โรงพยาบาลศรีนครินทร์ เสริมเตียงรองรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มหลังเตียงผู้ป่วยเต็ม ยืนยันสามารถบริหารจัดการได้อย่างเต็มที่และครอบคลุมผู้ติดเชื้อทุกระดับ ตั้งแต่ระดับน้อยไม่แสดงอาการไปถึงขั้นวิกฤติ ภายใต้มาตรการรับมือในระดับสูงสุด พร้อมนำหุ่นยนต์ทดแทนบุคลากรมาใช้ในการส่งอาหารและยาสำหรับผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เพื่อลดความเสี่ยงของการติดเชื้อ
ที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น พร้อมด้วย รศ.นพ.อภิชาติ จิระวุฒิพงศ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และรศ.นพ.ทรงศักดิ์ เกียรติชูสกุล รองคณบดีคณะแพทยศาสตร์ ฝ่ายโรงพยาบาล มหาวิทยาลัยขอนแก่น ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศรีนครินทร์ เปิดเผยการบริหารจัดการเตียงผู้ป่วยโควิด-19 ของทางโรงพยาบาล ภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในจังหวัดขอนแก่น พบผู้ติดเชื้อต่อเนื่องทะลุกว่า 200 รายแล้ว ทำให้เตียงในโรงพยาบาลต่างๆที่เตรียมสำหรับรองรับผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยเฉพาะเริ่มเต็ม โดยที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์มีห้องความดันลบทั้งหมด 8 ห้อง เตียงผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในระดับหนัก-วิกฤติ ซึ่งมีเตียงผู้ป่วยอยู่ 5 เตียงขณะนี้ก็เต็มเช่นเดียวกัน ซึ่งในส่วนของเตียงที่รองรับผู้ป่วยโควิด-19 ในระดับหนัก-วิกฤตินั้น ทางโรงพยาบาลได้เพิ่มเตียงอีก 5 เตียง ซึ่งจะเพียงพอในการดูและผู้ป่วยในระดับหนัก-วิกฤติ ในส่วนของผู้ติดเชื้อที่มีอาการปานกลาง ภายใต้การบริหารจัดการรับมือสถานการณ์ในระดับสูงสุด ซึ่งในเรื่องของเตียงผู้ป่วยขณะนี้จะสามารถรองรับผู้ป่วยทุกระดับได้ทั้งหมด
รศ.นพ.ทรงศักดิ์ เกียรติชูสกุล ผอ.รพ.ศรีนครินทร์ เปิดเผยว่า ในแผนของการรักษาผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 นั้น ทางโรงพยาบาลได้มีแผนเตรียมพร้อมรับในทุกระดับตั้งแต่ระดับน้อยไม่แสดงอาการไปจนถึงระดับหนักถึงขั้นวิกฤติ แต่จะเน้นในการรักษาผู้ติดเชื้อภาวะวิกฤติเป็นหลักเหมือนกับที่โรงพยาบาลขอนแก่น เนื่องจากมีความพร้อมทางด้านอุปกรณ์การแพทย์และบุคลากร ซึ่งการดูแลผู้ป่วยหนักจะแตกต่างจากการดูแลผู้ป่วยระดับอื่นๆ เนื่องจากต้องใช้อุปกรณ์พิเศษอื่นๆเยอะ ทั้งชุดป้องกันที่จะต้องมีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อจากผู้ป่วยในระดับที่สูง และต้องใช้อุปกรณ์ที่ผ่านการฝึกอบรมมาแล้วอย่างดี แต่ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19
