น้ำในเขื่อนอุบลรัตน์ติดลบ ต้องใช้น้ำก้นอ่างเพื่อใช้ในการอุปโภคและบริโภค (มีคลิป)   


11 กรกฎาคม 62 13:21:36

น้ำในเขื่อนอุบลรัตน์ติดลบ ต้องใช้น้ำก้นอ่างเพื่อใช้ในการอุปโภคและบริโภค "ทรงวุฒิ"ระบุจำเป็นต้องปล่อยวันละ 5 แสน ลบ.ม. เนื่องจากฝนตกแต่น้ำไหลลงสู่ความจุอ่างน้อยมาก

    เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 11 ก.ค. 2562 นายทรงวุฒิ กิจวรวุฒิ ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาหนองหวาย จ.ขอนแก่น เปิดเผยว่า ที่ประชุมร่วมคณะกรรมการจัดการน้ำชลประทาน โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาหนองหวาย ในการกำหนดวันเริ่มส่งน้ำและวางแผนการส่งน้ำเพื่อการเพาะปลูกพืชฤดูฝน ปี 2562  ได้มีมติร่วมกันในการกำหนดแผนการบริหารจัดการน้ำในเขื่อนอุบลรัตน์เพื่อเบาเทาความเดือดร้อนจากสถานการณ์ภัยแล้งที่กำลังเกิดขึ้น โดยได้ข้อสรุปในการกำหนด เริ่มส่งน้ำและวางแผนการส่งน้ำเพื่อการปลูกพืชเพาะปลูก ตั้งแต่วันที่ 24  ก.ค.เป็นต้นไปด้วยระบบการส่งน้ำแบบหมุนเวียน  โดยใช้น้ำเหนือฝายหนองหวาย

    "ขณะนี้เขื่อนอุบลรัตน์มีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์น้อย โดยไม่มีปริมาณน้ำใช้การได้ ดังนั้นที่ประชุมจึงมีมติจำเป็นต้องใช้น้ำที่ต่ำกว่าปริมาณน้ำเก็บกักต่ำสุด (Dead storage) โดยมีการระบายน้ำวันละ 500,000 ลบ.ม. เพื่อการอุปโภค-บริโภค และรักษาระบบนิเวศน์  โดยหากปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนเพิ่มขึ้น และปริมาณน้ำมากกว่าปริมาณน้ำเก็บกักต่ำสุด (Dead storage) จะพิจารณาเพิ่มการระบายน้ำสนับสนุนการเพาะปลูก โดยไม่ให้กระทบต่อการใช้น้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค และรักษาระบบนิเวศน์"


    นายทรงวุฒิ  กล่าวต่ออีกว่า หากปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนไม่เพียงพอในการสนับสนุนการเพาะปลูก และปริมาณน้ำหน้าฝายหนองหวายลดลง จนอาจมีผลกระทบต่อการสนับสนุนน้ำดิบ เพื่อผลิตน้ำประปาด้านเหนือฝายหนองหวาย จำนวน 4 อำเภอ ประกอบด้วย อ.อุบลรัตน์ ,น้ำพอง, กระนวน และ อ.เมืองขอนแก่น  จึงจำเป็นต้องหยุดการส่งน้ำชั่วคราวจนกว่าสถานการณ์น้ำจะดีขึ้น โดยคณะกรรมการจะติดตาม เฝ้าระวังปริมาณน้ำหน้าฝายหนองหวายอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ปัจจุบันเขื่อนอุบลรัตน์มีปริมาณน้ำในความจุ 581.67 ล้าน ลบม. หรือคิดเป็นร้อยละ 23.92 โดยปริมาณน้ำที่สามารถนำมาใช้การได้นั้นไม่มี     

    ในขณะที่พื้นที่เพาะปลูกในพื้นที่ ได้เริ่มทำนาหว่าน โดยอาศัยน้ำฝนตั้งแต่เดือน มิ.ย. ซึ่งในขณะนั้นมีปริมาณฝนตก กระจายดี  ขณะเดียวกันจากข้อมูลของกรมอุตุนิยมวิทยาได้คาดหมายว่า ครึ่งหลังของเดือน ก.ค. จะมีฝนเพิ่มขึ้น ดังนั้นการบริหารจัดการน้ำด้วยการระบายน้ำก้นอ่างเพื่อใช้ในการอุปโภค บริโภคและรักษาระบบนิเวศน์ในระยะนี้จะสามาถบรรเทาสถานการณ์ภัยแล้งได้อย่างต่อเนื่อง

 







เว็บโฮสติ้ง

เว็บโฮสติ้ง   Cloud Web Hosting   Streaming Server   VPS