เปิดตัวน้อง “ใบหม่อน” หุ่นยนต์อัจฉริยะช่วยบุคลากรทางการแพทย์สู้โควิด-19 จากผลงานของนักเรียนชั้น ม.1 ส่งมอบให้กับ รพ.ชุมแพ ได้ใช้งานจริงในราคาไม่แพง
เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 31 พ.ค.2564 ที่โรงเรียนเมทนีดล อ.เมือง จ.ขอนแก่น ดร.อรทัย สันติเมทนีดล ผู้อำนวยการโรงเรียนเมทนีดล จ.ขอนแก่น นำคณะครูและนักเรียน ร่วมส่งมอบน้อง “ใบหม่อน” หุ่นยนต์อัจฉริยะช่วยบุคลากรทางการแพทย์สู้โควิด-19 ให้กับ พญ.ดวงพร อัศวราชันย์ ผอ.รพ.ชุมแพ จ.ขอนแก่น ซึ่งเป็นผลงานประดิษฐ์ของนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 1 ที่ได้ประดิษฐ์และคิดค้นขึ้นสำหรับการให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่กำลังเกิดขึ้น
ดร.อรทัย สันติเมทนีดล ผู้อำนวยการโรงเรียนเมทนีดล จ.ขอนแก่น กล่าวว่า ด้วยการจัดการเรียนการสอนที่มีการบรรจุรายวิชา เอไอ หรือปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งคณะครูได้ให้โจทย์ให้กับนักเรียนระดับชั้น ม.1 ในการคิดค้นและประดิษฐ์หุ่นยนต์อัจฉริยะที่สามารถใช้งานได้และสอดรับสถานการณ์ปัจจุบัน นักเรียนจึงได้เสนอแผนงานในการประดิษฐ์หุ่นยนต์เพื่อช่วยเหลือและสนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่กำลังเกิดขึ้นจึงได้ประสานงานร่วมกันกับหลักสูตรภาควิชาเมคาทรอนิกส์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ในการวางแผนประดิษฐ์หุ่นยนต์ขึ้น เพื่อให้สามารถใช้งานได้อย่างครอบคลุม
“น้องใบหม่อน เป็นหุ่นยนต์ตัวที่ 2 ที่นักเรียนได้คิดค้นและประดิษฐ์ขึ้น โดยมีความสูง 165 ซม. และขนาดความกว้าง 40 ซม. โดยด้านบนส่วนหัวจะเป็นที่ตั้งของกล้องและระบบรับสัญญา บริเวณลำตัวจะติดตั้งหลอดรังสี UVC ที่มีคุณสมบัติเศษในการฆ่าเชื้อโรคได้ในรัศมี 5-7 เมตร ขณะที่ช่วงล่างก่อนถึงฐานล้อ มีการติดตั้งกล่องใส่สิ่งของ ที่สามารถรับน้ำหนักได้ ไม่เกิน 3 กม. ระบบพลังงานใช้แบตเตอรี่รองรับไฟบ้านทั่วไป โดยใช้เวลาชาร์จ 2 ชม. ต่อการใช้งานอย่างต่อเนื่องได้นานถึง 6 ชม. ระบบรับ-ส่งสัญญาณผ่านระบบไวไฟที่สามารถส่งสัญญาณได้ถึงกันระยะทางกว่า 300 เมตร ซึ่งเมื่อได้รูปแบบแล้วจึงวางแผนในการจัดหาอุปกรณ์ส่วนต่างๆ อย่างครบถ้วนและเข้าสู่ขั้นตอนของการประดิษฐ์ตามคำแนะนำของคณาจารย์ โดยนักเรียนได้ใช้เวลาเพียง 2 วันก็สามารถทีจะประดิษฐ์หุ่นยนต์ตัวนี้ได้สำเร็จ อย่างไรก็ดีสำหรับหุ่นยนต์อัจฉริยะตัวแรกที่ประดิษฐ์ขึ้นนั้นได้ส่งมอบให้กับ รพ.ภูเวียง และวันนี้ตัวที่ 2 ได้ส่งมอบให้กับ รพ.ชุมแพ โดยได้มีการสาธิตและสอนการใช้งานกับเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบเรียบร้อยแล้ว และทางโรงเรียนยินดีที่จะดูแลรักษาและซ่อมบำรุงให้กับหุ่นยนต์ทั้ง 2 ตัวตลอดระยะเวลาของการใช้งานที่โรงพยาบาลอีกด้วย”
ด.ช.ณัฎฐ์ นาคบรรพต จิตร์โต นักเรียนชั้น ม.1 โรงเรียนเมทนีดล จ.ขอนแก่น กล่าวว่า จากข้อมูลพบว่าหุ่นยนต์ที่ใช้ในวงการการแพทย์ ที่มีบางพื้นที่นำมาใช้ในการเป็นผู้ช่วยเหลือบุคลากรทางการแพทย์จากสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น ราคาสูงถึงตัวละกว่า 5 ล้านบาท ทำให้เพื่อนๆร่วมชั้นเรียน ซึ่งขอเป็นส่วนหนึ่งในการนำความรู้ ความสามารถ นำเอาแนวความคิดมาประสานกับเทคนิคทางวิชาการวิทยาศาสตร์ จนกลายมาเป็นน้องใบหม่อน ในราคาต้นทุนตัวละ 30,000 บาทที่เพื่อนร่วมชั้นเรียนทุกคนใช้เวลาในการประดิษฐ์เพียง 2 วัน ซึ่งข้อดีของน้องใบหม่อนนี้นั้นสามารถหมุนได้ 360 องศา มีขนาดความกว้างที่พอดี ที่สามารถเข้าไปในสถานที่ต่างๆได้แทบทั้งหมด รัศมีการฉายรังสี ยูวีซี ได้กว้างและไกลถึง 5-7 เมตร ซึ่งสามารถที่จะทำความสะอาด ฆ่าเชื้อโรค เชื้อจุลชีพ แบคทีเรียในห้องพักผู้ป่วย หรือห้องปฎิบัติการได้อย่างครบถ้วน อีกทั้งยังคงสามารถใช้ในการรับส่งของ ระหว่างแพทย์และผู้ป่วย ด้วยการติดตั้งกล่องด้านล่างช่วงฐานล้อ และบริเวณตัวหุ่นยนต์มีการติดตั้งชั้นสำหรับการใส่สิ่งของ หรือยา หรือแฟ้มผู้ป่วย เพื่อลดความเสี่ยงให้กับบุคลากรทางการแพทย์ ในสถานการณ์ที่มีการแพร่ระบาดของโรคที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้
ขณะที่ พญ.ดวงพร อัศวราชันย์ ผอ.รพ.ชุมแพ จ.ขอนแก่น กล่าวว่า หุ่นยนต์ที่ได้รับมอบจะเป็นประโยชน์ต่อการทำงานของโรงพยาบาลอย่างมาก โดย รพ.ชุมแพ ทำการรักษาผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 แล้วทั้งสิ้น 23 ราย ซึ่งขณะนี้บางส่วนหายขาดจาดโรคและบางส่วนอาการดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยหุ่นยนต์ที่ได้รับมอบถือเป็นมิติใหม่ในการทำงานโดยเฉพาะกับการที่จะช่วยในเรื่องของการทำความสะอาดห้องผู้ป่วยหรือ ห้องปฎิบัติการต่างๆ ด้วยระบบรังสียูวีซี รวมทั้งการรับ-ส่งสิ่งของ เวชภัณฑ์ยา หรือการติดต่อกับผู้ป่วยกับทีมแพทย์ ที่จากนี้ไปจะสามารถดำเนินการได้อย่าง สะดวก คล่องตัวและเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพจากผลงานของนักเรียนในครั้งนี้
[/read]
Leave a Response