ขอนแก่นฝนตกต่อเนื่อง ผู้ว่าฯสั่งรับมือทุกพื้นที่ พร้อมจัดพื้นที่ปลอดภัยช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบ

news2020_Facebook1

ขอนแก่นฝนตกต่อเนื่อง ผู้ว่าฯสั่งรับมือทุกพื้นที่ พร้อมจัดพื้นที่ปลอดภัยช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ขณะที่ปริมาณน้ำในเขื่อนอุบลรัตน์อยู่ที่ร้อยละ 36 ของความจุอ่าง เร่งบริหารจัดการน้ำในภาพรวมเพื่อมีน้ำกิน น้ำใช้ ตลอดทั้งปี

เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 29 เม.ย.2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าตลอดทั้งคืนที่ผ่านมาจนถึงขณะนี้ทั่วทั้ง จ.ขอนแก่น ยังคงมีพายุฝนตกลงมาอย่างหนักอย่างต่อเนื่อง อันมีผลมาจากพายุฤดูร้อนจากความกดอากาศสูงจากประเทศจีนแผ่ลงมาปกคลุมทะเลจีนใต้ ตั้งแต่วันนี้ไปจนถึงวันที่ 1 พ.ค. ลักษณะเช่นนี้จะทำให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก รวมทั้งกรุงเทพฯและเขตปริมณฑล จะเกิดพายุฤดูร้อน มีลมกรรโชกแรง และลูกเห็บตก ทำให้ทางจังหวัดต้องประกาศแจ้งเตือนให้ทุกอำเภอเฝ้าระวังและรับมือกับสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ ขณะเดียวกันจากพายุฝนที่ตกลงมาส่งผลให้ระดับน้ำกักเก็บในแหล่งน้ำสาธารณะและเขื่อนต่างๆในเขต จ.ขอนแก่น มีปริมาณน้ำที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะที่เขื่อนอุบลรัตน์ มีปริมาณน้ำเก็บกักมากถึงร้อยละ 36 ของความจุอ่าง

นายสมศักดิ์ จังตระกุล ผวจ.ขอนแก่น
นายสมศักดิ์ จังตระกุล ผวจ.ขอนแก่น

นายสมศักดิ์ จังตระกุล ผวจ.ขอนแก่น กล่าวว่า จากอิทธิพลของพายุฤดูร้อนที่พาดผ่านเขต จ.ขอนแก่น ชุดแรกจะเริ่มตั้งแต่วันนี้ไปจนถึงวันที่ 1 พ.ค. และกรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่าลูกที่ 2 ที่จะผ่านพาดผ่านต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 2-4 พ.ค.นั้น นอกจากการรับมือกับสถานการณ์ต่างๆที่จะเกิดขึ้นแล้ว ซึ่งคณะทำงาน ได้สั่งการและเตรียมการรับมือ รวมไปถึงแนวทางการให้ความช่วยเหลือในด้านต่างๆเรียบร้อยแล้ว แต่สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือการบริหารจัดการน้ำ ร่วมระหว่างโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ กรมชลประทาน และคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งวันนี้มีข่าวดีคือเขื่อนอุบลรัตน์ ซึ่งเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ของกลุ่มจังหวัดภาคอีสานตอนกลางนั้นมีปริมาณน้ำเก็บกักอยู่ที่ 889.20 ล้าน ลบ.ม.หรือคิดเป็นร้อยละ 36 ของความจุอ่าง ในจำนวนนี้มีปริมาณน้ำใช้งานได้ที่ 307.57 ล้าน ลบ.ม.หรือร้อยละ 16 โดยมีปริมาณน้ำไหลลงอ่างอยู่ที่วันละ 6.37 ล้าน ลบ.ม. ทำให้การบริหารจัดการน้ำในการระบายน้ำออกอยู่ที่วันละ 3.04 ล้าน ลบ.ม.

“จากปริมาณน้ำเก็บกักขณะนี้จัดอยู่ในการประมาณการที่คณะทำงานร่วมทุกฝ่ายได้กำหนดไว้ ดังนั้นการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ทางการเกษตร เขตชลประทาน การอุปโภคและบริโภค ในภาพรวมของจังหวัด ยังคงมั่นใจว่าจะมีปริมาณน้ำที่เพียงพอต่อการใช้งานต่อเนื่องไปจนถึงฤดูแล้งปีนี้ ดังนั้นในระยะนี้นอกจากการบริหารจัดการน้ำให้ครอบคลุมและทั่วถึงแล้ว ยังคงเน้นหนักไปในเรื่องของการจัดเก็บน้ำลงสู่ความจุอ่างของแหล่งน้ำสาธารณะทุกพื้นที่ ซึ่งทุกอำเภอได้เร่งทำแก้มลิง การจัดทำจุดเก็บกักน้ำ รวมไปถึงการบริหารจัดการน้ำในระดับพื้นที่เพื่อเก็บกักน้ำฝนที่ตกลงมาในระยะนี้ให้ได้มากที่สุด”

ผวจ.ขอนแก่น กล่าวต่ออีกว่า จังหวัดได้กำหนพื้นที่ปลอดภัย สำหรับการอพยพประชาชนในพื้นที่ที่เสี่ยงภัย โดยเฉพาะพื้นที่อำเภอ ชุมชน และ หมู่บ้าน ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่หุบเขา ยอดเขา หรือเชิงเขา ซึ่งจะต้องอพยพทันทีหากการประเมินสถานการณ์ในพื้นที่แล้วว่าอาจะเกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก หรือดินโคลนถล่ม ควบคู่ไปกับการจัดชุดเคลื่อนที่เร็วลงพื้นที่สำรวจความเสียหาย หรือให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากพายูฝนและลมกรรโชกแรง เพื่อให้การช่วยเหลือเป็นไปอย่างรวดเร็ว ตามระเบียบของทางราชการที่กำหนด

Leave a Response

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง