สภาอุตสาหกรรมขอนแก่น ระบุผู้ประกอบการขอนแก่นพร้อมขึ้นค่าแรงขั้นต่ำวันละ340 บาท เริ่ม 1 ต.ค.นี้ เพื่อช่วยเหลือผู้ใช้แรงงานในภาวะค่าครองชีพแพง วอนรัฐทบทวนมาตรการช่วยเหลือนายจ้าง โดยเฉพาะค่าน้ำมัน ค่าไฟฟ้า และสิทธิด้านภาษีเพื่อลดต้นทุนหลังต้องปรับขึ้นค่าแรงพร้อมกันทั้งประเทศ
ที่สำนักงานสภาอุตสาหกรรม จ.ขอนแก่น นายทวีสันต์ วิชัยวงษ์ ประธานสภาอุตสาหกรม จ.ขอนแก่น เปิดเผยว่า การประกาศปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.เป็นต้นไป ซึ่งขอนแก่น ปรับขึ้นจากเดิมวันละ 325 บาท เป็น 340 บาท คิดเป็นการปรับขึ้นในอัตราร้อยละ 4.6 ซึ่งยังคงจัดอยู่ในเกณฑ์การประเมินที่ต่ำกว่าที่รัฐบาลกำหนดคือการปรับขึ้นที่ร้อยละ 5-8 และในการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำดังกล่าวนี้นั้นกลุ่มผู้ใช้แรงงานโดยเฉพาะกลุ่มแรงงานนอกระบบ ละแรงงานรับจ้างรายวัน จะได้รับเงินค่าจ้างเพิ่มขึ้นอีกวันละ15 บาทหรือได้รับเงินเดือนที่ปรับขึ้นอีกเดือนละ 450 บาท ซึ่งในฐานะนายจ้างแม้จะต้องรับภาวะค่าต้นทุนด้านแรงงานที่เพิ่มขึ้นแต่ถ้ามองถึงสัดส่วนเงินเฟ้อและภาวะค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นถือว่าเหมาะสมและสามารถที่จะช่วยเหลือใช้แรงงานได้อย่างมาก
“ขอนแก่น มีโรงงานอุตสาหกรรม ทั้งหมดกว่า 4,000 แห่ง มีผู้ใช้แรงงานรวมกว่า 100,000 คน ทั้งขนาดเล็ก ขนาดกลางและขนาดใหญ่ ในจำนวนนี้เป็นโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ทั้งสิ้นรวมกว่า 900 แห่ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มทุนในประเทศและกลุ่มทุนท้องถิ่น รวมไปถึงโรงงานจากต่างประเทศที่มาตั้งฐานการผลิตในพื้นที่ แต่สัดส่วนทุนท้องที่ยังคงมีมากกว่ากลุ่มทุนรายใหญ่จากต่างชาติ ดังนั้นถามว่ากระทบมั้ยในการปรับค่าแรงที่เพิ่มขึ้น เราก็ต้องมองใน 2 มุม คือลูกจ้างที่ต้องรับภาระค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น น้ำมันแพง,ไข่แพง,หมูแพง,สินค้าในการอุปโภคและบริโภคต่างๆแพงขึ้น การได้รับค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นก็จะช่วยบรรเทาได้บ้าง ขณะที่นายจ้างเองก็ต้องเห็นใจที่ต้องมีต้นทุนที่เพิ่มขึ้น แต่กลไกในการขับเคลื่อนภาพรวมทางเศรษฐกิจและนโยบายของรัฐที่กำหนดออกมา ทุกฝ่ายก็ต้องเดินหน้าไปด้วยกัน”
ประธานสภาอุตสาหกรรม จ.ขอนแก่น กล่าวต่ออีกว่า ขณะนี้แรงงานทักษะและแรงงานฝีมือ ต่างได้รับค่าแรงมากว่าค่าแรงขั้นต่ำที่กำหนด ขณะที่กลุ่มงานรับเหมาก่อสร้างก็มีการคิดค่าใช้จ่ายเป็นตารางเมตร ด้านแรงงานในระบบก็ได้รับเงินเดือนที่มากว่าค่าแรงขึ้นต่ำ ส่วนกลุ่มราชการหรือลูกจ้างของรัฐก็มีค่าจ้างที่มากอยู่แล้ว ดังนั้นผู้ประกอบการหรือนายจ้างก็ต้องหาวิธีในการลดต้นทุนการผลิตหรือประหยัดค่าใช้จ่าย หรือการนำแรงงานต่างชาติตามข้อตกลงเข้ามาทำงานทดแทนแรงงานไทย ในกลุ่มผู้ประกอบการบางประเภท โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าส่งออก,แหอวน,รองเท้า,เครื่องหนัง หรือสินค้าแปรรูป รวมไปถึงการพูดคุยกันในการนำนวัตกรรมหรือระบบเทคโนโลยีต่างๆหรือเอไอ เข้ามาทดแทนในการผลิตหรือทดแทนในส่วนที่สำคัญ อย่างไรก็ตามรัฐบาลต้องมองถึงการสนับสนุนผู้ประกอบการในระดับพื้นที่ด้วยการพิจารณาทบทวนเรื่องต้นทุนที่แพงขึ้นและมีการผันผวนตลอดเวลา โดยเฉพาะค่าไฟฟ้า,ค่าน้ำมัน หรือสิทธิทางด้านภาษีเพื่อช่วยผู้ประกอบการด้วย
Leave a Response