กศน.พร้อมจัด “มหกรรม 1 กศน.ตำบล 1 หลักสูตรอาชีพคุณภาพ” โชว์ผลงานกลุ่มจังหวัดภาคอีสานจากผลิตภัณฑ์ประจำถิ่นนับ 100 รายการ ตามแนวทางการขับเคลื่อนนโยบายการจัดการศึกษาเพื่อการมีงานทำ
เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 22 ก.พ.2565 ที่ศูนย์ประชุมอเนกประสงค์กาญจนาภิเษก มหาวิทยาลัยขอนแก่น น.ส.ทรงศรี วิระรังษิยาภรณ์ รองเลขาธิการ กศน. พร้อมด้วย นายพันธ์เทพ เสาโกศล รอง ผวจ.ขอนแก่น และนายถาวร พลีดี ประธานกลุ่มสำนักงาน กศน.กลุ่มร้อยแก่นสาร ร่วมกันแถลงข่าวการจัดมหกรรม 1 กศน.ตำบล 1 หลักสูตรอาชีพคุณภาพ ซึ่งสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย หรือ กศน.ได้กำหนดจัดกิจกรรมขึ้น ในระหว่างวันที่ 11-12 มี.ค.ที่จะถึงนี้ ณ ศูนย์ประชุมอเนกประสงค์กาญจนาภิเษก มหาวิทยาลัยขอนแก่น จ.ขอนแก่น ท่ามกลางความสนใจจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมในการแถลงข่าวอย่างพร้อมเพรียง
น.ส.ทรงศรี วิระรังษิยาภรณ์ กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการได้กำหนดนโยบายการจัดการศึกษาและภารกิจเร่งด่วน เพื่อขับเคลื่อนการจัดการศึกษาที่มุ่งพัฒนาทักษะอาชีพ ส่งเสริมการจัดการศึกษาที่เน้นพัฒนาทักษะอาชีพของผู้เรียน เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต สร้างอาชีพและรายได้ รวมทั้งเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยมอบหมายให้สำนักงาน กศน. ดำเนินการส่งเสริมการจัดการศึกษาพัฒนาอาชีพเพื่อการมีงานทำ เน้นหนักในกลุ่มผู้ทีได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19
โดยที่ กศน. ได้จัดทำหลักสูตรเพื่อพัฒนาอาชีพ ใน 5 กลุ่มอาชีพ ซึ่งประกอบด้วย กลุ่มอาชีพเกษตรกรรม, อุตสาหกรรม, พาณิชยกรรมและบริการ ความคิดสร้างสรรค์ และอาชีพเฉาะทาง รวมทั้งสิ้น 10 หลักสูตร โดยในการจัดทำหลักสูตรนั้นจะเน้นสภาพปัญหาและความต้องการของสถานศึกษาและประชาชนในพื้นที่ ว่าชุมชนต่างๆนั้นต้องการอะไร มีวัตถุดิบอะไร จากนั้นก็จะเข้าสู่กระบวนการและขั้นตอนในความเป็นไปได้ เพื่อให้คณะทำงานของ กศน.ในระดับตำบลได้ออกแบบการดำเนินงานในการพัฒนาหลักสูตร ที่เรียกได้ว่าเป็นการจัดการแบบองค์รวม จนวันนี้มีตำบลที่ผ่านการอบรมและมีการพัฒนาจนกลายเป็นผลิตภัณฑ์เด่นประจำถิ่นที่จะถูกนำมาแสดงผลงานในงานดังกล่าวรวมกว่า 100 ผลิตภัณฑ์
“นอกจากการดำเนินงานตามความต้องการของชุมชน ที่คณะทำงานของ กศน.จะเข้าพื้นที่พูดคุยและออกแบบการดำเนินงานร่วมกันในด้านต่างๆแบบองค์รวมแล้วนั้น ยังคงมีการเสริมด้านนวัตกรรม และความคิดสร้างสรรค์ รวมทั้งช่องทางทางการตลาด ที่จะเน้นการฝึกทักษะ และความกล้าในกลยุทธทางการขาย คู่ขนานไปกับการหาช่องทางทางการตลาดในพื้นที่ต่างๆ จึงจะเห็นได้ว่าขณะนี้ผลิตภัณฑ์ของแต่ละชุมชนสามารถที่จะถูกนำมาจำหน่ายได้แบบออนไลน์ หรือจำหน่ายผ่านทางเว็บไซต์ ที่ผู้ผลิต ซึ่งก็คือชุมชนนำผลิตภัณฑ์ของตนเองมานำเสนอและจำหน่ายให้กับลูกค้าที่สามารถพูดคุยและเจรจาซื้อขายผ่านช่องทางออนไลน์ได้ในสัดส่วนที่เพิ่มมากขึ้น ในขณะที่การจัดส่งสินค้า กศน.ได้ประสานงานร่วมกับกับ บ.ไปรษณีย์ไทย จำกัด ทำหน้าที่รับและส่งสินค้าจากชุมชนส่งตรงถึงบ้านลูกค้าได้ในราคาที่กำหนดไว้อีกด้วย”
Leave a Response