้านจากตำบลสาวะถีช่วยกันแห่ผ้าผะเหวด ซึ่งมีความยาวกว่า 50 เมตร ไปตามถนนสายต่าง ๆ รอบหมู่บ้านก่อนที่จะนำเข้าสู่ตัววัด ในงานบุญผะเหวด ซึ่งถือเป็นงานบุญประเพณีประจำปีของชาวบ้าน

ชาวบ้านจากหมู่บ้านสาวะถี ตลอดจนชาวบ้านใกล้เคียงที่อยู่ในตำบลสาวะถี มีทั้งผู้ใหญ่ เด็ก คนชรา ต่างมาช่วยกันถือป้ายผ้าที่มีความยาวกว่า 50 เมตร ไปรอบ ๆ หมู่บ้าน ก่อนที่จะแห่เข้าในวัด สำหรับผ้าที่ชาวบ้านนำมาแห่นี้เรียกว่า “ผ้าผะเหวด” ตามสำเนียงเสียงอีสาน คำว่า "ผะเหวด" มาจากคำว่า "พระเวส" หมายถึง พระเวสสันดร งานบุญผะเหวดเป็น 1 ในประเพณี 12 เดือน หรือฮีตสิบสอง ผ้าผะเหวด คือ ผ้าผืนยาวเขียนภาพเล่าเรื่องพระเวสสันดรเพื่อใช้แห่ในงานบุญผะเหวด ซึ่งสมมติว่าเป็นการแห่พระเวสสันดรเข้าเมือง สมัยก่อนช่างแต้มรูปมักเป็นช่างพื้นบ้าน จึงใช้สีสันเลียนแบบธรรมชาติ ไม่เคร่งครัดเรื่องสัดส่วนของรูปร่างคน สัตว์ วัตถุสิ่งของมากนัก  ขบวนแห่ผ้าผะเหวดนี้ก็จะประกอบไปด้วยขบวนฟ้อนรำของสาวๆ รวมทั้งคนเฒ่าคนแก่ในหมู่บ้าน มีขบวนกองยาวและมหรสพคอยบรรเลงดนตรีเพื่อความสนุกสนาน คึกคักตลอดเส้นทาง

งานประเพณีบุญผะเหวด หรือบุญพระเวส หมายถึง บุญพระเวสสันดร เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า บุญมหาชาติ ชาวอีสานจะนิยมจัดขึ้นในเดือนสี่ (ช่วงเดือนมีนาคม) เป็นบุญประจำปีในฮีตสิบสอง โดยสำหรับชาวอีสานแล้วถือเป็นงานบุญสำคัญ ชาวบ้านจะจัดให้มีพิธีอย่างใหญ่โต งานบุญต่อเนื่องกัน 2-3 วัน มูลเหตุที่มีการทำบุญมีคติความเชื่อมาจากเรื่อง พระมาลัยสูตรว่า “พระมาลัยได้ขึ้นไปไหว้พระธาตุเกศแก้วจุฬามณีในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ พบพระศรีอริยเมตไตรย องค์พระศรีอริยเมตไตรยได้ดำรัสสั่งกับพระมาลัยว่า ถ้ามนุษย์อยากพบพระองค์ จงอย่าได้ทำบาปหนัก ได้แก่ ฆ่าบิดามารดา ฆ่าพระอรหันต์ ทำร้ายพระพุทธเจ้า และยุยงให้พระสงฆ์แตกกัน อนึ่งให้ฟังเทศน์เรื่องราวมหาเวสสันดรชาดกให้จบในวันเดียวกัน ฟังแล้วให้นำไปประพฤติปฏิบัติจะได้รับอานิสงส์มาก และจะได้พบพระศาสนาของพระศรีอริยเมตไตรย เมื่อพระมาลัยกลับมาถึงโลกมนุษย์ จึงได้บอกเรื่องราวให้มนุษย์ทราบ ด้วยเหตุนี้ชาวอีสานผู้ปรารถนาจะพบศาสนาพระศรีอริยเมตไตรย จึงพากันทำบุญพระเวสสันดรสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน”โดยในปัจจุบันนี้ประเพณีบุญผะเหวดของภาคอีสานนิยมทำกันทุกหมู่บ้าน เป็นการสร้างความสามัคคีให้เกิดขึ้นในหมู่บ้านและเป็นการค้ำจุนพระพุทธศาสนาไปอีกทางหนึ่งด้วย

สำหรับงานบุญผะเหวดที่วัดไชยศรี   บ้านสาวะถี อ.เมือง จ.ขอนแก่น แห่งนี้ ในแต่ละปีจะมีนักท่องเที่ยวนิยมเดินทางมาร่วมงานเป็นจำนวนมาก เพราะเป็นวัดเก่าแก่  สร้างเมื่อ พ.ศ. 2408 มีโบราณสถานที่สำคัญอยู่ภายในบริเวณวัดคือสิม (หมายถึงโบสถ์ แต่ชาวอีสานเรียกสิม)  ซึ่งนับว่าเป็นสิมที่เก่าแก่มาก อายุกว่าร้อยปีเศษ โดยสิมนี้เดิมหลังคามุงด้วยแผ่นไม้ (เรียกแป้นเกล็ด ทำด้วยไม้เป็นแผ่น ๆ คล้ายกระเบื้องในปัจจุบัน) และมีเอกลักษณ์ คือ หลังคามีปีกยื่นทั้งสองข้างแบบสถาปัตยกรรม อีสานดั้งเดิม แต่พอถึงปี พ.ศ. 2525 หลังคาได้ทรุดโทรมมาก หน้าฝนน้ำฝนรั่วลงภายในโบสถ์ ชาวบ้านจึงทำการรื้อและทำหลังคาใหม่ ด้วยความเข้าใจและความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ในสถาปัตยกรรมท้องถิ่นตน จึงทำหลังคา เป็นแบบสถาปัตยกรรมรัตนโกสินทร์ ซึ่งเป็นที่นิยมในสมัยนั้นมาก ส่วนฝาผนัง ทั้งด้านนอกและด้านใน ยังคงมีสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ โดยเฉพาะภาพจิตรกรรมฝาผนัง (อีสานเรียก ฮูปแต้ม) ยังเห็นอย่าง เด่นชัดมาก แม้จะผ่านมากกว่าร้อยปีแล้วก็ตามที

สำหรับลักษณะของโบสถ์นี้ เป็นสิมทึบขนาดเล็ก บรรจุพระได้ประมาณ 21 รูป มีประตูเข้าทางเดียว มีเองขันธ์ ยกพื้นสูง หันหน้าไปด้านทิศตะวันออก ฐานส่วนล่างและผนังเป็นแบบก่ออิฐฉาบปูน ช่วงบนเดิมเป็นแบบไม้ทั้งหมด รวมทั้งหลังคาด้วย บานประตูและหน้าต่างแกะสลัก ส่วนภาพฝาผนังเป็นฝีมือช่างเขียนภาพพื้นบ้านชื่อ นายทอง ทิพย์ชา เป็นคนชาวอำเภอบรบือ จังหวัดมหาสารคาม โดยการเขียนภาพนี้ เขียนตามที่หลวงปู่อ่อนสา ท่านกำหนด ให้ผนังด้านในส่วนมาก เป็นภาพอดีตพุทธะมหาเวสสันดร สังข์สินไชย ภาพเทพและภาพสัตว์ต่าง ๆ ผนังด้านนอกเป็นภาพนรก 8 ขุม (หลุม) และวรรณกรรมพื้นบ้านเรื่องสังข์สินไชย ลักษณะเด่นคือ เป็นการเขียนแบบช่างพื้นบ้านและเขียนด้วยสีฝุ่นซึ่งหามาจากธรรมชาติ บ่งบอกถึงวิถีชีวิตและอุปนิสัยของผู้คนในอดีตของท้องถิ่นได้ชัดเจนที่สุด คือมีชีวิตเรียบง่าย อดทนต่อสู้บากบั่น หนักแน่นมั่นคง มีสัจจะและสมถะในการครองชีวิต







เว็บโฮสติ้ง

เว็บโฮสติ้ง   Cloud Web Hosting   Streaming Server   VPS