เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 13 เม.ย.2564 ที่วัดไชยศรี ต.สาวะถี อ.เมืองขอนแก่น นายสมศักดิ์ จังตระกุล ผวจ.ขอนแก่น นำชาวขอนแก่นร่วมประกอบพิธีเสียเคราะห์ หรือพิธีสะเดาะเคราะห์ ซึ่งเป็นประเพณีอีสานดั้งเดิม ในงานบุญสงกรานต์อีสานประจำปี 2564 ซึ่งปีนี้จังหวัดได้ปรับรูปแบบการจัดงานโดยเน้นการสืบสานวัฒนธรรมท้องถิ่น ซึ่งพิธีเสียเคราะห์ หรือ พิธีสะเดาะเคราะห์ นั้นเป็นขนบธรรมเนียมที่ปฎิบัติสืบทอดกันมานานกว่า 100 ปี ตามความเชื่อของคนอีสาน ท่ามกลางความสนใจของชาวขอนแก่นที่ร่วมในการประกอบพิธีภายใต้มาตรการคุมเข้มจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้น
นายสมศักดิ์ จังตระกุล ผวจ.ขอนแก่น กล่าวว่า พิธีกรรมดังกล่าวเชื่อกันว่าการเสียเคราะห์ทำให้เคราะห์ที่ไม่ดี หรือสิ่งที่ไม่เป็นมงคลในชีวิตสูญสลายไป ซึ่งได้กำหนดจัดขึ้นทุกวันที่ 13 เม.ย.ของทุกปี โดยที่ชาวบ้านจะนำเครื่องสังเวยหรือเครื่องเสียเคราะห์ ที่เป็นกระทงสี่เหลี่ยมทำจากกาบกล้วยและไม้ไผ่ แบ่งเป็น 9 ช่อง แต่ละช่องจะใส่ข้าวตอก ดอกไม้, น้ำส้มป่อย, ข้าวดำ, ข้าวแดง ข้าวเหลือง, ฝ้ายดำ, ฝ้ายแดง, ฝ้ายขาว, ฝ้ายเหลือง และรูปนักษัตรประจำปีเกิด มารวมตัวกันภายในบริเวณกำแพงสิม ซึ่งทางวัดจะโยงด้ายสายสิญจน์สำหรับประกอบพิธีไปทั่วบริเวณ จากนั้นพระสงฆ์กล่าวคำเสียเคราะห์เป็นภาษาอีสานตามที่สืบทอดกันมา เพื่อให้เทวดา ภูตผี เจ้าชะตา ลงมาเอาเครื่องบูชาที่เตรียมไว้ ให้เคราะห์หายไป มีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง ประสบความเจริญรุ่งเรืองตลอดไป
“จากนั้นทุกคนจะนำเครื่องเสียเคราะห์ไปทิ้งในจุดที่กำหนด แล้วเดินกลับเลยโดยห้ามไม่ให้หันหลังกลับไปมองอีก ตามความเชื่อที่ว่าเมื่อทิ้งสิ่งที่ไม่ดีแล้วก็ให้ตัดใจไม่กลับไปข้องแวะอีก และสิ่งที่ไม่ดีนั้นก็จะไม่กลับมาเป็นอุปสรรคอีกเลย ทั้งนี้ประเพณีสงกรานต์ หรือเทศกาลขึ้นปีใหม่ของไทย ถือเป็นอีกหนึ่งเทศกาลสำคัญที่หลายคนรอคอย และถือเป็นงานบุญตามฮีต 12 หรือประเพณี 12 เดือน ที่ชาวอีสานเราจะร่วมกันทำบุญตักบาตร สรงน้ำพระ รดน้ำขอพรจากญาติผู้ใหญ่เพื่อความเป็นสิริมงคลในการเริ่มต้นปีใหม่ พร้อมทั้งมีการละเล่นสาดน้ำเพื่อความสนุกสนานและสรงอัฐิของบรรพบุรุษ เพื่อแสดงถึงความกตัญญูต่อผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ซึ่งเป็นสิ่งที่ชาวอีสานปฏิบัติสืบต่อกันมาช้านาน แต่ปีนี้หลายพื้นที่ยังคงประสบปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่ง จ.ขอนแก่น ยังคงอยู่ในสภาวะการเฝ้าระวังและป้องกันอย่างเข้มข้น การจัดงานสงกรานต์จึงได้มีการยกเลิกหลายๆ กิจกรรมที่มีความเสี่ยง และได้ปรับรูปแบบในการจัดงานโดยเน้นการสืบสานวัฒนธรรมที่ดีงาม และกิจกรรมทางด้านศาสนา งดกิจกรรมที่เป็นความเสี่ยง งดการเล่นน้ำ สาดน้ำ ประแป้ง งดเล่นโฟม งดแสดงคอนเสิร์ต และการรวมตัวกันของคนจำนวนมาก เน้นแก่นแท้ของวัฒนธรรมประเพณี ชูอัตลักษณ์และเสน่ห์ที่เป็นวัฒนธรรมของท้องถิ่น”
ผวจ.ขอนแก่น กล่าวต่ออีกว่า การจัดงาน ประเพณีบุญสงกรานต์อีสานดั้งเดิมวัดไชยศรี เป็นการอนุรักษ์ และสืบสานคุณค่ามรดกทางวัฒนธรรม ซึ่งคนในชุมชนได้ร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมใจอย่างเข้มแข็ง เพื่อร่วมกันทำนุบำรุงสิมวัดไชยศรี ซึ่งเป็นโบสถ์อีสานโบราณอายุมากกว่า 100 ปี อีกด้วย
Leave a Response