แห่งแรกของไทย มข.โชว์นวัตกรรมแบตเตอรี่ยุคใหม่ที่ผลิตจากแกลบ ต่อยอดเชิงพาณิชย์ในกลุ่มธุรกิจพลังงานทดแทนที่ครบวงจร

เมื่อวันที่ 11 ก.พ.2565 ที่อุทยานวิทยาศาสตร์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มหาวิทยาลัยขอนแก่น หรือ มข. รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดี มข.พร้อมด้วย รศ.ดร.นงลักษณ์ มีทอง หัวหน้าโครงการโรงงานต้นแบบผลิตวัสดุสำหรับขั้วไฟฟ้าในแบตเตอรี่ชนิดลิเทียมไอออนระดับเซลล์ มข.และคณะนักวิจัยร่วมชมผลงานวิจัยจากคณะนักวิจัย มข.ที่สามารถผลิตวัสดุนาโนสำหรับแบตเตอรี่จากแกลบ สำเร็จเป็นครั้งแรกของประเทศไทย สำหรับการใช้เป็นพลังงานทดแทนเชิงพาณิชย์ ตามแนวทางการวิจัยที่ มข.กำหนดโดยมีนักวิชาการให้ความสนใจร่วมชมผลงานเป็นจำนวนมาก

รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดี มข.กล่าวว่า กับความสำเร็จที่เกิดขึ้นจากผลงานของนักวิจัยและคณาจารย์ มข. ในการทำเซลล์แบตเตอรี่ลิเที่ยมไอออน ก้าวต่อไปคือการวางแผนที่จะทำออกมาให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายรูปแบบ แม้ขณะนี้จะเป็นแบตเตอรี่ขนาด 3-5 กิโลวัตต์ ซึ่งสามารถที่จะใช้ในแง่ของการจัดเก็บพลังงานหรือใช้ในยานยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็กรวมทั้งตอนนี้ มข.มีโครงการที่ทำเป็นแบตเตอรี่สำหรับรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า รวมทั้งมีผลิตภัณฑ์อื่นๆ คือในกลุ่มรีโมทคอนโทรล หรือการใช้แบตเตอรี่กับอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่เป็นชุดสำหรับป้องกันโควิด และก้าวต่อไปคือการเปลี่ยนเป็นแบตเตอรี่ที่มีขนาดตั้งแต่ 2-10 เมกกะวัตต์ ที่ มข.กำลังจะทำโรงงานต้นแบบให้เป็นโรงงานแบตเตอรี่จริงๆ

“สำหรับโรงงานเราจะเริ่มตอนนี้เราอยู่ระหว่างการวางแผนทำสายการผลิตเช่นการสั่งซื้อเครื่องแพคอัตโนมัติ การเจรจากับผู้ที่ต้องการแบตเตอรี่ ที่ทำจากแกลบ ซึ่งก็มีติดต่อมาหลายบริษัท เช่นบริษัทที่เป็นจักรยานยนต์ไฟฟ้า รวมทั้งในส่วนของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยที่ต้องการแบตเตอรี่ ที่จะใช้เป็นแบตเตอรี่สำหรับการกักเก็บพลังงานรวมทั้งที่เราทำออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ภายในหน่วยงานของมหาวิทยาลัย คือเริ่มจากการนำไปใช้ในรีโมทคอนโทรลแอร์ซึ่งได้เปลี่ยนจากถ่านอัลคาไลน์มาเป็นถ่านลิเทียมไอออน”

รศ.ดร.นงลักษณ์ มีทอง หัวหน้าโครงการโรงงานต้นแบบผลิตวัสดุสำหรับขั้วไฟฟ้าในแบตเตอรี่ชนิดลิเทียมไอออนระดับเซลล์ มข.

รศ.ดร.นงลักษณ์ มีทอง หัวหน้าโครงการโรงงานต้นแบบผลิตวัสดุสำหรับขั้วไฟฟ้าในแบตเตอรี่ชนิดลิเทียมไอออนระดับเซลล์ มข. กล่าวว่า โครงการโรงงานต้นแบบผลิตวัสดุสำหรับขั้วไฟฟ้าแบตเตอรี่จากแกลบ ดำเนินการทดสอบการผลิตวัสดุนาโนซิลิกอนจากแกลบสำหรับใช้เป็นขั้วไฟฟ้าแอโนดในแบตเตอรี่ชนิดลิเทียมไออนในระดับโรงงานต้นแบบ เพื่อเป็นวัตถุดิบผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไออนในเชิงพาณิชย์ โดยเป็นความร่วมมือระหว่าง 3 หน่วยงานที่มองเห็นโอกาสในการพัฒนาและต่อยอดงานวิจัยในระดับห้องปฎิบัติการออกสู่เชิงพาณิชย์ ประกอบด้วย มข.,บ.อาร์พีซีจี จำกัด (มหาชน) และ บริษัท เพทโทร-อินสตรูเมนท์ จำกัด ซึ่งการพัฒนาเทคโนโลยีสำหรับการผลิตวัสดุนาโนซิลิกาจากแกลบ ในการพัฒนาเทคโนโลยีสำหรับการสกัดวัสดุนาโนซิลิกอนโดยใช้วัสดุนานซิลิกาเป็นวัตถุดิบ และพัฒนาขั้ววัสดุขั้วไฟฟ้าแอโนดจากวัสดุนาโนซิลิกอนที่เหมาะสในแบตเตอรี่ชนิดลิเทียมไออนที่มีค่าความจุไฟฟ้าสูง ปลอดภัย และรองรับการอัดประจุอย่างรวดเร็ว

