สคร.7 ขอนแก่น สานภาคีเครือข่าย ร่วมยกระดับสถานประกอบการปลาร้าและปลาส้ม ให้ปลอดพยาธิใบไม้ตับและได้มาตรฐาน

news2021_Facebook1

        เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2564 ที่ห้องประชุมอำเภออุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น นายจารึก เหล่าประเสริฐ รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น เป็นประธานการประชุมการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องในการยกระดับสถานประกอบการปลาร้าและปลาส้มให้ปลอดพยาธิใบไม้ตับและได้มาตรฐาน เขตสุขภาพที่ 7 โดยมี นายพยุง เหล็กดี นายอำเภออุบลรัตน์ กล่าวต้อนรับ นพ.สมาน ฟูตระกูล ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 (สคร.7) จังหวัดขอนแก่น เป็นผู้กล่าวรายงาน และมีวิทยากรจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ศ.นพ.ณรงค์ ขันตีแก้ว รักษาการผู้อำนวยการสถานบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น ดร.เกษร แถวโนนงิ้ว รอง ผอ.สคร.7 ขอนแก่น และวิทยากรจากศูนย์อนามัยที่ 7 ขอนแก่น ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 7 ขอนแก่นอุตสาหกรรมจังหวัดขอนแก่น อุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

        นพ.สมาน ฟูตระกูล กล่าวว่า ปลาร้าและปลาส้มเป็นอาหารหมักที่ได้รับความนิยมมากทุกภูมิภาคของประเทศไทย และมีการส่งออกไปยังแถบเอเชีย สหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา รายงานการศึกษาในพื้นที่พบว่า มีการปนเปื้อนพยาธิใบไม้ตับในปลาร้า ร้อยละ 11.1 และปลาส้มร้อยละ 5.3 ในตลาด 5 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และจากการสำรวจสถานประกอบการปลาร้าและปลาส้ม 128 แห่ง พบระยะติดต่อพยาธิใบไม้ตับ จำนวน 25 แห่ง (ร้อยละ 19.5) ใน 15 จังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบกับพฤติกรรมการรับประทานอาหารของประชาชนยังมีพฤติกรรมการกินดิบ โดยเฉพาะปลาส้มดิบ ปลาร้าดิบ ส่งผลให้ประชาชนยังติดพยาธิใบไม้ตับ และเสียชีวิตด้วยมะเร็งท่อน้ำดี

        จากข้อมูลปี 2564 พบว่า ประชาชนในเขตสุขภาพที่ 7 ติดพยาธิใบไม้ตับ และยังมีคนเสียชีวิตจากมะเร็งท่อน้ำดี 50 ต่อประชากรแสนคน และจากการสำรวจสุขลักษณะของสถานประกอบการที่ผลิตปลาร้าและปลาส้ม 12 แห่ง ในจังหวัดขอนแก่น ตามหลักเกณฑ์ที่ดีในการผลิตอาหาร พบว่า สุขลักษณะของสถานประกอบการผลิตปลาร้าและปลาส้มร้อยละ 83.33 ไม่ผ่านตามหลักเกณฑ์ มีสิ่งที่ต้องปรับปรุงตั้งแต่ สถานที่ตั้ง กระบวนการผลิต ตลอดจน สุขอนามัยของผู้ปฏิบัติงานในสถานประกอบการปลาร้าและปลาส้ม

        “เป้าหมายยุทธศาสตร์ ทศวรรษการกำจัดปัญหาพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีในประชาชน คือ ปลาและคนติดพยาธิใบไม้ตับน้อยกว่าร้อยละ 1 และคนเสียชีวิตด้วยมะเร็งท่อน้ำดีลดลงร้อยละ 50 ในปี 2568 เพื่อตัดวงจรชีวิตของพยาธิใบไม้ตับให้หมดไป ต้องอาศัยการทำงานแบบบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงมีผู้บริหารและผู้กำหนดนโยบายที่ตระหนักถึงปัญหาและให้การสนับสนุนอย่างจริงจัง จึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการลดปัจจัยเสี่ยงโดยการป้องกันมากขึ้น และปลายทางสุดท้ายอยู่ที่การปรับพฤติกรรมของผู้บริโภคร่วมด้วย” ผอ.สคร.7 จังหวัดขอนแก่น กล่าวและว่า

        “สคร.7 จังหวัดขอนแก่น ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและเครือข่ายในพื้นที่ได้ร่วมกันพัฒนาสถานประกอบการปลาร้าและปลาส้ม เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่ปลอดพยาธิใบไม้ตับและได้มาตรฐาน โดยอาศัยกระบวนการมีส่วนร่วมของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องดำเนินการร่วมกันตั้งแต่ปี 2563-2564 ใน 4 จังหวัด ได้แก่ ขอนแก่น ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ และมหาสารคาม โดยมุ่งหวังให้ผู้ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ตั้งแต่ผู้ประกอบการปลาร้าและปลาส้ม ท้องถิ่น หน่วยงานภาครัฐ แกนนำชุมชน และผู้เกี่ยวข้องตระหนักและผลิตปลาร้าและปลาส้มปลอดพยาธิใบไม้ตับ และดำเนินการให้ได้ตามมาตรฐาน (GMP) จากการประเมินผลการดำเนินงานที่ผ่านมา พบว่า มีสถานประกอบการหลายแห่งที่ดำเนินการได้ดี อาทิเช่น แม่สำราญปลาส้ม แม่สมจิตรปลาส้ม ตำบลเขื่อนอุบลรัตน์ และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านอ้น หมู่ 5 ตำบลหัวช้าง และมีหลายแห่งที่กำลังอยู่ในขั้นตอนการพัฒนา

        การจัดประชุมในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ คือ เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างผู้ประกอบการปลาร้าและปลาส้มต้นแบบ และผู้ที่เกี่ยวข้อง ในเขตสุขภาพที่ 7 และเพื่อนำความรู้ที่ได้จากการแลกเปลี่ยนไปต่อยอดในการพัฒนาสถานประกอบการปลาร้าและปลาส้มให้ปลอดพยาธิและให้ได้มาตรฐานในพื้นที่ของตนเองต่อไปด้วย.

           
ไพฑูรย์ พรหมเทศ รายงาน

Leave a Response

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง