เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 22 ก.ค. 2565 ที่คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น หรือ มข. รศ.ดร.สถาพร เริงธรรม อาจารย์สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ มข. เปิดเผยว่า การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลวันสุดท้ายวันนี้ในการอภิปรายพบว่าฝ่ายค้านเตรียมตัวและข้อมูลมาอย่างดีและมีการเรียงลำดับเป็นขั้นตอน ส่วนฝ่ายรัฐบาลพยายามหลีกเลี่ยงประเด็นต่างๆ พูดอ้อมๆและแสดงความคิดเห็นตอบคำถามที่ไม่ตรงประเด็น ซึ่งหากวิเคราะห์เป็น 2 แนวทาง นั้นฝ่ายค้านเป็นฝ่ายตั้งคำถามที่เตรียมตัวมาดีเพราะคำถามแต่ละคำถามมีการเฉพาะเจาะจงและอยากให้รัฐบาลตอบอย่างชัดเจน และยังมีการเรียงลำดับการนำเสนอการตั้งคำถามอย่างเป็นระบบซึ่งช่วยให้ผู้ที่ติดตามดูอภิปรายเข้าใจได้ว่าฝ่ายค้านกำลังจะให้รัฐบาลตอบอะไร
“ต้องขอชื่นชมว่ามีการทำการบ้านมาค่อนข้างดีมาก และฝ่ายรัฐบาลจะมีการตอบคำถาม 2 แนว อย่างแรกคือ การชี้แจงในประเด็นที่อยากจะชี้แจง และอย่างที่ 2 มองว่าเป็นข้ออ่อนมาก รัฐบาลพยายามจะหลีกเลี่ยงการชี้แจงคำถามในเชิงนโยบายหรือว่าปัจจัยที่อยู่เบื้องหลังการตัดสินใจในนโยบายต่างๆที่ฝ่ายค้านพยายามจะถาม รัฐบาลพูดอ้อมๆและแสดงความคิดเห็นแบบตอบคำถามที่ไม่ตรงประเด็นที่ฝ่ายค้านถาม”
รศ.ดร.สถาพร กล่าวต่ออีกว่า เท่าที่ดูมาตั้งแต่วันที่ 19 ก.ค.ที่ผ่านมาฝ่ายค้านทำหน้าที่ได้ดี ถ้าให้คะแนนฝ่ายค้านเต็ม 10 คะแนน โดยส่วนตัวให้ 8 คะแนน เพราะว่าฝ่ายค้านทำข้อมูลมาดีกว่าเป็นข้อมูลเชิงลึกไม่มีการอภิปรายแบบเหวี่ยงแห สำหรับฝ่ายรัฐบาลให้ 5 เต็ม 10 คะแนน เพราะตอบไม่ตรงคำถามและเป็นการชี้แจงแบบปกป้องตัวเองมากกว่าจะเป็นการชี้แจงแบบเหตุผลว่า เหตุใดถึงทำอย่างนั้นหรือในเรื่องนโยบายที่ฝ่ายค้านถามในเรื่องงบประมาณการจัดซื้อจัดจ้างรัฐบาลยังตอบได้ไม่ดี
“เนื่องจากเป็นการอภิปรายครั้งสุดท้ายของรัฐบาลชุดนี้การพลิกคงจะเกิดขึ้นได้ยากมาก แต่ถ้าวิเคราะห์เป็นรายบุคคลจะมีคะแนนที่น่าสนใจอยู่บ้างแต่ว่าในภาพรวมของรัฐบาลคิดว่าคงจะผ่านได้แต่ต้องไปดูรัฐมนตรีรายบุคคลว่าอยู่ในข่ายที่สุ่มเสี่ยงโดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐมนตรีท่านหนึ่งได้ถูกอภิปรายอย่างมาก และมีแนวโน้มจะมีการตัดสินใจครั้งสำคัญหลังจากการลงมติครั้งนี้”
รศ.ดร.สถาพร กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ในส่วนกลุ่ม 16 สส.ของ ร.อ.ธรรมนัส ถ้ากล้วยได้ผลดีรสชาติดีก็คงเป็นไปได้ แต่ถ้ากล้วยรสชาติไม่อร่อยขึ้นมาก็น่าจะมีปัญหาเหมือนกัน หลังจากลงมติเสร็จสิ้นแล้ว น่าจะวิเคราะห์ได้เป็น 2 แนวคิด อย่างแรกรัฐบาลชนะผ่านไปได้คิดว่าทุกอย่างคงไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไร เพราะรัฐบาลเตรียมตัวนับถอยหลังแต่ถ้าเกิดมีอุบัติเหตุขึ้นมาในสภาฯซึ่งการแพ้น็อคทั้ง ครม. คงจะไม่เกิดขึ้น
“แต่อาจจะมีบางคนแพ้ก็จะกลับไปอยู่ที่นายกรัฐมนตรีและทีม ว่าจะต้องมีการปรับ ครม. อีกครั้ง ซึ่งปกติแล้วถ้าไม่ใช่ปัญหาเรื่องคะแนนนิยมทางการเมืองจะไม่มีการปรับกันเพราะใกล้จะหมดวาระอยู่แล้ว ซึ่งตรงนี้จะมีคนที่อยากจะเป็นเสนาบดีสักครั้งในชีวิตซึ่งจะมีการเจราจาต่อรองวิ่งเต้นแล้วจะเกิดความปั่นป่วนวุ่นวายในรัฐบาลแต่คิดว่าคงประคองไปสู่การเลือกตั้งได้ แต่อาจจะมีความวุ่นวายนิดหน่อย”
Leave a Response