ขอนแก่น นักท่องเที่ยวร่วมพิธีเสียเคราะห์สงกรานต์ดั้งเดิมสืบทอดกว่าร้อยปี (มีคลิป)

ชาวบ้านในตำบลสาวะถี อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ร่วมสืบสานงานประเพณีบุญสงกรานต์อีสานดั้งเดิมวัดไชยศรี โดยชูอัตลักษณ์อีสานดั้งเดิมของงาน คือ พิธีเสียเคราะห์ หรือ พิธีสะเดาะเคราะห์แบบพื้นบ้านอีสาน ที่มีมานานกว่าร้อยปี เพื่อให้พบแต่ความสุข ความเจริญตลอดปีใหม่ไทย


เมื่อเวลา 16.00 น. วันที่ 13 เม.ย. 2565 ที่วัดไชยศรี บ้านสาวะถี ตำบลสาวะถี อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น นายสมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัด พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ และประชาชนในพื้นที่ ร่วมงานประเพณีบุญสงกรานต์อีสานดั้งเดิมวัดไชยศรี โดยเน้นการสืบสานงานบุญประเพณีตามวิถีวัฒนธรรมท้องถิ่น เช่น การสรงน้ำพระพุทธรูปเพื่อความเป็นสิริมงคล และจุดเด่นของงาน คือพิธีเสียเคราะห์ หรือ พิธีสะเดาะเคราะห์ ที่สืบทอดกันมานานกว่าร้อยปี ตามความเชื่อของชาวบ้านที่ว่า การเสียเคราะห์ จะทำให้เคราะห์ที่ไม่ดี หรือสิ่งที่ไม่เป็นมงคลในชีวิตสูญสลายไป และรักษามาตรการเข้มงวดในการจัดงานเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 และมีการจัดตลาดชุมชนที่นำสิ่งของที่เป็นผลผลิตของชุมชนสินค้าทางวัฒนธรรมมาจำหน่ายด้วย

ซึ่งการจัดงานประเพณีบุญสงกรานต์อีสานดั้งเดิมวัดไชยศรี เป็นการอนุรักษ์ และสืบสานคุณค่ามรดกทางวัฒนธรรม เกิดจากการร่วมมือระหว่างหน่วยงาน โรงเรียน วัด และชุมชนโดยการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน ที่ร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมใจ อย่างเข้มแข็ง ร่วมกันทำนุบำรุงสิมวัดไชยศรี ซึ่งเป็นโบสถ์อีสานโบราณอายุมากกว่า 100 ปี เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่มีคุณค่าของชุมชน และชุมชนยังคงรักษาประเพณีวัฒนธรรมพื้นบ้านไว้อย่างมั่นคง ถือเป็นความภาคภูมิใจของชาวขอนแก่น ที่คงความเป็นเอกลักษณ์ในวิถีวัฒนธรรมชุมชนไว้ได้อย่างเหนียวแน่น

สำหรับพิธีเสียเคราะห์ จัดขึ้นทุกวันที่ 13 เมษายน ถือเป็นวันเริ่มต้นประเพณีสงกรานต์ของชาวบ้านได้เกิดพิธีกรรมที่สืบทอดกันมานับร้อยปีคือพิธีเสียเคราะห์หรือสะเดาะเคราะห์ตามแบบโบราณอีสาน โดยชาวบ้านจะนำเครื่องสังเวยหรือเครื่องเสียเคราะห์ ที่จัดทำเป็นกระทงสี่เหลี่ยม ซึ่งทำมาจากกาบกล้วยและไม่ไผ่ แบ่งเป็น 9 ช่อง โดยแต่ละช่องจะใส่ข้าวตอก ดอกไม้ น้ำส้มป่อย ข้าวดำ ข้าวแดง ข้าวเหลือง ฝ้ายดำ ฝ้ายแดง ฝ้ายขาว ฝ้ายเหลือง และรูปนักษัตรประจำปีเกิด มารวมตัวกันภายในบริเวณกำแพงสิม (โบสถ์) ซึ่งทางวัดจะโยงด้ายสายสิญจน์สำหรับประกอบพิธีไปทั่วบริเวณ จากนั้น พระสงฆ์จะกล่าวคำเสียเคราะห์เป็นภาษาอีสานตามที่สืบทอดกันมา เพื่อให้เทวดา ภูตผี เจ้าชะตา ลงมาเอาเครื่องบูชาที่เตรียมไว้ ให้เคราะห์หายไป มีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง ประสบความเจริญรุ่งเรืองตลอดไป จากนั้นทุกคนจะนำเครื่องเสียเคราะห์ไปทิ้งในจุดที่กำหนด แล้วเดินกลับเลยโดยห้ามไม่ให้หันหลังกลับไปมองอีก ตามความเชื่อที่ว่าเมื่อทิ้งสิ่งที่ไม่ดีแล้วก็ให้ตัดใจไม่กลับไปข้องแวะอีก และสิ่งที่ไม่ดีนั้นก็จะไม่กลับมาเป็นอุปสรรคอีกเลย

Leave a Response

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง