วัตถุดิบแพงกระทบอาหารกลางวันนักเรียน ทน.ขอนแก่น วอนรัฐ ทบทวนเงินอุดหนุนค่าอาการกลางวันให้กับเด็กๆ หลังต้นทุนวัตถุดิบแพงขึ้นทุกวัน แต่ต้องจัดสรรเมนูรายวันเพื่อให้เด็กอิ่ม และถูกหลักโภชนาการ “ธีระศักดิ์” ระบุ ควรปรับขึ้นเป็นหัวละ 25 บาท เพราะหากคงราคาเดิมที่หัวละ 21 บาท เทศบาลคงยื้อไปได้อีก 1 ปี เท่านั้น
เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 11 ก.ค.2565 ที่สำนักงานเทศบาลนครขอนแก่น นายธีระศักดิ์ ฑีฆายุพันธุ์ นายกเทศมนตรีนครขอนแก่น เปิดเผยว่า ขณะนี้ เงินอุดหนุนรายหัวตามโครงการอาหารกลางวันสำหรับเด็กนักเรียน ซึ่งเทศบาลฯได้รับเงินอุดหนุนจากทางรัฐบาล สำหรับการบริหารจัดการประกอบด้วยศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก 11 ศูนย์ โดย เทศบาลตั้งงบประมาณ 21 บาทต่อคนต่อวัน จำนวน 500 คน เป็นเงิน 2,572,500 บาท และนักเรียนระดับอนุบาลจนถึงระดับประถมศึกษา 11 โรงเรียนในสังกัด เทศบาลตั้งงบประมาณ 21 บาทต่อคนต่อวัน จำนวน 5,579 คน เป็นเงิน 23,431,800 บาท ขณะที่การจัดสรรงบจากจัดสรรงบประมาณจากสำนักงบประมาณ ที่ส่งให้กับเทศบาลฯ มีเพียง 5,347 คน เป็นเงิน 22,457,400 บาท ซึ่งไม่เพียงพอ ทำให้ต้องมีการนำเงินรายได้ตั้งงบประมาณสมทบ เพื่อให้สามารถที่จะบริหารจัดการงบประมาณให้กับเด็กๆในความรับผิดชอบตามโครงการอาหารกลางวันรวมแล้วประมาณ 6,100 คน ซึ่งในภาวะต้นทุนด้านวัตถุดิบที่แพงขึ้น เงินอุดหนุนหัวละ 21 บาท ซึ่งได้รับการจัดสรรมาจากสำนักงบประมาณในภาพรวมยังขาดอีกประมาณ 200 คน ซึ่งเทศบาลต้องใช้เงินรายได้เทศบาลเข้าไปสนับสนุนเพื่อให้เด็กทุกคนได้รับประทานอาหารภายใต้มาตรฐานเดียวกัน
“ยอมรับว่าขณะนี้ค่าครองชีพที่สูงขึ้น โดยเฉพาะค่าอาหารค่าวัตถุดิบต่างๆสูงขึ้นมาก ยิ่งเครื่องปรุงก็ทยอยปรับขึ้นราคาจึงเป็นภาระแก่ทางโรงเรียนในการที่จะจัดอาหารกลางวันให้เด็กภายใต้มาตรฐานเดิม เทศบาลฯจึงยึดหลักบริหารจัดการ 3 ข้อ คือปริมาณ คุณภาพและสารอาหารตามโภชนาการ ด้วยการกำหนดเมนูอาหารแต่ละวันที่สามารถเอามาเฉลี่ยจ่ายกันได้ อย่างไรก็ตามในภาวะต้นทุนทีเพิ่มขึ้น ถ้าจะสามารถให้ได้มาตรฐานที่ดีในภาวะการณ์ปัจจุบัน ควรจะเพิ่มการอุดหนุนค่าอาหารเป็นหัวละ 25-30 บาท ก็จะสามารถจัดการอาหารที่มีคุณภาพให้กับเด็กนักเรียนได้”
นายธีระศักดิ์ กล่าวต่ออีกว่า เทศบาลได้ให้นโยบายไปว่าถึงแม้ต้นทุนจะแพงแต่การบริหารจัดการภายในโรงเรียนในเรื่องของวัตถุดิบในเรื่องเมนู ในเรื่องของโภชนาการก็พยายามจัดสรรให้ดีอย่าให้เด็กได้รับผลกระทบไม่ว่าจะเป็นเรื่องของอาหารและโภชนาการ เพราะสิ่งเหล่านี้ยังสามารถประคองไปได้ ถ้าประเมินตามสถานการณ์ดูเหมือนค่าครองชีพ อัตราเงินเฟ้อจะปรับขึ้นอย่างต่อเนื่อง ข้าวของก็จะแพงขึ้นตามเรื่อยๆ และถ้ายังเป็นในระดับแบบนี้เทศบาลคงแบกรับได้อีกไม่เกิน 1 ปี ก็จะเกิดปัญหาเรื่องงบประมาณเงินสมทบที่ไม่เพียงพอต่อขีดความสามารถและประสิทธิภาพที่จะทำให้เหมือนเดิมได้
Leave a Response