หมอขอนแก่นเตือนระวังโรคไข้เลือดออกแม้ในพื้นที่ระบาดไม่รุนแรง

หมอขอนแก่นเตือนระวังโรคไข้เลือดออกแม้ในพื้นที่ระบาดไม่รุนแรง พบผู้ป่วยเพียง 1-2 รายต่อเดือน แต่ต้องป้องกันและเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดโดยเฉพาะกลุ่มเด็กๆ

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 26 ส.ค.2565 ที่ รพ.ขอนแก่น นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลขอนแก่น เปิดเผยว่า แม้ขณะนี้สถานการณ์โรคไข้เลือดออกในพื้นที่พบการระบาดไม่รุนแรงมากนัก โดยพบว่า นับตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. – 20 ส.ค.พบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกรวม 231 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 12.81 ต่อประชากรแสนคน และไม่มีรายงานผู้ป่วยเสียชีวิต โดยกลุ่มอายุที่พบสูงสุดคือกลุ่มอายุ 10 – 14 ปี คิดเป็นอัตราป่วย 60.51 ต่อประชากรแสนคน รองลงมาคือ กลุ่มอายุ 5 – 9 ปีและ15 – 24 ปี ขณะเดียวกันพบผู้ป่วยสูงสุดในเดือน ก.ค. 92 ราย และในเดือน ส.ค. 43 ราย โดยอำเภอที่มีอัตราการป่วยสูง 3 อันดับแรกคือ อ.บ้านฝาง ,ซำสูงและ อ.พระยืน

“แม้ว่าปีนี่การระบาดค่อนข้างไม่รุนแรงแต่ต้องฝากเตือนประชาชนระวังโรคไข้เลือดออกซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัส มียุงลายตัวเมียเป็นพาหะนำโรค กัดในช่วงกลางวัน เมื่อยุงลายไปกัดคนที่กำลังป่วยด้วยโรคไข้เลือดออก สามารถติดต่อจากคนสู่คนโดยมียุงเป็นพาหะนำโรค แต่หากเป็นช่วงกลางคืนก็มียุงรำคาญที่หากถูกกัดอาจเสี่ยงเป็นโรคไข้สมองอักเสบได้ ดังนั้น ควรหลีกเลี่ยงไม่ให้ถูกยุงกัด ซึ่งวิธีป้องกันคือ ควรทายากันยุง และนอนในมุ้ง เพื่อป้องกันยุงกัด รวมทั้งกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายรอบบ้าน ใช้ทรายกำจัดลูกน้ำบริเวณน้ำขัง หรือทำลายภาชนะที่มีน้ำขัง และที่สำคัญไม่สร้างแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายเพิ่มขึ้น เช่น ปิดฝาถังขยะให้มิดชิด ทิ้งขยะประเภทภาชนะใส่อาหารลงในถังขยะ โดยขอให้ยึดหลัก 3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค คือ เก็บบ้านให้สะอาด ปรับปรุงสิ่งแวดล้อมในบ้านและรอบบ้าน ให้มีความเป็นระเบียบ แสงแดดส่องเข้าถึง ไม่ให้มีมุมอับทึบเป็นที่เกาะพักของยุง เก็บขยะบริเวณรอบบ้านไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย และ เก็บน้ำ ปิดฝาภาชนะที่ใส่น้ำให้มิดชิด เปลี่ยนน้ำในแจกันทุกสัปดาห์ ป้องกันยุงลายมาวางไข่ เพื่อป้องกันโรคไข้เลือดออก โรคติดเชื้อไวรัสซิกา และโรคไข้ปวดข้อยุงลาย”

นพ.เกรียงศักดิ์ กล่าวต่ออีกว่า สำหรับลักษณะอาการของโรคไข้เลือดออก คือ มีไข้สูงเฉียบพลัน และสูงลอยประมาณ 2-7 วัน ร่วมกับปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว หน้าแดง อาจมีจุดแดงเล็ก ๆ ขึ้นตามลำตัว แขน ขา คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง และเบื่ออาหาร ส่วนใหญ่ไม่ไอ ไม่มีน้ำมูก ต่อมาไข้จะลดลง ในระยะนี้ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะอาจเกิดภาวะช็อกและเสียชีวิตได้ ขอให้ประชาชนสังเกตอาการป่วยของคนในครอบครัว หากมีไข้สูงลอยเกิน 2 วัน และเช็ดตัวหรือกินยาลดไข้แล้วไข้ไม่ลดลง ขอให้คิดว่าอาจป่วยด้วยโรคไข้เลือดออก ไม่ควรซื้อยาลดไข้ในกลุ่มแอสไพรินและไอบูโพรเฟนมารับประทาน ให้รีบพาผู้ป่วยไปพบแพทย์หรือสถานบริการสาธารณสุขที่อยู่ใกล้บ้าน อย่างไรก็ตามสำหรับส่วนสถานการณ์โรคไข้เลือดออกในประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. – 10 ส.ค. 2565 พบผู้ป่วยไข้เลือดออกจำนวน 16,276 ราย เสียชีวิต 14 ราย กลุ่มอายุที่เสียชีวิต อายุ 35 ปีขึ้นไป ซึ่งมากกว่าปีที่ผ่านในช่วงเวลาเดียวกันถึง 2.2 เท่า โดยในช่วง 4 สัปดาห์ที่ผ่านมา พบจังหวัดที่มีผู้ป่วยมากที่สุด 5 อันดับแรก คือ แม่ฮ่องสอน ,เชียงใหม่ ,อุบลราชธานี, ตาก และศรีสะเกษ และคาดการณ์ว่าปีนี้สถานการณ์ของโรคไข้เลือดออกจะมีการระบาดมากขึ้นตามวงรอบของปีที่จะระบาด โดยมีแนวโน้มพบผู้ป่วยในกลุ่มผู้ใหญ่มากขึ้น

Leave a Response

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง