ขอนแก่นประสาน ชป.6 ติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ เร่งระบายน้ำพอง-ชี ลงสู่แม่น้ำโขง ขณะที่เขื่อนอุบลรัตน์ปรับการระบายน้ำเป็นวันละ 15 ล้าน ลบ.ม. รับมือมวลน้ำจากพื้นที่ใกล้เคียงที่ยังคงไหลเข้าพื้นที่อย่างต่อเนื่อง
เมื่อเวลา 09.00 น.วันที่ 16 ส.ค.2565 ที่ศาลากลาง จ.ขอนแก่น นายสมศักดิ์ จังตระกุล ผวจ.ขอนแก่น พร้อมด้วย นายศุภชัย ลีเขาสูง ปลัดจังหวัดขอนแก่น ประชุมร่วมว่าด้วยแผนการบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำเซิญ,แม่น้ำพองและแม่น้ำชี ตามแผนบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ หลังพบว่าพื้นที่จังหวัดรอบข้าง ทั้งที่ จ.เลย,เพชรบูรณ์,หนองบัวลำภูและ จ.ชัยภูมิ มีการระบายน้ำจาพื้นที่เข้าสู่เขต จ.ขอนแก่น อย่างต่อเนื่อง
นายสมศักดิ์ จังตระกุล ผวจ.ขอนแก่น กล่าวว่า จากอิทธิพลของพายุฝนที่ตกลงมาอย่างต่อเนื่อง ในหลายพื้นที่ในช่วงที่ผ่านมาและคาดว่าจะยังคงตกต้องตามฤดูการณ์ต่อเนื่องไปจนถึงเดือน ต.ค. ทำให้ขณะนี้พื้นที่กักเก็บน้ำของ จ.ขอนแก่น หลายแห่งนั้นเต็มความจุ ทั้งที่แก่งละว้า อ.บ้านไผ่, อ่างเก็บน้ำห้วยทราย รวมทั้งแก่งน้ำต้อน ที่พบว่าในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีประมาณเก็บกักเต็มความจุ 100% ทำให้การบริหารจัดการร่วมทุกฝ่ายจึงต้องวางแผนและกำหนดการจราจรของน้ำรองรับมวลน้ำหนุน ทั้งจากปริมาณน้ำที่ตกลงมาจากพายุฝน และปริมาณน้ำที่พื้นที่จังหวัดรอบข้าง เร่งทยอยการระบายน้ำเข้ามาในพื้นที่ขอนแก่น มาอย่างต่อเนื่องในระยะนี้
“ขณะนี้จังหวัดได้มีการพร่องน้ำ ในอ่างเก็บน้ำทั้งจังหวัดให้คงปริมาณความจุไว้ที่ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 90 ของความจุอ่าง ตามเส้นทางน้ำไหล คือลุ่มน้ำเซิญ แม่น้ำชีและแม่น้ำพอง ทำให้วันนี้แก่งละว้า มีปริมาณน้ำในความจุอยู่ที่ร้อยละ 98 เช่นเดียวกันอ่างเก็บน้ำทุกแห่งที่ต้องพร่องน้ำตามเส้นทางน้ำไหลในภาพรวม โดยคำนึงถึงภาวะปลายน้ำ เนื่องจากน้ำจากขอนแก่น นั้นจะไหลเข้าสู่ มหาสารคาม,กาฬสินธุ์,ร้อยเอ็ด,ยโสธรและลงสู่แม่น้ำโขง ดังนั้นพื้นที่จังหวัดทางตอนล่างก็ต้องรับน้ำจากขอนแก่น แต่เมื่อปริมาณน้ำตอนบนของพื้นที่ที่ไหลเข้าพื้นที่ขอนแก่นทุกวัน คณะทำงานด้านการบริหารจัดการน้ำ จึงมีการหารือเพื่อให้เกิดความสมดุล รวมทั้งการประสานงานร่วม สำนักชลประทานที่ 6 ในการเร่งติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำในการระบายน้ำจากพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคอีสานตอนบนและตอนกลางให้ลงสู่แม่น้ำโขงให้เร็วที่สุด”
ผวจ.ขอนแก่น กล่าวต่ออีกว่า สำหรับน้ำเก็บกักในเขื่อนอุบลรัตน์ขณะนี้อยู่ที่ร้อยละ 42 ของความจุอ่าง หรือประมาณ 1,020 ล้าน ล.ม. ทำให้ต้องปรับการระบายน้ำมาที่วันละ 15 ล้าน ลบ.ม. ต่อวัน เพื่อเพิ่มความจุของอ่างให้รับน้ำจากแม่น้ำเซิญและมวลน้ำจากพื้นที่จังหวัดใกล้เคียงที่จะไหลลงความจุอ่าง ซึ่งก็จะสงผลต่อปริมาณน้ำในแม่น้ำพองที่เพิ่มขึ้น ดังนั้นการเร่งกำจัดวัชพืชขวางทางน้ำ หรือการเร่งกำจัดอุปสรรคในการกีดขวางทางน้ำทั้งในส่วนของประตูระบายน้ำหรือตามเส้นทางน้ำไหล ที่ทุกหน่วยงานได้ระดมเครื่องจักรกล เข้าประจำพื้นที่รวมทั้งการเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำในจุดต่างๆที่จังหวัดได้กำหนดไว้อย่างเข้มงวดตลอดทั้ง 24 ชม. เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝนและการเก็บกักน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งที่ทั้งหมดต้องสัมพันธ์กันและส่งผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนในพื้นที่ให้น้อยที่สุด
Leave a Response