ขอนแก่น เกษตรกรสวนผักสูบน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ ลดค่าใช้จ่าย สร้างรายได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย (มีคลิป)   


12 สิงหาคม 62 09:40:58

เกษตรกรปลูกผักรายใหญ่ พื้นที่บ้านโนนเขวา อ.เมือง จ.ขอนแก่น แก้ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งซ้ำซาก พร้อมต่อยอดระบบสูบน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ ลดรายจ่าย ทำให้ครอบครัวมีรายได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยจากการขายผัก สวนกระแสพื้นที่ประกาศภัยแล้ง

    ที่แปลงผัก บนเนื้อที่ 2 ไร่ของนายสุรสิทธิ์ ชินวงษ์ เกษตรกรกลุ่มปลูกผักปลอดสารพิษ บ้านโนนเขวา หมู่ 3 ต.ดอนหัน อ.เมือง จ.ขอนแก่น ขณะนี้พืชผักที่ปลุกไว้กำลังเจริญงอกงามเก็บขายสร้างรายได้ได้ทุกวัน เพราะมีน้ำจากห้วยซันที่รับน้ำจากลำน้ำชีผ่านระบบสูบน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ ต่างจากแต่ก่อนที่ต้องใช้เครื่องสูบน้ำ สิ้นเปลืองจากการจ่ายค่าน้ำมันวันละ 100 บาท แต่เมื่อระบบสูบน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์เข้ามาช่วยให้ประหยัดทั้งเวลาและค่าใช้จ่าย ลดต้นทุนการผลิต เกษตรกรจึงมีรายได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย สามารถเก็บผักขายสร้างรายได้ทุกวัน


   นาย จักริน ประเสริฐสุวรรณ ผอ.โครงการก่อสร้าง สำนักงานชลประทานที่ 6 กล่าวว่า ระบบสูบน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ เป็นโครงการต่อยอดจากโครงการก่อสร้างประตูระบายน้ำห้วยซันที่สำนักงานชลประทานที่ 6 ก่อสร้างขึ้นเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งซ้ำซาก หลังจากชาวบ้านเดือดร้อนอย่างหนักจนต้องรวมกลุ่มกันขอความช่วยเหลือไปยังท้องถิ่น ท้องถิ่นจึงได้ประสานไปยังสำนักงานชลประทานที่ 6 ให้ช่วยแก้ปัญหา และจากการสำรวจสภาพพื้นที่บริเวณบ้านโนนเขวาที่มีความลาดเอียงเวลาหน้าแล้งน้ำก็จะไหลลงน้ำชีจนหมด

    โดยสำนักงานชลประทานที่ 6 ได้ออกแบบก่อสร้างประตูระบายน้ำห้วยซัน ขนาด 6x7 เมตร จำนวน 4 บานใช้เป็นแหล่งเก็บกักน้ำเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2560 แล้วเสร็จเมื่อปลายปี 2561 เพื่อเป็นแหล่งน้ำอุปโภค-บริโภคให้กับราษฎร 210 ครัวเรือนพร้อมติดตั้งระบบสูบและกระจายน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ 86 จุด มีพื้นที่รับประโยชน์กว่า 400 ไร่ ซึ่งการก่อสร้างประตูระบายน้ำห้วยซันและการนำระบบสูบน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ ถือเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จที่เกิดจากการร่วมกันทำงานของหลายภาคส่วนที่นำความเดือดร้อนของประชาชนมาหาแนวทางแก้ไขปัญหา เพื่อสร้างความมั่นคงทางน้ำ ให้เกษตรกรมีรายได้ที่มั่นคง มีรายจ่ายที่ลดลงและกินดีอยู่ดี

    ทางด้าน นายสุรสิทธิ์ ชินวงษ์ เกษตรกรกลุ่มปลูกผักปลอดสารพิษบ้านโนนเขวา กล่าวว่า เมื่อก่อนจากใช้เครื่องยนต์สูบน้ำ ซึ่งสิ้นเปลืองรายจ่ายอย่างมาก เพราะต้องซื้อน้ำมันมาเติม ต่อมาได้ต่อไฟฟ้ามาใช้แทนน้ำมัน ก็ดีขึ้นมานิดหน่อย แต่ก็ยังถือว่าสิ้นเปลืองรายจ่ายเช่นเดิม กระทั่งทางสำนักชลประทานที่ 6 เข้ามาแก้ปัญหาและช่วยเหลือชาวบ้านด้วยการติดตั้งแผงโซล่าเซลในการสูบน้ำ ทำให้ชาวบ้านลดรายจ่ายได้อย่างมาก พร้อมทั้งสามารถทำสิ่งอื่นๆไปพร้อมกันการดูแลพืชผักได้อีกด้วย ปล่อยให้สปริงเกอร์ทำงานไปในแต่ละวัน ประหยัดทั้งเงิน ทั้งเวลา สร้างรายได้เพิ่มมากขึ้นจากเมื่อก่อนที่ต้องลงทุนเยอะไปกับการซื้อเชื้อเพลิงมาสูบน้ำ







เว็บโฮสติ้ง

เว็บโฮสติ้ง   Cloud Web Hosting   Streaming Server   VPS