ชาวขอนแก่นออกล่าอึ่งอ่างทั้งคืน หลังราคาพุ่งสูงเฉียดตัวละเกือบ 10 บาท อ้วน-อวบ-หอม-หวาน-มัน-ไร้สารพิษ เมนูประจำถิ่นชั้นเลิศ 1 ปี มี 1 ครั้งเท่านั้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 00.30 น. วันที่ 11 ก.ค. 2564 ที่ บ.เลิง ต.โคกสี อ.เมือง จ.ขอนแก่น ชาวบ้านในพื้นที่ได้พากันออกมาล่าอึ่งอ่าง เมนูอาหารพื้นบ้านประจำถิ่น ในทุกช่วงฤดูฝนที่คนอีสานเฝ้ารอมาตลอดทั้งปี ที่สามารถออกหาจับตามธรรมชาติมารับประทานและจำหน่ายได้ในช่วงเดือน มิ.ย.-ก.ค.เรียกได้ว่าเป็นเมนูประจำถิ่นที่ 1 ปี สามารออกล่าได้เพียง 1 ครั้งเท่านั้น ด้วยอุปกรณ์ที่คิดค้นและประดิษฐ์ขึ้นจากภูมิปัญญาชาวบ้าน ซึ่งในการออกล่าอึ่งอ่างนั้นจะต้องออกหาในช่วงที่ฝนกำลังตกหรือเพิ่งที่จะหยุดตกใหม่ๆเท่านั้นเนื่องจากอึ่งอ่าง จะออกมาหากินและผสมพันธุ์ รวมทั้งการเล่นน้ำฝนและส่งเสียงร้องไปทั่วทั้งบริเวณ
โดยในการออกล่าอึ่งนั้นชาวบ้าน บ.เลิง จะมีอุปกรณ์หลักอยู่ 5 อย่างสำคัญประกอบด้วย รองเท้าบูธ ที่ทุกคนต้องสวมใส่เนื่องจากป้องกันสัตว์มีพิษต่างๆรวมทั้งการลุยโคลนในการออกล่า, ไฟหม้อแบตแบบติดตั้งที่ศีรษะสำหรับการใช้เป็นแสงสว่างส่องไปในระดับสายตาที่ต้องมีประจำตัวตัวของแต่ละคน, ถุงเขียวหรือถุงตาข่ายที่ทำขึ้นเองแบบขนาดพกพาสะดวก, ไม้ตะปบ ที่ทำขึ้นเองจากตาข่ายที่นำมาถักเป็นถุงโดยปากถุงมีขนาดความยาวของเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 30 ซม.เย็บยึดติดกับขดลวดให้เป็นลักษณะวงกลมแบบถุง จากนั้นนำไม้ไผ่ขนาดความยาวประมาณ 2 เมตรมาทำเป็นด้ามเพื่อให้สามารถที่จะตะปบและตะครุบอึ่งอ่างได้ในรัศมีที่กำหนด และสุดท้ายคือถังใส่อึ่งอ่างที่ต้องใส่น้ำในระดับพอเหมาะและต้องเจาะรูหรือเปิดฝาได้เพื่อให้อึ่งอ่างนั้นหายใจได้เมื่อถูกจับนำมารวมกัน โดยถังเก็บอึ่งอ่างนั้นต้องมีทรงสูงเพื่อไม่ให้อึ่งอ่างที่จับได้กระโดดหลบหนีออกไปได้
นายฉัตรชัย ปุระณะ อายุ 44 ปี ชาวบ้านบ้านเลิง ต.โคกสี อ.เมือง จ.ขอนแก่น กล่าวว่า อึ่งอ่างเป็นสัตว์ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ โดยเฉพาะที่บ้านเลิง แห่งนี้ที่เป็นชุมชนที่ทำการเกษตรทำให้มีแหล่งน้ำและพื้นที่ทำการเกษตรจำนวนมาก ทำให้ในระยะนี้ที่มีฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่องอึ่งอ่างที่สิ้นสุดฤดูของการจำศีลจึงออกมาผสมพันธุ์ และหาอาหารกินทำให้คนในชุมชนที่ยังคงดำเนินชีวิตแบบวิถีอีสานจึงพากันออกมาจับอึ่งอ่างตามท้องไร่ ท้องนา ตามแหล่งน้ำหรือแม้กระทั่งข้างถนน เพื่อนำมาจำหน่ายและรับประทาน โดยอึ่งอ่างที่จับได้ที่บ้านเลิงส่วนใหญ่คืออึ่งแดงและอึ่งเพ้า เท่านั้น
“ผมเดินหาอึ่งอ่างกับน้องชายเพียงแค่ชั่วโมงเดียวได้อึ่งแดงและอึ่งเพ้ามากถึง 7 กก. ซึ่งส่วนใหญ่จะนำไปรับประทานอาหาร ขณะที่เพื่อนบ้านจะออกล่าเพื่อนำไปจำหน่ายซึ่งราคาจำหน่ายขณะนี้เริ่มต้นที่ กก.ละ 150บาท สูงสุดอยู่ที่ กก.ละ 250 บาท หาได้เท่าไหร่พ่อค้าคนกลางก็มารับซื้อถึงบ้านจนหมด ซึ่ง 1 กก.นั้นจะมีอึ่งอ่างประมาณ 25-30 ตัว ซึ่งหากนับจำนวนตัวในราคาจำหน่ายต่อ กก. ราคาอึ่งอ่างพื้นบ้านนั้นจะตกอยู่ที่ตัวละเกือบ 10 บาทเลยทีเดียว ขณะที่อึ่งยางหรืออึ่งอ่างที่มีตัวสีน้ำตาลลายคาดเหลืองนั้นจะไม่ค่อยนิยมนำมารับประทาน ซึ่งหากจับได้ก็จะปล่อยกลับคืนสู่ธรรมชาติ และยิ่งหน้าฝนอย่างนี้และเป็นฝนแรกที่ขอนแก่น ตกมาตลอดทั้งสัปดาห์ทำให้นักล่าอึ่งอ่างออกมาล่าอึ่งอ่างกันแทบทุกคืนเพราะอึ่งอ่างขณะนี้มีแต่ไข่ไม่มีขี้ และหากหลังสิ้นสุดฤดูหนาวก็จะเข้าสู่ฤดูจำศีลหากจับมารับประทานในท้องก็จะมีแต่แมลงและแมง ดังนั้นอึ่งอ่างที่จับได้ช่วงนี้ไข่จะเยอะ ตัวจะอ้วน อวบ อึ้ม อั้น มีกลิ่น หอม หากนำไปปรุงอาหาร จะหวาน จะมัน ได้รสชาติแบบอีสานขนานแท้เลยทีเดียว”
นายฉัตรชัย กล่าวต่ออีกว่า ครอบครัวนิยมรับประทานพื้นบ้านและอาหารประจำถิ่นอยู่แล้ว ยิ่งอึ่งอ่างในช่วงนี้ที่ออกมาใหม่ในฤดูผสมพันธุ์ จึงง่ายต่อการจับอย่างมาก เพียงแค่ส่องไฟไปตามท้องไร่ ท้องนา ตามแหล่งน้ำ หรือริมถนน เมื่อสายตาหรือตัวของอึ่งอ่างกระทบกับแสงไฟก็จะสะท้อนให้เห็นทันที เหล่านักล่าจึงต้องรับกรูกันเข้าไปจับด้วยการใช้ไม้ตะปบ หรือใช้มือจับกันอย่างสนุกสนาน ล้มลุกคลุกคลานกันแทบทุกครั้ง และเมื่อจับกลับมาได้ก็จะนำมาเก็บไว้รวมกัน แต่อึ่งแดงต้องใช้ถังทรงสูงหรือใช้ฝาปิดเพราะอึ่งแดงชอบกระโดหนีเนื่องจากตัวจะเล็ก ขณะที่อึ่งเพ้าตัวจะใหญ่ ขณะที่เมนูยอดนิยมของอึ่งอ่างนั้นคือต้มย้ำอึ่งอ่าง ใส่สมุนไพรไทย,อึ่งย่าง,อึ่งอบ,อึ่งทอดกระเทียม,ผัดเผ็ดอึ่งอ่าง,อึ่งอ่างแดเดียว,กระเพราอึ่งอ่าง หรือจะนำไปทำน้ำปลาร้าก็จะอร่อยนัวไปอีกแบบ ขณะที่บางครอบครัวก็นำอึ่งอ่างแช่เข็งเพื่อเก็บไว้รับประทานตามความต้องการในวันต่อๆไปตามวิธีของการถนอมอาหารก็อร่อยไปอีกแบบอีกด้วย
Leave a Response