“สำหรับโปรเจคนี้ที่ทำจากแกลบคือเรามองจากมุมต่อมุมก็คือมุมของคนทำวัสดุที่เรารู้ว่าในแกลบ นั้นมีซิลิก้าอยู่ซึ่งสามารถเอาไปเป็นซิลิกอนที่สามารถใช้เป็นขั้วในแบตเตอรี่ที่มีประสิทธิภาพดีได้ คือในเชิงเทคนิคเรารู้อยู่แล้วว่าทำแบบนี้ได้ จึงนำมาทดสอบในอุปกรณ์จริง ขณะเดียวกันในอีกมุมหนึ่งคือมุมของเกษตรกรที่ ปัจจุบันนี้คนภาคอีสานเราค่อนข้างมีรายได้น้อยและอาชีพเกษตรกรโดยเฉพาะชาวนาก็ต้องพึ่งพาหลายอย่างมาก คณะทำงานจึงคิดว่าการที่จะขายแต่ข้าว ก็ควรให้ชาวนานั้นขายได้ทั้งแกลบและข้าว เพื่อเป็นวัตถุตั้งต้นของอุตสาหกรรมหนัก ดังนั้นจึงเข้าสู่ขั้นตอนของการนำแกลบมาสู้งานวิจัยในห้่องแลป ซึ่งวัสดุนาโนซิลิกาที่ผลิตได้นั้นมีความบริสุทธิ์สูงกว่า 99.95% และมีขนาดเล็กถึง 10-30 นาโนเมตร ซึ่งวัสดุนาโนซิลิกาที่ผลิตได้นี้ นอกจากจะเป็นวัตถุดิบสำหรับการผลิตนาโนซิลิกอนแล้วยังมีศักยภาพที่สามารถนำไปใช้งานเชิงพาณิชย์ในด้านต่างๆได้เช่นเป็นส่วนประกอบของเครื่องสำอาง วัสดุทางการแพทย์และทันตกรรม ปุ๋ยและยาฆ่าแมลง ด้านนิติวิทยาศาสตร์ หรือการเพิ่มความแข็งแรงให้กับผลิตภัณฑ์ยาง โดยมีคุณลักษณะตามาตรฐราน มอก.”

รศ.ดร.นงลักษณ์ กล่าวต่ออีกว่า วัสดุนาโนซิลิกอน ที่ลิตได้นี้ เหมาะสำหรับการนำไปใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับการทำขั้วไฟฟ้าแอโนดในแบตเตอรี่ชนิดลิเทียมไออน รวมถึงศักยภาพทีทใช้เป็นสารตั้งต้นในอุตสาหกรรมสารกึ่งตัวนำในวงจรอิเล็กทรอนิกส์ และเซลล์แสงอาทิตย์ อย่างไรก็ตามจากการวิจัยดังกล่าว ทำให้ขณะนี้ มข.ได้ทำการยื่นจดทรัพย์สินทางปัญญาแล้ว 3 ฉบับ ที่เกี่ยวข้องกับเครื่องมือ กระบวนการผลิต และวัสดุนาโนจากแกลบ รงมถึงส่งมอบต้นแบบจำนวน 4 ผลิตภัณฑ์ ที่สามารถต่อยอดเชิงพาณิชย์ ได้แก่ วัสดุนาโนซิลิกา ,วัสดุนาโนซิลิกอน,วัสดุสำหรับทำขั้วไฟฟ้า และต้นแบบเซลล์แบตเตอรี่ชนิดลิเทียมไออน ที่ทำจากแกลบ ซึ่งจะมีการหารือร่วมกันร่วมระหว่างหน่วยงานเพื่อหาแนวทางและโอกาสต่อยอดผลิตภัณฑ์และทรัพย์สินทางปัญญาในเชิงพาณิชย์ต่อไปในอนาคต

Leave a Response

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง