ชป.6 ปรับเพิ่มการระบายน้ำเขื่อนอุบลรัตน์เป็นวัลนะ 3 ล้าน ลบ.ม. และอีกใน 5 เขื่อนหลักภาคอีสานเติมน้ำลงแม่น้ำชี ช่วยเจือจางความเค็มการประปาเมืองร้อยเอ็ด คาด 2 วันเอาอยู่
เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 16 พ.ค.2564 นายศักดิ์ศิริ อยู่สุข ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 6 หรือ ชป.6 เปิดเผยว่า สำนักงานชลประทานที่ 6 ได้รับรายงานว่าประชาชนเมืองร้อยเอ็ดได้รับความเดือดร้อนเนื่องจากน้ำประปามีรสเค็มเป็นผลมาจากคลอไรด์ในน้ำสูง ซึ่งการประปาส่วนภูมิภาคสาขาร้อยเอ็ดได้ประสานขอให้ปรับเพิ่มการระบายน้ำลงแม่น้ำชีเพื่อเจือจางค่าคอลไรด์ในแม่น้ำชีบริเวณหน้าเขื่อนร้อยเอ็ด ซึ่งเป็นจุดสูบน้ำดิบของการประปาส่วนภูมิภาคสาขาร้อยเอ็ด ชป.6 จึงได้ประสานเขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น เพื่อปรับเพิ่มการระบายน้ำจากวันละ 1.1 ล้าน ลบ.ม.เป็นวันละ 3 ล้าน ลบ.ม. เพื่อช่วยเติมน้ำลงลำน้ำพองและไหลไปลงแม่น้ำชีที่หน้าเขื่อนมหาสารคาม
“ขณะเดียวกันยังคงมีการปรับเพิ่มการระบายน้ำเขื่อนลำปาวจังหวัด จ.กาฬสินธุ์ เป็นวันละ 0.10 ล้าน ลบ.ม. เพิ่มการระบายน้ำเขื่อนในแม่น้ำชีตั้งแต่เขื่อนชนบท จ.ขอนแก่น เพิ่มขึ้นเป็นวันละ 0.24 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนมหาสารคาม เพิ่มการระบายน้ำเป็นวันละ 3.10 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนวังยาง จ.กาฬสินธุ์ เพิ่มการระบายน้ำเป็นวันละ 3.86 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนร้อยเอ็ดระบายน้ำวันละ 4.21 ล้าน ลบ.ม. และรักษาระดับน้ำเก็บกักของเขื่อนร้อยเอ็ด เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับระบบสูบจ่ายน้ำดิบ”
นายศักดิ์ศิริ กล่าวต่ออีกว่า จากการตรวจวัดค่าความเค็มบริเวณหน้าเขื่อนร้อยเอ็ด จุดสูบน้ำดิบของการประปาส่วนภูมิภาคาขาร้อยเอ็ด เมื่อวานนี้ (15 พ.ค.) พบค่าความเค็มอยู่ในเกณฑ์ปกติแล้ว แต่น้ำประปาในส่วนบ้านเรือนของประชาชนจะยังมีรสกร่อยเนื่องจากยังมีน้ำที่มีค่าความเค็มค้างในระบบเส้นท่อของการประปาต้องใช้เวลาในการผันน้ำออกจากเส้นท่อคาดว่าน้ำประปาจะกลับเข้าสู่สถานปกติภายใน 1-2 วันนี้ ซึ่งการประปาส่วนภูมิภาคสาขาร้อยเอ็ดได้แจ้งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนสามารถใช้น้ำเพื่อการอุปโภคได้โดยไม่เกิดอันตรายใดๆ อย่างไรก็ตาม ชป.6 ได้ประสานงานร่วมกับการประปาส่วนภูมิสาขาร้อยเอ็ด เพื่อให้การควบคุมค่าความเค็มในแม่น้ำชีบริเวณจุดสูบน้ำดิบของการประปาฯ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด พร้อมสั่งการให้โครงการชลประทานที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ค่าความเค็มในแม่น้ำชีอย่างใกล้ชิด อีกด้วย
Leave a Response