เปิดแผนกระจายวัคซีนโควิด “แอสตราเซเนกา-ซิโนแวค” ส่วน “ไฟเซอร์” เซ็นต์สัญญาสัปดาห์หน้า

news2021_facebook_new

กรมควบคุมโรคเผยแผนกระจายวัคซีนโควิด เดือน มิ.ย.นี้ รวม 6 ล้านโดส เตรียมจุดฉีดต่างจังหวัด 993 จุด กทม.อีก 25 จุด สำนักงานประกันสังคมอีก 25 จุด และมหาวิทยาลัยรวม 11 แห่ง ติดตามข้อมูลในจังหวัด หรือคกก.โรคติดต่อจังหวัดนั้นๆ พร้อมหาวัคซีนเพิ่มอีก 33 ล้านโดส มีข่าวดีเจรจา “ไฟเซอร์-จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน” เพิ่มอีก 25 ล้านโดส คาดไฟเซอร์ลงนามสัปดาห์หน้า!!

     เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. 2564 ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) กล่าวถึงการกระจายวัคซีนโควิด19 ในเดือนมิ.ย.2564 ซึ่งจะมีการคิกออฟฉีดวัคซีนโควิดพร้อมกันวันที่ 7 มิ.ย. 2564 ว่า เป้าหมายสำคัญของการฉีดวัคซีนโควิด ที่นายกรัฐมนตรีให้นโยบายไว้ว่า คนไทยทุกคนที่อยู่ในประเทศไทยที่สมัครใจต้องได้รับวัคซีนโควิดทุกคนโดยไม่คิดมูลค่า แต่หากเป้าหมายเพื่อฉีดวัคซีนให้เกิดภูมิคุ้มกันระดับประเทศ เพื่อให้ประเทศปลอดภัย ชีวิตเดินต่อไปได้ ต้องฉีดอย่างน้อยให้ได้ 50 ล้านคนของพี่น้องประชาชน การจัดการเรื่องนี้จะประกอบด้วยการจัดหา กระจายวัคซีน การเตรียมพร้อมจุดวัคซีน

      ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.จนถึง พ.ค. ที่มีการฉีดวัคซีนซิโนแวค ฉีดไปทั้งสิ้น 3,644,859 โดส โดยเฉพาะกทม.ฉีดไปแล้วกว่า 1 ล้านโดส อย่างไรก็ตาม สำหรับการจัดหาวัคซีนปี 2564 เป้าหมายที่นายกฯ ให้ไว้คือให้ได้ 100 ล้านโดส และปี 2565 หาเพิ่มอีก 50 ล้านโดส รวมเป็น 150 ล้านโดส ทั้งนี้ เนื่องจากข้อมูลวิชาการที่มีอาจจำเป็นต้องฉีดวัคซีนกระตุ้นอีก 1 เข็ม รวมทั้งต้องมีแผนเตรียมไว้กรณีวัคซีนสำหรับเชื้อที่กลายพันธุ์ ในรุ่นใหม่ๆ ซึ่งตรงนี้จะอยู่ในส่วนหาเพิ่มอีก 50 ล้านโดส โดยขณะนี้มีการจัดหาตามแผนวัคซีน 100 ล้านโดส แบ่งเป็นจัดหาวัคซีนของซิโนแวค 6 ล้านโดส วัคซีนแอสตราเซเนกา 61 ล้านโดส ซึ่งขณะนี้ส่งมาแล้ว 2 ล้านโดส รวมกันจะเป็น 67 ล้านโดส

      ดังนั้น ในปี 2564 ยังขาดวัคซีนอีก 33 ล้านโดส ซึ่งต้องจัดหาเพิ่มเติม โดยขณะนี้อยู่ในขั้นตอนลงนามในสัญญากับบริษัทไฟเซอร์ ซึ่งเป็นไปด้วยดีคาดว่าจะลงนามในสัปดาห์หน้า และในส่วนของวัคซีนจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน อยู่ในขั้นตอนการเตรียมทำสัญญา ซึ่ง 2 วัคซีนนี้จะได้ 25 ล้านโดส และจะมีแผนจัดหาวัคซีนซิโนแวคอีก 8 ล้านโดส เมื่อพิจารณาตัวเลขจะครบ 100 ล้านโดส ซึ่งเดือนนี้น่าจะมีข่าวดีต่อไป

      อีกประการหนึ่งวัคซีนที่ใช้ในประเทศไทย ทั้งซิโนแวค และแอสตราฯ ได้ผ่านการรับรองจากองค์การอนามัยโลก และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา รวมทั้งคณะกรรมการวิชาการได้ทบทวนข้อมูลวิชาการว่า วัคซีนทั้ง 2 ชนิดสามารถให้ได้ในประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป และสามารถให้ได้ในกลุ่มอายุเกิน 60 ปีเช่นกัน ไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ ทำให้การบริหารจัดการวัคซีนได้ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม การกระจายวัคซีนโควิดยังเป็นการใช้ในภาวะฉุกเฉิน ซึ่งเป็นแบบเดียวกันทั่วโลก ดังนั้น การมีวัคซีนจำนวนมากรอไว้ค่อยไปซื้อ คงไม่ทัน ขบวนการคือ มีการผลิตเสร็จจะส่งมอบ มีการรับ และกระจายทันที เพราะฉะนั้นแผนจะกระจายทุกสัปดาห์ โดยท่านรองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการ สธ. จึงให้แนวว่าจะต้องกระจายต่อเนื่องอย่างน้อยทุกสัปดาห์ เมื่อไหร่มีวัคซีนผลิตในไทยได้ ทุกสัปดาห์ก็จะทบทวนและกระจายอย่างต่อเนื่อง

      นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า สำหรับเดือน มิ.ย. ซึ่งเป็นช่วงการฉีดวัคซีนตามแผนหลัก ส่วนเดือน มี.ค. เม.ย.และพ.ค.มีเหตุการณ์ระบาดจึงต้องจัดหาเพิ่มเติม โดยในสัปดาห์นี้มีวัคซีนแอสตราฯ 2 ล้านโดส โดย 2 แสนโดสแรกส่งไปแล้ว ตามข่าวที่ระบุว่ากระจายแต่ละจังหวัดได้ 3,600นโดส แต่เมื่อมีอีก 1.8 ล้านโดสก็จะส่งเพิ่มเติมในจังหวัดต่างๆเข้าไป และจะมีวัคซีนซิโนแวคอีก 1.5 ล้านโดส ขณะนี้มีวัคซีนในมือที่จะฉีดตั้งแต่วันที่ 7 มิ.ย. เป็นต้นไปรวมจำนวน 3,540,000 โดส และหลังจาก 2 สัปดาห์แรกแล้ว ในสัปดาห์ที่ 3 เราจะมีวัคซีนอีกอย่างน้อย 840,000 โดส และสัปดาห์ที่ 4 อีกจำนวน 2,580,000 โดส ซึ่งเป็นตัวเลขที่มีการตกลงกับทางบริษัทเบื้องต้น อาจมีการเพิ่มหรือลด ในภาพรวมเดือน มิ.ย.จะมีวัคซีนมากกว่า 6 ล้านโดส ปลายเดือนนี้จึงคาดว่าจะฉีดให้ได้ 10 ล้านโดสรวมจากฉีดไปก่อนแล้วเกือบ 4 ล้านโดส

      ส่วนการกระจายไปยังจังหวัดต่างๆนั้น

      1. แต่ละจังหวัดต้องมีวัคซีนแอสตราฯ และซิโนแวคเพื่อบริการพี่น้องประชาชน เฉลี่ยเป็นพื้นฐานตามจำนวนประชากรในพื้นที่และประชากรแฝง หรือหารเฉลี่ยตามจำนวนประชากร

      2.จังหวัดที่มีการระบาดมาก อย่างกทม. ปริมณฑล หรือจ.เพชรบุรี จะมีการจัดวัคซีนเสริมเข้าไป อย่างกทม. ที่ผ่านมาฉีดแล้ว 1 ล้านโดส ตามแผนมิ.ย.จะฉีดให้ได้อย่างน้อย 2.5 ล้านโดส รวมทั้งนนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ ซึ่งเป็นปริมณฑล แต่การระบาดค่อนข้างรวดเร็ว หากสัปดาห์หน้ามีการปรับเปลี่ยนก็ต้องปรับเรื่องการเสริมวัคซีนด้วย รวมทั้งกรณีเรือนจำเช่นกัน

      3.จังหวัดที่เป็นกลุ่มเป้าหมายพิเศษ อย่างจังหวัดท่องเที่ยว เช่น ภูเก็ต เมื่อเทียบอัตราประชากร จะพบว่ามีพี่น้องประชาชนฉีดมากที่สุด ขณะนี้เกิน 50 เปอร์เซนต์ ซึ่งภูเก็ตจะเปิดจังหวัดรองรับนักท่องเที่ยวก็จะมีแผนพิเศษ รวมทั้งกลุ่มแรงงาน ที่ต้องขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ รวมทั้งกลุ่มชายแดนเศรษฐกิจก็จะใส่วัคซีนเสริมเติมเข้าไป เช่น ชลบุรี ระยอง จังหวัดชายแดน อย่างจ.ตาก

      “อีกประการหนึ่งเพื่อให้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานผู้ประกันตนประกอบกิจกรรมขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยจะมอบให้สำนักงานประกันสังคมอีก 1 ล้านโดสไปฉีดแก่ผู้ประกันตน รวมทั้งผู้ที่ขึ้นทะเบียนจองฉีดวัคซีนในระบบ “หมอพร้อม” ซึ่งยืนยันว่าไม่มีการเลื่อนฉีดแต่อย่างใด” อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าว

      นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า สำหรับจุดฉีดวัคซีนจะต้องอยู่ภายใต้การกำกับของแพทย์ สถานพยาบาล ภายใต้มาตรการกำหนด มีระบบติดตามภายหลังฉีดวัคซีน 30 วันเป็นไปตามมาตรฐานกรมควบคุมโรคกำหนด โดยขณะนี้มีจุดฉีดในต่างจังหวัดรวม 993 จุด พร้อมให้บริการในวันที่ 7 มิ.ย. นี้ ส่วน กทม.มีจุดฉีด 25 จุด สำนักงานประกันสังคมมี 25 จุด อีกจุด คือของทางมหาวิทยาลัยต่างๆ จุฬาฯ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยรามคำแหง สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี สมุทรปราการ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต และมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ รวม 11 แห่ง โดยมหาวิทยาลัยมีโควต้าวัคซีนประมาณ 5 แสนโดสสำหรับบุคลากรของตนเอง และอาจเพิ่มเติมในประชาชนกลุ่มรอบๆ ซึ่งจะมีจุดฉีดมากกว่านี้

      นอกจากนี้ ยังมีจุดฉีดกลางอีก 10 แห่ง เช่น สถานีกลางบางซื่อ สถาบันราชานุกูลสำหรับเด็กพิเศษและผู้ด้อยโอกาสผู้พิการ ศูนย์กลางแพทย์บางรัก จุดฉีดสำหรับต่างชาติ เป็นต้น จะมีการประกาศออกไป โดยแต่ละจุดฉีดจะมีการปรับเปลี่ยนได้ต่อไป โดยสามารถติดตามได้จากพื้นที่จังหวัดหรือคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนั้นๆ

Leave a Response

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง