ขอนแก่น มีปัญหานักใช่มั้ย? เจ้าของที่โผล่ยึดที่คืน

มีปัญหานักใช่ไหม เจ้าของที่ดินที่ให้หมู่บ้านสร้างโรงผลิตน้ำดื่มจากโครงการของกองทุนหมู่บ้าน ขอยึดที่คืนและให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างทั้งหมดออก จะสร้างร้านอาหารตามสั่งแทน หลังเกิดข้อพิพาทคณะกรรมการกองทุนฯแจ้งความจับผู้ใหญ่บ้าน พร้อมร้องเรียนสอบสวนวินัยร้ายแรงอ้างรื้อเครื่องผลิตน้ำดื่มโดยไม่ชอบ ด้านผู้ใหญ่บ้านโต้กลับเป็นเกมส์การเมือง

เมื่อเวลา 13.00 น.วันที่ 23 กุมภาพันธุ์ 2565 ที่ศาลาอเนกประสงค์ บ้านท่าพระเนาว์ ม.6 ต.ท่าพระ อ.เมือง จ.ขอนแก่น จุดที่ตั้งสถานที่ผลิตน้ำดื่มขายประจำหมู่บ้าน นายสุดใจ ศรวิเศษ อายุ 67 ปี ประธานกองทุนหมู่บ้าน พร้อมคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและนายสานิตย์ พันธุ์ทอง อายุ 56 ปี ประธานชุมชน พาผู้สื่อข่าวเดินดูจุดที่เคยติดตั้งเครื่องผลิตน้ำดื่มของหมู่บ้าน มูลค่า 350,000 บาท ที่เคยตั้งอยู่ภายในอาคารสาลาอเนกประสงค์ดังกล่าว แต่ในขณะนี้พบเพียงพื้นที่ว่างเปล่า เนื่องจากเครื่องผลิตน้ำดื่มนั้น ถูกรื้อไปหมดแล้วตั้งแต่เดือนกันยายน 2564 และในขณะที่คณะกรรมการฯพาผู้สื่อข่าวสำรวจบริเวณที่เป็นสถานที่ผลิตน้ำดื่มอยู่นั้น ได้มี นางหนูจี สุวรรณชัย อายุ 60 ปี อยู่บ้านเลขที่ 6 หมู่ 6 บ้านท่าพระเนาว์ ที่มีบ้านอยู่ติดกับที่ผลิตน้ำดื่ม ตะโกนขอความช่วยเหลือ โดยบอกว่าขอที่ดินที่สร้างศาลาอเนกประสงค์หรือสถานที่ผลิตน้ำดื่มคืน

นางหนูจี กล่าวว่า อาคารที่มีปัญหากันนั้นตั้งอยู่บนที่ดินของตนเอง มีโฉนดถูกต้องตามกฎหมาย เมื่อหลายปีก่อนทางผู้ใหญ่บ้านมาขอใช้ที่ดินเพื่อสร้างอาคารผลิตน้ำดื่มประจำหมู่บ้าน ตนเองเห็นว่าจะเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม หมู่บ้านได้มีน้ำกินน้ำใช้ ก็อนุญาตให้ใช้แต่เมื่อมีปัญหากันซึ่งตนเองก็ไม่ทราบว่ามีปัญหาเพราะอะไร ในส่วนนี้ตนเองไม่ขอรับรู้ แต่ต้องการขอที่ดินคืน ส่วนสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินตนเองนั้นก็ขอให้เอาออกไปด้วย เพราะตอนนี้โครงการผลิตน้ำดื่มล้มเหลวไม่สามารถไปต่อได้ และหยุดชะงักมาหลายปีแล้ว และไม่มีโครงการจะทำอะไรอีก โดยจะทำเป็นร้านอาหารตามสั่งให้น้องชาย เพราะตกงานจากสถานการณ์โควิด-19 เดิมทีก่อนหน้านี้ที่บอกจะทำโครงการประปาหมู่บ้านตนเองก็ให้ทำบนที่ดินแปลงนี้เพราะเห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม แต่ก็ล้มเหลว ต่อมามีโครงการจะทำปลาส้มของกลุ่มแม่บ้านก็ไม่มีการทำ จนปัจจุบันไม่มีโครงการอะไรจะมาทำแล้วจึงต้องการที่คืน เพื่อจะให้น้องชายเปิดเป็นร้านอาหารตามสั่ง และได้แจ้งทางผู้ใหญ่บ้านไปทั้งหมดแล้ว และไม่อยากให้เป็นปัญหาเกิดขึ้นบนที่ดินของตนเอง ที่ผ่านมาไม่เคยขัดหากเป็นประโยชน์หมู่บ้าน แต่เมื่อไม่ได้ทำอะไรก็ต้องการขอที่ดินคืนเพียงแค่เท่านี้

