ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพรม-เชิญ เร่งระบายน้ำจากเขื่อนจุฬาภรณ์ลงเขื่อนอุบลรัตน์ หลังมีระดับน้ำเกินเส้นควบคุม โดยเพิ่มการระบายเป็นวันละ 2 ล้าน ลบ.ม. จากวันละ 1 ล้าน ลบ.ม.
เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 7 สิงหาคม 2564 นายเรืองโชค ชัยคำรงค์กุล ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพรม-เชิญ ลงพื้นที่บริเวณประตูระบายน้ำบ้านกุดแคน ตำบาลโนนทอง อำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น เพื่อตรวจสอบปริมาณน้ำที่ระบายจากเขื่อนจุฬาภรณ์ จ.ชัยภูมิ มาตามลำน้ำเชิญถึงประตูระบายน้ำลำน้ำเชิญที่บ้านกุดแคน และไหลต่อไปยังเขื่อนอุบลรัตน์ที่อยู่ห่างจากจุดนี้เพียง 30 กิโลเมตร
นายเรืองโชค ชัยคำรงค์กุล ผู้อำนวยโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพรม-เชิญ กล่าวว่า การลงพื้นที่หลังพบว่าเมื่อต้นเดือนกรกฎาคม มีฝนตกในพื้นที่เหนือและเริ่มไหลลงเขื่อนจุฬาภรณ์ปริมาณมาก ทำให้ปริมาณน้ำเขื่อนจุฬาภรณ์เริ่มเกินเส้นควบคุม จึงต้องเร่งระบายน้ำ โดยเริ่มระบายวันละ 1 ล้าน ลบ.ม เมื่อช่วงกลางเดือนกรกฎาคม ต่อมาในวันที่ 3 สิงหาคมได้ระบายเพิ่มอีกวันละ 1 ล้าน ลบ.ม.ลงฝั่งลำน้ำพรม รวมขณะนี้ระบายอยู่ที่วันละ 2 ล้าน ลบ.ม.
นายเรืองโชค ชัยคำรงค์กุล กล่าวต่ออีกว่า จะระบายในปริมาณนี้อีก 2 – 3 วัน เพื่อให้ปริมาณน้ำต่ำกว่าเส้นควบคุมก็จะลดการระบายน้ำลง ซึ่งปัจจุบันลำน้ำพรมและเชิญโดยทั้งสองฝั่งขณะนี้ยังรับน้ำได้อีก เนื่องจากมีปริมาณน้ำต่ำกว่าตลิ่งอยู่ 2 – 5 เมตร การเร่งระบายน้ำจากเขื่อนจุฬาภรณ์ครั้งนี้ นอกจากมีเป้าหมายให้มีปริมาณน้ำต่ำกว่าเส้นควบคุมแล้ว ยังเป้นการเร่งพร่องน้ำเตรียมรับมือปริมาณฝนที่คาดการณ์ว่าจะตกมาในช่วงปลายเดือนสิงหาคม – กันยายน ซึ่งคาดการณ์ว่าจะมีมากถึง 110 ล้านลบ.ม.
และสำหรับปีนี้สถานการณ์น้ำ 3 เขื่อนหลักภาคอีสานตอนกลาง ได้แก่ เขื่อนอุบลรัตน์มีปริมาณน้ำร้อยละ 32 เขื่อนลำปาวร้อยละ 37 และเขื่อนจุฬาภรณ์ร้อยละเกือบ62 ขณะที่ปริมาณฝนปีนี้คาดว่ามีปริมาณเทียงเคียงกับปี 51 ซึ่งถือว่ามีเกณฑ์ฝนตกค่อนข้างมาก ปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างดี การบริหารจัดการน้ำจึงต้องวางแผนเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์อย่างรัดกุมแบบวันต่อวัน พร้อมแผนเผชิญเหตุในภาวะฉุกเฉิน ทั้งในพื้นที่ต้นน้ำยังไปจนถึงปลายน้ำ เพื่อลดความเสี่ยงการเกิดอุทกภัยในพื้นที่ให้เกิดผลกระทบกับประชาชนน้อยที่สุด
ทางด้าน นายสุพรรณ ดีทอง อายุ 50 ปี เกษตรกรบ้านกุดแคน ตำบลโนนทอง อำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า พื้นที่บริเวณประตูระบายน้ำลำน้ำเชิญมีพื้นที่ปลูกข้าวเกือบ 7,000 ไร่ ขณะนี้อยู่ในฤดูทำนาพอดี ทำให้น้ำที่เขื่อนระบายลงมาจึงส่งผลดีต่อพื้นที่การเกษตร หลังจากมีการก่อสร้างประตูระบายน้ำและสถานีสูบน้ำอีก 2 สถานี ทำให้เกษตรกรมีน้ำทำการเกษตรอย่างไม่ขาดแคลน
Leave a Response