ขณะนี้มีการพบผู้ติดเชื้อจำนวนมาก ทำให้ทางโรงพยาบาลศรีนครินทร์ต้องช่วยดูแลผู้ป่วยที่มีอาการในระดับน้อยถึงปานกลางด้วย ทำให้มีการแบ่งสัดส่วนของจำนวนเตียงผู้ป่วยให้เหมาะสมมากยิ่งขึ้น ซึ่งขณะนี้เรามีตั้งแต่ผู้ป่วยที่ต้องสงสัยรอผลตรวจ โดยจัดโซนภายในตึกสามารถรองรับได้จำนวน 14 คน คนไข้ที่มีอาการปานกลางจัดโซนไว้ให้ 2 ตึก สามารถรองรับได้จำนวน 20 คน ส่วนคนไข้ที่เข้ารับการรักษาเบื้องต้นแล้วเป็นอาการคงที่จะย้ายไปอีกตึกหนึ่งและรอกลับบ้านซึ่งรองรับได้16 คนและกำลังพิจารณาหาหอผู้ป่วยรองรับอีก 12 เตียง ในส่วนของคนไข้หนักซึ่งเป็นภารกิจหลักของเราสามารถรับผู้ป่วยได้ทั้งหมด 5 คน ขณะนี้จำนวนเตียงเต็มแล้วทั้ง 5 เตียง แต่เร็วๆนี้จะสามารถส่งผู้ติดเชื้ออาการหนักที่ทำการรักษาหายแล้วกลับบ้าน 1 ราย ก็จะทำให้เตียงหนักว่าง 1 เตียง ทำให้ตอนนี้ทางโรงพยาบาลได้ทำการจัดสรรหาหอผู้ป่วยรองรับผู้ป่วยหนักเพิ่มขึ้นอีก โดยใช้หอผู้ป่วยจำนวน 1 ตึกซึ่งจะสามารถรองรับผู้ติดเชื้ออาการหนักจนถึงขั้นวิกฤติได้อีก 5 เตียง โดยวันนี้จะเริ่มเข้าไปทำการปรับเปลี่ยนทันทีตามความเหมาะสมและได้มาตรฐานความปลอดภัยด้านสาธารณสุข
ผอ.รพ.ศรีนครินทร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของการบริหารจัดการบุคลากรของโรงพยาบาลศรีนครินทร์นั้น ได้มีการนำหุ่นยนต์มาช่วยในเรื่องของการส่งอาหารและยาให้กับผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพื่อป้องกันการติดเชื้อในระดับสูงสุด และทดแทนบุคลากรได้ในหน้าที่นี้ ส่วนบุคลากรของโรงพยาบาลศรีนครินทร์นั้น ในระลอกที่ 3 นี้ภายหลังจากพบแพทย์ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จำนวน 2 คน ทำให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงในโรงพยาบาลและตัวผู้ป่วยด้วย เนื่องจากบุคลกรทางการแพทย์นั้นมีส่วนเกี่ยวข้องกันในหลายๆแผนก ต้องมีการปิดหอผู้ป่วยและตึกผ่าตัดเพื่อทำความสะอาด ในขณะนั้นมีบุคลากรทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับ แพทย์ที่ติดเชื้อจำนวนเกือบ 600 คน ผู้ป่วยที่แพทย์ที่ติดเชื้อให้การรักษาอีกเกือบ 30 คน แต่ผลตรวจหาเชื้อของทุกคนเป็นลบ ทำให้มีความเข้มงวดมากขึ้นตั้งแต่การคัดกรองผู้ป่วยทั่วไป ผู้ป่วยต้องสงสัย และผู้ป่วยที่จะเข้ารับการผ่าตัด จะมีการนำเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์มาเสริมโดยซักประวัติผู้ป่วยผ่านทางวีดีโอคอล การสวอบผู้ที่จะเข้ารับการผ่าตัดทุกคนรวมถึงผู้ป่วยต้องสงสัยว่าติดเชื้อจะมีมาตรการที่เข้มข้นขึ้นเพื่อความปลอดภัยต่อบุคลากรทางแพทย์ในระดับสูงสุด พร้อมทั้งจัดทีมแพทย์ให้เข้ากับสถานการณ์หากมีทีมแพทย์ติดเชื้อก็สามารถสับเปลี่ยนทีมแพทย์ยกชุดได้ทันที
นอกจากนี้ยังบริหารจัดการในส่วนของผู้ป่วยโดยการลดการให้บริการบางส่วนภายในโรงพยาบาล แต่จะให้การสอบถามอาการผ่านทางโทรศัพท์และส่งยาไปให้ผู้ป่วยที่บ้านทางไปรษณีย์ ลดระยะเวลาของผู้ป่วยที่จะอยู่ในโรงพยาบาลให้น้อยที่สุด ซึ่งผู้ป่วยที่จะรับยาภายหลังจากยื่นใบสั่งยาแล้วให้ไปที่อื่นทันทีและจะมีข้อความแจ้งมายังผู้ป่วยว่าขณะนี้สามารถรับยาได้แล้วจึงค่อยเดินทางมารับยากลับไป หรือผู้ป่วยบางรายที่กลัวไม่กล้าเดินทางมาโรงพยาบาลก็จะใช้วิธีการสอบถามอาการผ่านทางโทรศัพท์และจัดยาส่งไปให้ทางไปรษณีย์
Leave a Response