"พิธีเสียเคราะห์" ในวันขึ้นปีใหม่ไทยอีสานดั้งเดิม (มีคลิป)   


16 เมษายน 62 14:33:44

พิธีเสียเคราะห์ หรือการสะเดาะเคราะห์แบบพื้นบ้านอีสานจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในช่วงตรุษสงกรานต์ หรือวันขึ้นปีใหม่ไทย ตามความเชื่อว่าเป็นการเริ่มต้นไปสู่สิ่งที่ดีกว่า ปัดเป่าสิ่งไม่ดีให้สูญสลายไป

งานเทศกาลสงกรานต์ที่จังหวัดขอนแก่น  ถือเป็นสงกรานต์ 2 วิถี เพราะไม่เพียงจะมีบรรยากาศความสนุกคึกคักของถนนข้าวเหนียว แต่ยังมีการจัดงานสงกรานต์ตามแบบวิถีดั้งเดิมของชาวอีสานที่วัดโพธิ์ชัย บ้านสาวะถี ในเขตอำเภอเมืองขอนแก่น ตั้งอยู่ห่างจากตัวเมืองขอนแก่นเพียง 20 กิโลเมตร

นอกจากนั้นยังมีการจัดพิธีกรรมที่หาชมได้ยาก เรียกว่า พิธีสวดเจริญพระพุทธมนต์ สะเดาะเคราะห์ต่อชะตา เสริมบารมี โดยที่วัดแห่งนี้ได้ทำกันอย่างต่อเนื่องมาทุกๆ เมื่อถึงวันที่ 15 เมษายนของทุกปี ซึ่งคำว่า เคราะห์ หมายถึง สิ่งที่เรายึดติดในจิตใจ  เป็นคำกลางๆ   ส่วนที่ดีเรียกว่า เคราะห์ดี  ส่วนที่ไม่ดีจะเรียกว่า เคราะห์ร้าย  สำหรับความหมายในพิธีกรรมของชุมชนสาวะถี คำว่า เสียเคราะห์ หมายถึง การทำให้เคราะห์ที่ไม่ดี หรือสิ่งที่ไม่เป็นมงคลในชีวิตสูญสลายไป

 โดยทางวัดจะจัดโยงด้ายสายสิญจน์สำหรับประกอบพิธีเสียเคราะห์เริ่มจากมือพระพุทธรูป โยงไปถึงทุกคนที่มาร่วมพิธี รวมทั้งรถยนต์ทุกคันที่ผู้ร่วมพิธีได้ขับขี่มาด้วยอย่างทั่วถึง  เมื่อได้เวลาสมควรพระและเณรจะสวดมนต์ ท่องคาถา ความหรือคำเสียเคราะห์ อันเป็นภาษาอิสานตามตำราโบราณที่สืบทอดกันมา ให้เทวดา ภูตผีเจ้าชะตาลงมาเอาเครื่องบูชาที่เตรียมไว้ ให้เคราะห์หายไปจากเจ้าของเครื่องเสียเคราะห์  มีสุขภาพพลานามัยสมบูรณ์แข็งแรง ประสบความเจริญรุ่งเรืองตลอดไป

ซึ่งขณะทำพิธีพระสวดเจริญพระพุทธมนต์นี้ ก็จะมีคนเฒ่าคนแก่ ร่วมกันจุดเทียนหยดลงน้ำ เพื่อทำเป็นน้ำมนต์ เพื่อให้พระได้รดน้ำมนต์ให้กับชาวบ้านด้วย ขณะเดียวกันชาวบ้านแต่ละคนก็จะเตรียมขวด และกระติกน้ำ มาเพื่อขอน้ำมนต์จากพระสงฆ์นำกลับไปบ้าน เพื่อรดให้กับคนครอบครัวที่ไม่ได้มาร่วมพิธีที่วัดด้วย เพื่อให้หายจากเคราะห์กรรมต่าง ๆ และนำแต่สิ่งดีดีมาสู่ตัวเองในวันขึ้นปีใหม่ของไทยตลอดไป

โดยนายประมวล  เจริญสุข อายุ 65 ปี ชาวบ้านสาวะถี กล่าวว่า พิธีดังกล่าวนี้ชาวอีสานจะเรียกว่าพิธีสะเดาะเคราะห์  จะทำพิธีในวันที่ 15 เมษายนของทุกปี โดยทางพระสงฆ์และสามเณรจะสวดคาถาเจริญพระพุทธมนต์ สวดไซน้อยไซใหญ่ สำหรับส่วนประกอบของเครื่องเซ่นไหว้ต่างๆนั้น ชาวบ้านจะช่วยกันทำกระทงกาบกล้วยเป็นรูปสี่เหลี่ยม แบ่งเป็น 9 ช่อง ปักธง และด้ายดำ ด้ายแดงไว้ที่ขอบของกระทง มีดอกไม้ธูปเทียน เสียบลงไปบนกระทง ส่วนเครื่องเซ่นไหว้จะมีข้าวดอกข้าวตอกแตก ข้าวดำ ข้าวแดง อยู่ในช่องกระทง  มีรูปสัตว์ต่างๆที่เราเคยทำบาปแก่เขาเช่นวัว ควาย ช้าง มา ไก่ และสัตว์เลี้ยงอื่นๆ  เพื่อให้เขามารับเอาส่วนบุญไป เป็นการล้างทุกข์ล้างบาปให้แก่เขาและตัวเราด้วย เพื่อจะได้หมดเวรหมดกรรมต่อกันในชาติหน้า  โดยแต่ก่อนนั้นพิธีดังกล่าวจะทำตามบ้านเรือนของชาวบ้านแตะละหลังคาเรือน ซึ่งเป็นการเสียเวลา ต่อมาทางวัดจึงมีความคิดว่าเห็นควรให้ทำรวมกันจะดีกว่าเพราะจะเป็นการประหยัดเวลาไม่ได้เสียเวลานาน อีกทั้งเป็นการสร้างความสามัคคีของคนในชุมชนอีกด้วย

นายประมวล  เจริญสุข อายุ 65 ปี ชาวบ้านสาวะถีนายประมวล  เจริญสุข อายุ 65 ปี ชาวบ้านสาวะถี

 







เว็บโฮสติ้ง

เว็บโฮสติ้ง   Cloud Web Hosting   Streaming Server   VPS