เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2564 นายกุล ภาคเดียว ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ประจำจังหวัดขอนแก่น มอบหมายให้ นายประสิทธิ์ ปาปะกัง เจ้าพนักงานป้องกันการทุจริตชำนาญการ พร้อมด้วยคณะเจ้าหน้าที่ สำนักงาน ป.ป.ช.ประจำจังหวัดขอนแก่น ร่วมมือกับ ชมรม STRONG จิตพอเพียงต้านทุจริตจังหวัดขอนแก่น โดยการนำของ นายสุวิทย์ อินนามา ประธานชมรม นายฉัตรชัย ข้อยุ่น และนายวิรัช ค้าคล่อง รองประธานชมรม ในการจัดกิจกรรมการประชุมคณะกรรมการชมรม STRONG จิตพอเพียงต้านทุจริตจังหวัดขอนแก่น ครั้งที่ 1/2565 เพื่อร่วมกันวางแผนและเตรียมการขับเคลื่อนงานการป้องกันทุจริตในปีงบประมาณ 2565 ซึ่งมีผู้เข้าประชุมเป็นกรรมการชมรม ที่มาจากทุกอำเภอ ทั้ง 26 อำเภอของจังหวัดขอนแก่น จำนวน 40 คน ที่ห้องประชุมโรงแรมราชาวดี รีสอร์ท แอนด์ โฮเทล ขอนแก่น
ทั้งนี้ จากยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตของประเทศไทย กำหนดวิสัยทัศน์ว่า ประเทศไทยใสสะอาด ไทยทั้งชาติต้านทุจริต (Zero Tolerance & Clean Thailand) โดยมีพันธกิจ ที่จะสร้างวัฒนธรรมต่อต้านการทุจริต ยกระดับธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการทุกภาคส่วนแบบบูรณาการและปฏิรูปกระบวนการป้องกันและปราบปรามการทุจริตทั้งระบบ ให้มีมาตรฐานสากล ซึ่งหากยุทธศาสตร์ชาติได้รับความร่วมมือร่วมใจจากทุกภาคส่วน ของสังคมไทยในการไปปฏิบัติจริง ประชาชนไทยจะมีการตื่นตัวต่อการทุจริตมากขึ้น มีการให้ความสนใจต่อข่าวสารและตระหนักถึงผลกระทบของการทุจริตที่มีต่อประเทศมากขึ้น เพื่อให้ภาพอนาคตบรรลุผลได้จริง ภาคประชาชนต้องให้ความสำคัญอย่างแท้จริง กับการประยุกต์หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ประกอบหลักการต่อต้านการทุจริต เพื่อสร้างฐานคิดจิตพอเพียงต้านทุจริตให้เกิดขึ้น
ส่วนการใช้หลัก STRONG มาประยุกต์ต่อต้านการทุจริต นั้น ประกอบด้วย S = Sufficient การน้อมนำเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้เป็นหลักในการทำงานและดำเนินชีวิต T = Transparent การปฏิบัติงานบนฐานความโปร่งใส ตรวจสอบได้ R = Realize การตระหนักรู้ถึงปัญหาการทุจริต คอร์รัปชั่น และการแยกแยะผลประโยชน์ส่วนตัวและผลประโยชน์ส่วนรวม O = Onward การสร้างวัฒนธรรมไม่ทนต่อการทุจริต N = Knowledge การพัฒนาองค์ความรู้อย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้เท่าทันสถานการณ์การทุจริต และ G = Generosity การสร้างความเอื้ออาทรบนพื้นฐานของจริตธรรมและพอเพียง
นายสุวิทย์ อินนามา ประธานชมรม STRONG จิตพอเพียงต้านทุจริตจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า วัตถุประสงค์ชมรมจัดตั้งขึ้นเพื่อ 1.ปลูกฝังจิตพอเพียงต้านทุจริต ด้วยโมเดล STRONG แก่ประชาชนและทุกภาคส่วนในจังหวัด 2.ปลูกวิธีคิด แยกแยะผลประโยชน์ส่วนตัวและประโยชน์ส่วนรวม รวมทั้งความอายและไม่ทนต่อการทุจริตแก่ประชาชนและทุกภาคส่วนในจังหวัด 3.ขยายผลการป้องกันทุจริตเชิงรุก ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนและทุกภาคส่วนในจังหวัด 4.ขยายผลการรับรู้การทุจริตต่อประชาชนและทุกภาคส่วนในจังหวัด และ 5.ร่วมมือกับองค์กรต่างๆ หรือชมรมอื่นๆ ที่มีวัตถุประสงค์ในการต่อต้านการทุจริต รวมทั้งการดำเนินกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ ทั้งนี้ โดยไม่ดำเนินกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเมือง
“ในปีงบประมาณ 2565 มีแผนงานกิจกรรมที่สำคัญ ดังนี้ 1.การพัฒนาศูนย์เรียนรู้ STRONG จิตพอเพียงต้านทุจริต จำนวน 3 ครั้ง 2.การเชื่อมโยงเครือข่ายเยาวชน จำนวน 1 ครั้ง 3.ประชุมคณะกรรมการบริหารชมรม จำนวน 3 ครั้ง 4.การผลิตสื่อเพื่อการเรียนรู้ จำนวน 12 ครั้ง (ทุกเดือน) 5.จัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ ไม่น้อยกว่า 1 แห่ง 6.การจับตามองและแจ้งเบาะแส จำนวน 9 ครั้ง ได้แก่ การเฝ้าระวังการใช้จ่ายงบประมาณเงินอุดหนุนเฉพาะกิจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในเขตพื้นที่จังหวัดขอนแก่น การเฝ้าระวังการป้องกันการทุจริตการรุกล้ำที่สาธารณะประโยชน์ของรัฐ และการเฝ้าระวังการทุจริตและข้อสังเกตการใช้จ่ายงบประมาณโครงการเกษตรแปลงใหญ่ เป็นต้น”
ไพฑูรย์ พรหมเทศ ผู้สื่อข่าวจังหวัดขอนแก่น รายงาน
Leave a Response