ปศุสัตว์ขอนแก่น เฝ้าระวังโรคปากเท้าเปื่อย-คอบวม-ไข้ขาแข็ง ตลอดฤดูฝนอย่างเข้มงวด แนะเกษตรกรกางมุ้งคลุมสัตว์เลี้ยงป้องกันแมลงพาหะกัดสัตว์จนเกิดภาวะโรคระบาด พร้อมขอความร่วมมือติดตามข่าวโรคฝีดาษลิงจากทางการเท่านั้น
เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 24 พ.ค. 2565 ที่สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดขอนแก่น ถ.กลางเมือง เขตเทศบาลนครขอนแก่น นายชาญประเสริฐ พลซา ปศุสัตว์จังหวัดขอนแก่น เปิดเผยว่า จากภาวะสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงตลอดทั้งช่วงที่ผ่านมาประกอบกับการเข้าสู่ช่วงฤดูฝนอย่างเป็นทางการ ทำให้สัตว์สุขภาพอ่อนแอและป่วยง่ายในช่วงเข้าสู่ช่วงฤดูฝน ซึ่ง จ.ขอนแก่นมีเกษตรกรผู้เลี้ยงโคกระบือ จำนวน 56,244 ราย แยกเป็น โคเนื้อ จำนวน 287,429 ตัว โคนม จำนวน 39,661 ตัว กระบือ จำนวน 45,230 ตัว รวมทั้งสิ้นจำนวน 372,320 ตัว ซึ่งในระยะนี้ขอให้เกษตรกรเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับโค-กระบือ ในพื้นที่ด้วยการกางมุ้งเพื่อที่ลดแมลงที่จะกัดและดูดเลือด รวมทั้งการพ่นยาฆ่าเชื้อและยาฆ่าแมลงสัปดาห์ละ 1 ครั้ง
“จากภาวะฝนที่ตกหนักส่งผลให้บางพื้นที่น้ำท่วมขังและเปียกขึ้น ส่งผลต่อสุขภาพสัตว์โดยตรง สัตว์อ่อนแอลงและมีภูมิคุ้มกันโรคที่ลดต่ำลง มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคต่างๆ ซึ่งโรคระบาดสัตว์ที่สำคัญในโค-กระบือนั้น ประกอบด้วย โรคปากและเท้าเปื่อย, โรคคอบวม และโรคลัมปี สกิน นอกจากนี้สัตว์ยังมีโอกาสติดเชื้อโรคอื่นๆ ที่สามารถพบได้บ่อยในช่วงฤดูฝน คือ โรคไข้สามวัน ซึ่ง โรคไข้ขาแข็งหรือไข้สามวัน เป็นโรคติดเชื้อไว้รัสที่สร้างความเสียหายต่อเกษตรกรและเศรษฐกิจของประเทศ โดยสัตว์จะติดเชื้อไวรัสผ่านแมลงดูดเลือดคือยุง แมลงวัน เห็บ สัตว์ป่วยจะแสดงอาการหลังจากได้รับเชื้อ 2-4 วัน อาการของโรคจะพบได้แตกต่างกันไปในสัตว์แต่ละตัว โดยอาการแรกที่พบสัตว์จะมีไข้สูง ซึม ไม่อยากเคลื่อนไหว อย่างไรก็ตามอาการของสัตว์จะเริ่มชัดเจนขึ้นโดยจะพบว่าสัตว์เบื่ออาหาร กล้ามเนื้อสั่น ขาแข็ง ขาเจ็บเดินลำบาก มีน้ำมูก น้ำลายไหล สัตว์บางตัวอาจะพบการบวมน้ำบริเวณคอหรือไหล่ หายใจลำบาก ปอดบวม ลุกลำบาก หรือนอนไม่ยอมลุก พบอาการท้องอืดได้กรณีที่สัตว์นอนนานๆ อย่างไรก็ตามสัตว์ส่วนใหญ่จะอาการดีขึ้น 1-2 วัน หลังเริ่มแสดงอาการ และจะฟื้นตัวสมบูรณ์อีกประมาณ 5 วัน ซึ่งโคนมอาจใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์กว่าจะกลับมาให้น้ำนมปกติ โรคนี้มักพบอาการแทรกซ้อนร่วมด้วย เช่น เส้นประสาทขาหลังเป็นอัมพาต เต้านมอักเสบ ปอดอักเสบ โดยเชื้อไวรัสนี้ไม่ได้เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้สัตว์ตาย แต่สาเหตุการตาย เกิดจากภาวะแทรกซ้อนของโรคปอด ซึ่งวิธีการรักษาเป็นแบบรักษาตามอาการ”
นายชาญประเสริฐ กล่าวต่ออีกว่า การป้องกันโรคที่ดีที่สุด คือ ให้ความสำคัญกับการดูแลสัตว์เลี้ยงของตนให้มีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง โดยต้องดูแลในเรื่องการจัดการโรงเรือนหรือคอกสัตว์ มีหลังคาป้องกันฝน ลม ได้เป็นอย่างดี มีการติดมุ้ง หรือหลอดไฟเพื่อป้องกันแมลงพาหะ มีวัสดุปูรองคอกเลี้ยงสัตว์จัดเตรียมน้ำสะอาด อาหารสัตว์ พืชอาหารสัตว์ และเวชภัณฑ์ต่างๆ ให้เพียงพอ ฉีดวัคซีนป้องกันโรคปากและเท้าเปื่อย และโรคคอบวม ให้แก่โคกระบือ โดยติดต่อขอรับบริการและวัคซีนได้ที่สำนักงานปศุสัตว์อำเภอในพื้นที่ หากพบสัตว์ป่วยให้แจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ในพื้นที่ทันที เพื่อจะได้เร่งดำเนินการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน
ขณะที่นายชนินทร์ น่าชม นายสัตวแพทย์ชำนาญการพิเศษ สำนักงานปศุสัตว์ จ.ขอนแก่น กล่าวว่า สำหรับโรคฝีดาษลิง นั้นจะพบเจอจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมแต่จะพบในลิงเป็นหลัก ซึ่งเป็นโรคที่เกิดทางทวีปแอฟฟิกา เป็นโรคสัตว์ที่ติดต่อสู่คน ซึ่งถ้าคนได้รับเชื้อจากลิงก็สามารถที่จะป่วยเป็นโรคฝีดาษลิงได้ แต่ในประเทศไทยจากการเฝ้าระวังของกรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธุ์พืชดูแลรับผิดชอบเรื่องของสัตว์ป่าได้มีการเฝ้าระวังยังไม่พบโรคฝีดาษลิงในสัตว์ในประเทศไทย ซึ่งในระยะนี้จึงเน้นหนักในเรื่องของการประชาสัมพันธ์ให้กับประชาชนได้รับทราบถึงโรค โดยอย่าพึ่งตื่นตระหนกเพราะขณะนี้ยังไม่พบการระบาดในประเทศไทย จึงขอความร่วมมือประชาชนให้ความสนใจ และติดตามข้อมูลข่าวสารจากทางราชการ ไและเรียนรู้ในการป้องกันโรคซึ่งเป็นเรื่องที่ดีที่เราจะป้องกันโรคนี้ได้
Leave a Response