โควิดระบาดระลอก 3 โรงแรม-ร้านอาหารขอนแก่น กระทบหนัก สุดยื้อ! ไม่มีคนใช้บริการ (มีคลิป)

1

โรงแรมขอนแก่นโอด โควิดระบาดระลอก 3 ใครจะยื้อไหว เปิดให้บริการก็ไม่มีคนมาพัก จะประกาศขายก็คงไม่มีใครมาซื้อ วอนรัฐกำหนดมาตรการชัดเจนช่วยเหลือผู้ประกอบการ “ชาติชาย” ระบุเงินกองทุนประกันสังคมควรงัดออกมาใช้ได้แล้ว

      ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกที่ 3 ที่กำลังเกิดขึ้นส่งผลให้บรรยากาศการท่องเที่ยวและการใช้บริการของสถานประกอบการต่างๆเป็นไปอย่างเงียบเหงา อันมีผลมาจากการประกาศขอความร่วมมือจากรัฐบาลในการให้บริการในเวลาที่จำกัด และงดการเดินทางในระยะนี้ ทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหารหลายแห่งต้องปิดตัว ขณะที่โรงแรมที่ยังคงเปิดให้บริการก็ไม่มีผู้เข้าพัก เนื่องจากการเดินทางข้ามจังหวัดหรือการท่องเที่ยวในระยะนี้ไม่มีเกิดขึ้น รวมไปถึงการจัดการประชุมสัมมนาต่างๆได้ลดจำนวนลง

นายชาติชาย โฆษะวิสุทธิ์ นายกสมาคมโรงแรมภาคอีสาน
นายชาติชาย โฆษะวิสุทธิ์ นายกสมาคมโรงแรมภาคอีสาน

      นายชาติชาย โฆษะวิสุทธิ์ นายกสมาคมโรงแรมภาคอีสาน กล่าวว่า ยอมรับว่าการระบาดในระลอกที่ 3 เป็นเหตุการณ์ที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้วทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันและก้าวผ่านวิกฤตินี้ไปด้วยกัน ซึ่งในการระบาดระลอกที่ 2 ถ้าจำได้เกิดขึ้นช่วงใกล้ช่วงปีใหม่ ขณะที่ระลอกที่ 3 เกิดขึ้นในช่วงสงกรานต์ ในมุมของผู้ประกอบการโดยเฉพาะธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร และบริการ ในช่วงเทศกาลเป็นช่วงที่ทุกคนต้องเตรียมสรรพกำลังรองรับนักท่องเที่ยวและการเดินทาง ภายใต้มาตรฐานความปลอดภัยด้านสาธารณสุขอย่างเข้มงวด แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้นแบบเร่งด่วน ทุกอย่างต้องหยุดชะงัก ต้นทุนในด้านต่างๆ การจ้างงาน ที่มีอยู่ก็เป็นต้นทุนที่ต้องแบกรับ อย่างที่โรงแรมโฆษะ มวยกำลังจะขึ้นชก ก็ถูกน็อคตั้งแต่ยังไม่ชก ซึ่งก็เข้าใจในสถานการณ์ดังนั้นวันนี้สิ่งที่ทุกคนร่วมมือกันเพื่อฟันฝ่าวิกฤติเหตุการณ์นั้นเป็นไปได้อย่างราบรื่น แต่ผู้ประกอบการจะต้องแบกรับภาระด้านค่าใช้จ่ายที่ยังคงไม่มีความชัดเจนของหน่วยงานใดที่จะเข้ามาให้การช่วยเหลือ แม้รัฐบาลจะกำหนดการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบ ทั้งในโครงการเราชนะ หรือ ตามมาตร 33 มาแล้วก็ตาม

      “เม็ดเงินที่รัฐจัดสรรในการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ สามารถที่จะกระตุ้นภาพรวมทางเศรษฐกิจได้ในระดับหนึ่ง แต่มาวันนี้เกิดการระบาดระลอกที่ 3 ยอมรับว่ากลุ่มผู้ประกอบการโรงแรมนั้นมืดสนิท เพราะแม้เปิดให้บริการแต่ก็ไม่มีคนเข้าพัก ร้านอาหารหากเปิดคนก็มาใช้บริการน้อยมาก และต้องใช้บริการในช่วงเวลาที่จำกัด ทุกคนต่างต้องปรับกลยุทธิ์ในด้านต่างๆเพื่อความอยู่รอด โรงแรมหลายแห่งปลดพนักงานบางส่วน บางแห่ง ทำงานคนละ 15 วัน บางแห่งจ่ายเงินเดือนในอัตราร้อยละ 70 ตามแนวทางที่ใครจะทำได้และไม่ขัดต่อกฎหมาย และหากจะประกาศปล่อยขาย ตามที่เจ้าของกิจการได้พูดคุยกันหลายแห่งก็ไม่มีใครที่จะมาซื้อในระยะนี้จากสภาพเหตุการณ์ที่ทุกคนก็ทราบดีว่าเป็นอย่างไร”

      นายชาติชาย กล่าวต่ออีกว่า กระทรวงแรงงานต้องออกมามีบทบาทและแสดงความชัดเจนในการช่วยเหลือให้กับกลุ่มผู้ประกอบการ โดยเฉพาะกับเงินกองทุนประกันสังคม ที่นายจ้าง ได้มีการส่งสมทบทุกเดือน ที่ต้องออกมาเป็นโยบายหรือข้อกำหนดให้กับสถานประกอบการต่างๆได้เข้าถึงแหล่งเงินทุนดังกล่าว เนื่องจากการจะเข้าถึงสถาบันการเงินตามนโยบายที่รัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทย กำหนดนั้นผู้ประกอบการบางคนก็ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากมีภาวะเงินกู้ในสัดส่วนที่มากอยู่แล้ว ดังนั้นเมื่อวันนี้สถานประกอบการไม่สามารถเปิดได้ หรือเปิดก็ไม่มีรายได้เข้ามา แต่ยังคงต้องแบกรับภาวะต้นทุน ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าใช้จ่ายด้านต่างๆเพื่อคงสภาพของกิจการ รวมไปถึงค่าจ้างพักงานที่ต้องจ้าง จึงอยากให้รัฐบาลได้พิจารณาเงินกองทุนประกันสังคม ที่นายจ้างส่งจ่ายทุกเดือนได้กลับคืนมาให้กับนายจ้างบ้างในเงื่อนไขและระเบียบที่รัฐกำหนดไว้

Leave a Response

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง