เกษตรกรขอนแก่น หันมาเลี้ยงหอยเชอร์รี่สีทอง สัตว์เศรษฐกิจ บ.โนนฆ้อง โปรตีนสูง ก.ก.ละเกือบ 800 บาท (มีคลิป)

เกษตรกรขอนแก่น หันมาเลี้ยงหอยเชอรี่สีทอง สัตว์เศรษฐกิจตัวใหม่ อร่อย ราคาดี มีโปรตีนสูง กิโลกรัมละเกือบ 800 บาท ตลาดในและต่างประเทศรับซื้อไม่อั้น

           เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 26 ธ.ค.2564 ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่สำรวจฟาร์มเลี้ยงหอยเชอรี่ สัตว์เศรษฐกิจตัวใหม่ที่กำลังเป็นที่ได้รับความสนใจจากเกษตรกรในพื้นที่ ต.โนนฆ้อง อ.บ้านฝาง จ.ขอนแก่น ที่ขณะนี้ชาวบ้านในพื้นที่เร่มหันมาให้ความสนใจเพาะเลี้ยงหอยเชอรี่สีทองกันเพิ่มมากขึ้น โดยมีนักวิชาการการเกษตร จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น หรือ มข. มาให้ความรู้และต่อยอดตามหลักวิชาการทำให้หอยเชอรี่ของกลุ่มเกษตร อ.บ้านฝาง ผ่านเกณฑ์มาตรฐานอาหารที่ให้โปรตีนสูงและเป็นที่ต้องการตลาดในประเทศและต่างประเทศอย่างมาก

           นายมนตรี กูดอั้ว ปลัดเทศบาล ต.โนนฆ้อง เกษตรกรที่ทำการเลี้ยงหอยเชอรี่สีทอง กล่าวว่า หอยเชอรี่จัดเป็นสัตว์ศัตรูพืชที่เป็นตัวฉกาจของชาวนาอย่างมาก โดยเฉพาะในช่วงฤดูทำนาที่หอยเชอรี่เหล่านี้จะไปกัดกินต้นข้าวได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก ซึ่งจากข้อมูลพบว่าหอยเชอรี่เริ่มแพร่ระบาดอย่างรุนแรงในปี 2531 เนื่องจากกลุ่มผู้เลี้ยงปลาตู้ได้นำเข้ามาจากต่างประเทศ จากนั้นหอยเชอรี่ได้ขยายพันธุ์อย่างรวดเร็ว จึงได้ปล่อยลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ จนระบาดกัดกินต้นข้าวเสียหายอย่างหนักใน 60 จังหวัด แต่ปัจจุบันสถานการณ์ได้เปลี่ยนไป หลังจากเริ่มมีการนำหอยเชอรี่มารับประทาน และพบว่าเนื้อมีรสชาติอร่อย ประกอบกับผลการวิจัย ระบุว่าเนื้อหอยเชอรี่มีโปรตีนสูง จึงได้เริ่มทดลองนำหอยเชอรี่มาเลี้ยง คัดขนาดและคัดสายพันธุ์ จนได้สายพันธุ์ที่มีรสชาติอร่อย เนื้อนุ่ม หวาน กรอบ และเปลือกหุ้มตัวหอยมีสีทอง จึงถูกเรียกว่าหอยเชอรี่สีทอง

           “เดิมผมทำการเกษตรกรเชิงเดี่ยวแต่ไม่ประสบผลสำเร็จ ประกอบกับการที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยคณะเกษตรศาสตร์ได้ดำเนินโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย หรือ U2T โดยเลือก ต.โนนฆ้อง เป็นพื้นที่ดำเนินการโครงการดังกล่าวจึงมีการหารือร่วมกันระหว่างชุมชนและนักวิชาการ รวมทั้งนักวิจัย ในการตอบโจทย์ชุมชน ซึ่งเดิมเกษตรกรในพื้นที่เลี้ยงหอยเชอรี่ในบ่อน้ำ หนองน้ำหรือเลี้ยงในบ่อ ซึ่งเมื่อทีมนักวิชาการและนักวิจัยได้ลงพื้นที่ จึงมีการสร้างกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ รวมไปถึงการจัดตั้งวิสาหกิจชุมชน จึงตัดสินใจเข้าร่วมโครงการจนสามารถมีผลผลิตออกจำหน่ายสู่ตลาดได้แล้ววันนี้ ซึ่งขณะนี้ราคาจำหน่ายหอยเชอรี่สีทองหากขายทั้งลูกราคาจะอยู่ที่กิโลกรัมละ 200 บาท แต่หากแกะขายเฉพาะเนื้อราคาก็จะเพิ่มขึ้นเป็นกิโลกรัมละ 500 – 800 บาท แต่ปัจจุบันผลผลิตที่ได้ก็ยังไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาด ทำให้ขณะนี้คนในพื้นที่มีคนสนใจที่จะเลี้ยงหอยเชอรี่สีทองเป็นจำนวนมากยิ่งขึ้นเพราะว่าหอยเชอรี่นั้นขายได้ทั้งตัว ตามการรับซื้อและออเดอร์การสั่งซื้อของผู้บริโภคในกลุ่มต่างๆ”

           รศ.ดร.ไกรเลิศ ทวีกุล อาจารย์ประจำคณะเกษตรศาสตร์ มข. กล่าวว่า แม้ว่าหอยเชอรี่สีทองจะเป็นสัตว์ที่เลี้ยงง่าย มีขั้นตอนการเลี้ยงที่ไม่สลับซับซ้อน แต่ก็มีเกษตรกรจำนวนไม่น้อยที่ไม่ประสบความสำเร็จ มข.โดยโครงการ U2T จึงได้เข้ามาช่วยเหลือให้ความรู้เกี่ยวกับการเลี้ยงที่ถูกต้อง เพื่อยกระดับหอยเชอรี่สีทอง จากศัตรูของไร่นา ให้กลายเป็นสัตว์เศรษฐกิจ พร้อมขยายองความรู้ไปสู่พื้นที่อื่นๆ เพื่อขยายเครือข่ายและรวมกลุ่มกันเป็นวิสาหกิจชุมชน สร้างรายได้ให้กับชาวบ้านอย่างยั่งยืน ซึ่งขณะนี้เกษตรกรผู้เลี้ยงหอยเชอรี่สีทอง ในเขต บ.โนนฆ้อง ได้มีการจัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชน ดำเนินการบริหารจัดการโครงการเลี้ยงหอยเชอรี่สีทอง ได้อย่างเป็นระบบและได้มาตรฐาน และมีตลาดรับซื้อทั้งในประเทศและต่างประเทศได้มนจำนวนเพิ่มมากขึ้น

Leave a Response

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง