มข.เผยผลวิจัยชี้ การพัฒนาเศรษฐกิจของไทยที่ใช้ทฤษฎี ‘น้ำหยดรินจากที่สูง’ ปัจจุบันใช้ไม่ได้แล้ว ต้องกำหนดให้องค์กรปกครองส่วนถิ่นมีบทบาทสำคัญมากขึ้น เพื่อช่วยพัฒนาเศรษฐกิจระดับท้องถิ่น

มข.เผยผลวิจัยชี้ การพัฒนาเศรษฐกิจของไทยที่ใช้ทฤษฎี ‘น้ำหยดรินจากที่สูง’ ปัจจุบันใช้ไม่ได้แล้ว ต้องกำหนดให้องค์กรปกครองส่วนถิ่นมีบทบาทสำคัญมากขึ้น เพื่อช่วยพัฒนาเศรษฐกิจระดับท้องถิ่น

เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2565 ที่โรงแรมสยาม เคมปินสกี้ กรุงเทพฯ วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้จัดเวทีระดมสมองแลกเปลี่ยนความคิด ภายใต้โครงการ ‘KKU Public Policy Advocacy Forum 2022’ เป็นการแลกเปลี่ยนความคิด เพื่อเป็นแนวทางนำไปสู่การพัฒนาเป็นนโยบายสาธารณะ โดยได้เชิญผู้แทนพรรคการเมือง และผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ มาร่วมเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น

รศ.ดร.พีรสิทธิ์ คำนวณศิลป์ คณบดีวิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า ระยะเวลาที่ผ่านมา วิทยาลัยฯ ได้ทำการศึกษาและวิจัยการพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานราก เพื่อขับเคลื่อนให้ประเทศไทยพ้นจากกับดักของประเทศที่มีรายได้ปานกลาง

จากการวิจัยพบว่า ช่วง 60 ปีที่ผ่านมา การพัฒนาเศรษฐกิจของไทยใช้ทฤษฎี ‘น้ำหยดรินจากที่สูง’ มาเป็นกรอบในการดำเนินการ โดยให้กลุ่มที่มีความพร้อมหรือมีความมั่งคั่งเป็นหลักในการขับเคลื่อน และพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ กลยุทธ์นี้ประสบความสำเร็จ จึงทำให้ประเทศไทยเปลี่ยนสถานภาพจากประเทศที่มีรายได้ต่ำ มาเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลาง

ปัจจุบัน นักวิชาการทางเศรษฐศาสตร์มหภาค มีความวิตกกังวลว่า เศรษฐกิจของไทยอาจไม่เพียงแต่จะย่ำอยู่กับที่ แต่อาจถดถอย เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และปัจจัยอื่นๆ ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ประเทศไทยต้องปรับเปลี่ยนการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ โดยต้องกำหนดให้องค์กรปกครองส่วนถิ่นมีบทบาทสำคัญมากขึ้น เพื่อช่วยพัฒนาเศรษฐกิจระดับท้องถิ่น

ด้าน รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวเพิ่มเติมว่า พันธกิจสำคัญของมหาวิทยาลัยขอนแก่น คือ การสร้างและเผยแพร่ รวมถึงการส่งเสริมให้มีการนำความรู้ที่ได้จากการศึกษาและทำวิจัย นำไปต่อยอด จนกำหนดเป็นแนวทางในการบริหารด้านนโยบายสาธารณะ โดยกำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งเป็นองค์กรสาธารณะ เข้ามามีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืน และเป็นส่วนสำคัญในการลดความเหลื่อมล้ำในประเทศต่อไป

ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี นายกสภามหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า ผลจากการบริหารราชการแบบรวมศูนย์ตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา ชี้ให้เห็นว่า ข้อจำกัดด้านโครงสร้างการปกครองแบบรวมอำนาจ เป็นปัญหาและอุปสรรคต่อการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างมาก

รัฐบาลกลางเป็นผู้มีหน้าที่หลักในการตัดสินใจ และกำหนดรูปแบบการบริการสาธารณะ โดยที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นเพียงผู้จัดทำหรือให้บริการสาธารณะ และมีอำนาจตัดสินใจในการจัดทำการบริการสาธารณะเพียงบางเรื่องเท่านั้น สะท้อนให้เห็นว่า ประเทศไทยไม่สามารถพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานรากได้อย่างแท้จริง หากไม่ลงมือปรับเปลี่ยนแนวทางการบริหารและพัฒนาอย่างจริงจังตั้งแต่วันนี้

ภายในงาน ยังมีนักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญทางด้านนโยบายสาธารณะ มาร่วมนำเสนอผลการวิจัย รวมถึงประเด็นที่น่าสนใจต่างๆ อาทิ บทบาทของท้องถิ่นไทยในอนาคต โดย โดย ศ.ดร.วุฒิสาร ตันไชย เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ตัวแบบที่น่าจะเป็นในการพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานรากของประเทศไทย โดย Prof. Bruce Gilley จาก Portland State University สหรัฐอเมริกา ความสำเร็จของการพัฒนาเศรษฐกิจเริ่มต้นจากท้องถิ่น ซึ่งเป็นประสบการณ์จากต่างประเทศ โดย Dr. Andrey Timofeev จาก Georgia State University สหรัฐอเมริกา หรือ ตัวแบบทางนโยบายที่ได้จากการค้นคว้าวิจัยและการขับเคลื่อนข้อเสนอ สู่การเปิดหน้าต่างนโยบาย ในระดับสถาบันการเมือง โดย ศ.ดร.ดิเรก ปัทมสิริวัฒน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการคลังสาธารณะ และ ผศ.ดร.กฤชวรรธน์ โล่วัชรินทร์ และ บทบาทของมหาวิทยาลัยขอนแก่นในการร่วมขับเคลื่อนข้อเสนอเชิงนโยบายสู่การปฏิบัติจริง โดย ศ.ดร.มนต์ชัย ดวงจินดา รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบัณฑิตศึกษา มหาวิทยาลัยขอนแก่น

การระดมสมองครั้งนี้ ได้เปิดโอกาสให้ตัวแทนจากพรรคการเมือง ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมถึงนักวิชาการ ร่วมแลกเปลี่ยนและกำหนดเป้าหมายร่วมกัน เพื่อขับเคลื่อนข้อเสนอเชิงนโยบายสาธารณะ เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติจริงต่อไป

ที่มา https://th.kku.ac.th/104249/
Leave a Response

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง