อำเภอน้ำพองเอาจริง ตรวจสอบชาวบ้านเผาไร่อ้อย เตรียมเอาผิดตาม พ.ร.บ.สาธารณสุขและ พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม ขอความร่วมมือห้ามเผาทุกกรณีไม่ว่าจะไร่นาตัวเองก็ถือว่ามีความผิด ด้านเจ้าของไร่อ้อยเผยจำเป็นต้องเผาเพื่อไถกลบรอปลูกใหม่ ทำได้ไม่ผิดเพราะไม่ได้เผาพร้อมกันเปลี่ยนกันเผาแค่ 2 เดือนก็หมด ขณะที่ชาวบ้านอยากให้แก้ปัญหาเรื่องใบอ้อยหลังตัดเสร็จ เปลี่ยนจากเผาให้นำไปเป็นประโยชน์ด้านเชื้อเพลิงหรือทำปุ๋ยแทน
จากกรณีที่ประชาชนในพื้นที่บ้านห้วยไผ่ ม.1 ต.น้ำพอง อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น เดือดร้อนจากควันและฝุ่นละออง จากการเผาไร่อ้อยของเกษตรกรปลูกอ้อยในพื้นที่นั้น
เมื่อเวลา 13.00 น.วันที่ 27 มกราคม 2565 ผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยจากนายเลอศักดิ์ เถื่อนพาชิน ปลัดอำเภอฝ่ายปกครอง อำเภอน้ำพอง จ.ขอนแก่น ว่า เนื่องจากมีประชาชนถ่ายภาพละอองเขม่าจากการเผาอ้อยตกใส่บริเวณบ้าน ทำให้พื้นบ้านกลายเป็นลายขาวดำทั้งหมด นายอำเภอจึงสั่งการให้ลงพื้นที่ตรวจสอบจุดที่ประชาชนเดือดร้อน ซึ่งพบว่าเป็นเรื่องจริง ซึ่งทราบว่า ก่อนจะเกิดละอองสีดำปลิวมาตกที่บ้านนั้น มีเกษตรผู้ปลูกอ้อยในพื้นที่ ทำการเผาไร่อ้อย
ซึ่งจากการตรวจสอบจุดที่ทำการเผาไร่อ้อยนั้น มีพื้นที่หลายไร่ และทราบว่าเจ้าของที่ดินเป็นชาวอำเภอเขาสวนกวาง จ.ขอนแก่น จึงได้ทำการออกหนังสือ เพื่อส่งไปยังเจ้าของที่ดิน ให้มาชี้แจงถึงกรณีการเผาไร่อ้อยดังกล่าว
“ขณะนี้ทางอำเภอตรวจสอบแล้วและพบจุดที่มีการเผาแล้ว แต่ไม่ได้บอกว่าเจ้าของที่ดินเป็นคนเผา เพราะต้องมีการตรวจสอบก่อนว่าที่ดินดังกล่าวเจ้าของที่ดินปลูกอ้อยเอง หรือใครเป็นคนปลูก และใครเป็นคนเผา ซึ่งทั้งหมดจะต้องหารายละเอียดให้ครบถ้วน หากพบตัวคนเผา หรือทราบว่าคนเผาคือใครจ ก็จะแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อเรียกตัวมารับทราบข้อกล่าวหาตามความผิด พ.ร.บ.สาธารณสุขและ พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม”
นายเลอศักดิ์ เถื่อนพาชิน ปลัดอำเภอฝ่ายปกครอง อำเภอน้ำพอง กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมา นายอำเภอ และโรงงานน้ำตาล รวมถึงสมาคมชาวไร่อ้อย ได้มีการทำเอ็มโอยูกันว่า โรงงานน้ำตาลจะรับซื้ออ้อยสดที่ไม่ผ่านการเผา ส่วนใครที่เผาอ้อยจะรับซื้อภายหลัง เพราะโรงงานไม่สนับสนุนให้เกษตรกรเผาอ้อย เนื่องจากความหวานลดลง และเกิดมลภาวะ ซึ่งทางอำเภอได้ทำหนังสือแจ้งไปยังผู้ใหญ่บ้าน กำนัน เพื่อแจ้งให้เกษตรกรปลูกอ้อยทราบและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดว่าห้ามเผาอ้อยโดยเด็ดขาด เพราะนอกจากขายไม่ได้ราคาแล้ว ยังผิดกฎหมายและสร้างมลพิษ PM2.5 ด้วย และขอย้ำว่า การเผาไร่อ้อยนั้น แม้ว่าจะเป็นทรัพย์สินของเกษตรกรเอง แต่สร้างความเดือดร้อนให้ประชาชนส่วนใหญ่ ก็ถือว่าทำผิดกฎหมายเช่นกัน จึงขอให้เกษตรกรปลูกอ้อยเลิกเผาไร่อ้อย
ในเวลาต่อมาผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ไร่อ้อย พบกับ นายทวี จันทรลม อายุ 58 ปี ชาวบ้านหนองหญ้ารังกา ต.น้ำพอง อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น เกษตรกรปลูกอ้อย และตัดอ้อยสดเอง กล่าวว่า ในทุกปี ช่วงที่โรงงานน้ำตาลเปิดหีบ รับซื้ออ้อย ส่วนมากเกษตรกรที่ปลูกอ้อยก็จะทำการเผาอ้อย จนถือเป็นเรื่องปกติ แม้ทางราชการประกาศห้าม แต่ก็ยังเผากันอยู่ดี เพราะรถตัดอ้อยมีน้อยไม่เพียงพอต่อความต้องการของเกษตรกร ที่ต้องการขายอ้อย นำเงินมาใช้หนี้ เพราะการทำไร่อ้อยลงทุนด้วยเงินจำนวนมาก ในขณะที่ปุ๋ยมีราคาแพงขึ้น อีกทั้งการเผาไร่อ้อยนั้นทำให้ตัดง่าย แรงงานก็หาง่าย แต่ถ้าตัดอ้อยสดเอง ที่เป็นการตัดด้วยมือนั้น หาแรงงานยาก เพราะตัดยาก
“ผมตัดอ้อยเอง เพราะไม่อยากเผา เพราะอ้อยที่ผ่านการนเผา ขายไม่ได้ราคา จึงจำเป็นต้องตัดอ้อยสดด้วยมือตัวเอง แม้จะช้าก็ต้องอดทน โดยขณะนี้ได้จ้างแรงงานมาช่วยตัดอ้อย 1 คน ด้วยการจ้างในราคามัดละ 10 บาท 1 มัดต้องมีอ้อย 10 ลำ เมื่อตัดเรียบร้อยโรงงานจะส่งรถบรรทุกมาเก็บอ้อยที่สวนกลับไปที่โรงงาน ส่วนการเผาอ้อยที่ทางราชการบอกว่า ผิดกฎหมายนั้น เกษตรกรเข้าใจ แต่ต้องทำ เพราะง่ายต่อการตัดและเชื่อว่าเกษตรกรปลูกอ้อย จะทำเช่นนี้ตลอดไป เพราะถึงแม้ว่าจะไม่เผาอ้อยก่อนตัด แต่หลังจากตัดอ้อยเสร็จก็ต้องทำการเผาใบอ้อยเหมือนเดิม”
ในขณะที่ นาง ไพรศรี ชุมพล อายุ 62 ปี ชาวบ้านห้วยไผ่ ม.1 ต.น้ำพอง อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น ซึ่งมีบ้านอยู่ในพื้นที่ ที่มีไร่อ้อยของชาวบ้านล้อมรอบจำนวนมาก เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า ชาวบ้านเริ่มเผาอ้อยในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา แต่การเผานั้นไม่ใช่เผาแล้วตัด แต่จะเป็นการตัดอ้อยสดไปแล้วเผาใบ ในทุกๆเย็นจะเห็นการเผาไร่อ้อยอยู่ทุกทิศทาง มีทั้งการเผาแล้วตัด ตัดแล้วเผาใบ และบางไร่ก็อยู่ระหว่างการตัดอ้อยสดใส่รถบรรทุก
การเผาอ้อยก่อนตัด หรือตัดแล้วเผาใบ ก็ส่งผลให้เกิดเป็นควันดำลอยโขมงขึ้นบนท้องฟ้า พร้อมกับมีเถ้าจากการเผาลอยมาตกใส่บ้านจำนวนมาก ทำได้เพียงเก็บกวาดเช็ดถูกเท่านั้น เพราะไม่สามารถพูดอะไรได้ ซึ่งส่วนตัวมองว่า นโยบายต่างๆของทางจังหวัดหรือทางอำเภอที่ออกประกาศมาว่าห้ามเผานั้นไม่ได้ผล เพราะแม้ว่าจะไม่เผาอ้อยสดแต่ก็ยังเผาใบอยู่ ทั้งนี้ใบอ้อยนั้นอยากให้หาแนวทางกำจัดแบบที่ไม่เป็นมลภาวะเช่นการทำปุ๋ยหมัก การนำไปทำน้ำมันไปโอดีเซล ถ้าเป็นไปได้ก็อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหาวิธีการกำจัดใบที่ไม่เป็นมลภาวะทางอากาศ ซึ่งการเผาใบนั้นจะใช้เวลาเผานานกว่าการเผาอ้อยสดแล้วตัด เพราะการเผาอ้อยสดแล้วตัดแค่พรึบเดียวก็หมด แต่ถ้าเผาใบก็จะค่อยๆไหม้สร้างกลุ่มควันจำนวนมาก
Leave a Response