นางหนูจี สุวรรณชัย เจ้าของที่ดิน

ด้าน นายสุดใจ ศรวิเศษ อายุ 67 ปี ประธานกองทุนหมู่บ้าน เปิดเผยว่า การตั้งเครื่องผลิตน้ำ ตั้งจากเงินกองทุนหมู่บ้าน จำนวน 350,000บาท โดยมีคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านร่วมกันดูแล เพื่อผลิตน้ำดื่มขาย ซึ่งการตั้งสถานที่ผลิตน้ำดื่มนั้น ได้รับความเห็นชอบจากประชาชนในหมู่บ้าน จึงมีการดำเนินการเรื่อยมา กระทั่งวันที่ 8 กันยายน 2564 พบเห็นการรื้อเครื่องผลิตน้ำออกจากที่ตั้ง ไปเก็บรักษาที่บ้านผู้ใหญ่บ้าน รู้สึกตกใจ จึงได้สอบถามจากคนที่รื้อ จนทราบว่า รับคำสั่งจากผู้ใหญ่บ้าน ให้มารื้อไปเก็บไว้ จากนั้นได้สอบถามคณะกรรมการว่ามีใครทราบเรื่องการรื้อเครื่องสูบน้ำในที่ผลิตน้ำดื่มหรือไม่ กรรมการทุกคนต่างบอกว่าไม่ทราบเรื่อง และเมื่อตรวจสอบภายในสถานที่ตั้งพบว่า กุญแจทางเข้าสถานที่ผลิตน้ำดื่มถูกตัดขาด ประตูถูกงัด ถามผู้ใหญ่บ้านก็ไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจน จึงได้ไปแจ้งความกับตำรวจสภ.ท่าพระ ให้มีการลงพื้นที่ตรวจที่เกิดเหตุ และสืบสวนสอบสวนดำเนินคดีกับคนที่รื้อเครื่องผลิตน้ำออกไป รวมทั้งทำหนังสือรายงานให้นายอำเภอเมืองขอนแก่น ทำกาตรวจสอบและเอาผิดทางวินัยกับผู้ใหญ่บ้านด้วย

ขณะที่ นายทศภณ วงษาลี ประธานที่ปรึกษากองทุนหมู่บ้าน กล่าวว่า หลังจากทราบเรื่องจากคณะกรรมการหมู่บ้านในเรื่องของผู้ใหญ่บ้านรื้อเครื่องผลิตน้ำดื่มออกจากสถานที่ผลิต ก็มีการตรวจสอบไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการเอาผิดทางวินัยของผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งทางอำเภอได้ส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่มาทำการตรวจสอบแล้ว โดยมีข้อสรุปว่า ต้องรอให้คดีอาญาสิ้นสุดก่อนจึงจะดำเนินการเอาผิดทางวินัยกับผู้ใหญ่บ้านได้ ในฐานะที่ปรึกษากองทุนเห็นว่า ทางราชการน่าจะมีการตรวจสอบที่ชัดเจนและแยกการดำเนินการเป็นสองส่วน เพราะวินัยกับอาญาการดำเนินการก็ต่างกัน ไม่น่าจะต้องใช้เวลานาน ในขณะที่คณะกรรมการกองทุนต่างก็มีความเห็นว่า ผู้ใหญ่บ้าน ดำเนินการรื้อที่ไม่ถูกต้อง เพราะไม่มีการแจ้งให้คณะกรรมการทราบ โดยในขณะนี้ทราบว่าผู้ใหญ่บ้านรื้อเครื่องผลิตน้ำไปเก็บไว้บ้านตัวเอง น่าเชื่อได้ว่ามีความผิดทางอาญาที่ทำให้เสียทรัพย์ที่ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ประทุษร้ายต่อทรัพย์โรงน้ำดื่มประชารัฐของกองทุนหมู่บ้านท่าพระ หมู่ที่ 6 จึงรวมาตัวร้องเรียนสื่อมวลชนให้ตรวจสอบการดำเนินการทั้งทางวินัยและอาญาของผู้ใหญ่บ้านจากหน่วยงานที่รับผิดชอบด้วย

ในเวลาต่อมาผู้สื่อข่าวได้เดินทางเข้าพบ นายนิรันดร จันทรโสภา อายุ 52 ปี ผู้ใหญ่บ้าน บ้านท่าพระเนาว์ ม.6 และสอบถามถึงกรณีที่ถูกร้องเรียนเรื่องการรื้อเครื่องผลิตน้ำดื่มของกองทุนหมู่บ้าน นายนิรันดร กล่าวว่า โรงผลิตน้ำดื่มดังกล่าว ก่อตั้งขึ้นจากเงินกองทุนหมู่บ้าน จำนวน 350,000 บาท เพื่อผลิตน้ำดื่มขายให้ประชาชนในพื้นที่ ซึ่งมีคณะกรรมการกองทุนร่วมกันดูแล ซึ่งการผลิตน้ำดื่มขายนั้น ผลิตได้ แต่ขายได้ไม่คุ้มทุน เนื่องจากในแต่ละเดือนต้องมีค่าใช้จ่ายทั้งค่าน้ำประปาที่นำมาผลิตน้ำดื่มเดือนละ 3,000 บาท ค่าไฟ จำนวน 3,000 บาท แต่การขายน้ำดื่ม มีรายได้ไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่าย จึงได้หยุดการผลิตน้ำดื่มไป 4 ปี

ต่อมารัฐบาล มีโครงการความมั่นคนด้านอาชีพและรายได้ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง ให้ทางอำเภอทำการสำรวจตามหมู่บ้าน ว่าหมู่บ้านใด ทำอาชีพอะไร ให้คัดเลือกเข้าร่วมโครงการดังกล่าว โดยรัฐบาลจะสนับสนุนงบประมาณให้ ในฐานะผู้ใหญ่บ้าน จึงนำโครงการผลิตปลาส้ม ยื่นเข้าไปสู่กระบวนการคัดเลือกต่อทางอำเภอ ปรากฏว่าได้รับการคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการ เมื่อได้รับการคัดเลือกก็จะมีเจ้าหน้าที่ทางอำเภอลงพื้นที่มาดูสถานที่ ที่จะใช้เป็นที่ผลิตและจำหน่ายปลาส้ม จึงใช้อาคารในสถานที่ผลิตน้ำดื่ม เป็นที่ผลิตและจำหน่ายปลาส้ม การสำรวจของเจ้าหน้าที่ผ่านไปด้วยดี

“ตอนนี้โครงการผลิตและจำหน่ายปลาส้มต้องชะงัก เพราะมีการแจ้งความทั้งอาญาและทางวินัยในเรื่องของการรื้อเครื่องผลิตน้ำดื่ม เจ้าหน้าที่ตำรวจสั่งอายัดพื้นที่และอายัดเครื่องผลิตน้ำ โครงการผลิตและจำหน่ายปลาส้มจึงไปต่อไม่ได้ จนกว่าคดีความทางอาญาและวินัยจะจบลง”

ผู้ใหญ่บ้านกล่าวต่ออีกว่า โดยความเห็นส่วนตัวนั้น ปัญหาที่เกิดขึ้นในเรื่องการรื้อเครื่องผลิตน้ำนั้น รื้อเพื่อส่งเสริมโครงการอื่นที่สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้ชาวบ้านในชุมชน แต่กลับสร้างความไม่พอใจให้คณะกรรมการ ที่บางส่วนเป็นคนของนักการเมืองท้องถิ่นที่แพ้การเลือกตั้ง พากันรวมกลุ่มมาร้องเรียน ซึ่งก่อนหน้านี้ทางอำเภอเมืองขอนแก่นก็ลงมาตรวจสอบแล้ว ทางฝ่ายผู้ร้องเรียน ก็ยื่นข้อเสนอว่า ให้นำเครื่องผลิตน้ำกลับไปติดตั้งตามเดิม และให้ลาออกจากการเป็นผู้ใหญ่บ้าน โดยส่วนตัวก็จะปล่อยให้ดำเนินการกันไป จะขอต่อสู้จากข้อมูลความเป็นจริงและไม่กลัวที่ถูกร้องเรียน

ในส่วนของการเรียกร้องที่ดินคืนของนางหนูจีนั้น ผู้ใหญ่บ้านกล่าวว่า ที่ดินดังกล่าวเป็นของนางหนูจีจริง และตนเองได้มีการขอใช้เพื่อทำโครงการโรงผลิตน้ำดื่มของหมู่บ้าน โดยมีข้อตกลงกันว่า ในช่วงที่มีการผลิตน้ำดื่มขายนั้น ให้นางหนูจีเจ้าของที่ดินใช้น้ำประปาฟรี แต่ขณะนี้ไม่มีการผลิตแล้ว เมื่อเกิดปัญหาดังกล่าวขึ้น นางหนูจีก็ได้บอกกับตนเองว่าต้องการที่คืน ในส่วนนี้ตนเองก็ไม่สามารถทำอะไรได้หากเจ้าของที่จะเอาคืน เพราะมีโฉนดถูกต้องตามกฎหมาย คนอื่นไม่มีสิทธิไปสร้างหรือทำอะไรได้อีก ซึ่งทุกฝ่ายก็ต้องยอมรับในส่วนนี้

Leave a Response

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง