เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายกุล ภาคเดียว ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ประจำจังหวัดขอนแก่น มอบหมายให้ นางสาวบังอร ทรัพย์พิพัฒน์ เจ้าพนักงานป้องกันการทุจริตชำนาญการพิเศษ และนายประสิทธิ์ ปาปะกัง เจ้าพนักงานป้องกันการทุจริตชำนาญการ พร้อมด้วยคณะเจ้าหน้าที่ สำนักงาน ป.ป.ช.ประจำจัวหวัดขอนแก่น จัดประชุมคณะกรรมการชมรม STRONG จิตพอเพียงต้านทุจริตจังหวัดขอนแก่น โดยการนำของ นายสุวิทย์ อินนามา ประธานชมรม STRONG ในการจัดกิจกรรมการประชุมคณะกรรมการชมรม STRONG จิตพอเพียงต้านทุจริตจังหวัดขอนแก่น เพื่อร่วมกันวางแผนและเตรียมการขับเคลื่อนงานการป้องกันทุจริตในปีงบประมาณ 2566 ซึ่งมีผู้เข้าประชุมที่มาจากทุกอำเภอ ทั้ง 26 อำเภอของจังหวัดขอนแก่น จำนวน 40 คน ที่ ห้องประชุมนภาลัย โรงแรมราชาวดี รีสอร์ท แอนด์ โฮเทล ขอนแก่น
การประชุมที่สำคัญครั้งนี้ มีวาระการประชุมที่สำคัญประกอบด้วย 1.ทบทวนธรรมนูญหรือข้อบังคับชมรม STRONG จิตพอเพียงต้านทุจริตจังหวัดขอนแก่น 2.ทบทวนรายชื่อคณะกรรมการชมรมฯ และคัดเลือกตำแหน่งต่างๆ ตามโครงสร้างของคณะกรรมการชมรมฯ และ 3.ร่วมกันระดมความคิดเห็นและวางแผนการดำเนินกิจกรรมภายใต้โครงการ STRONG จิตพอเพียงต้านทุจริต (สำนักงาน ป.ป.ช.ประจำจังหวัดขอนแก่น) ประจำปีงบประมาณ 2566 ด้วย
ผลการคัดเลือกคณะกรรมการชมรม STRONG จิตพอเพียงต้านทุจริตจังหวัดขอนแก่น ชุดใหม่ ซึ่งจะมีวาระการทำงานในปีงบประมาณ 2566 ถึงปี 2567 โดยมีนายฉัตรชัย ข้อยุ่น ได้รับคัดเลือกให้เป็นประธานชมรม และมีรองประธานชมรมฯ จำนวน 5 คน ได้แก่ นายปรีชา จิกชาตรี นายไพรวัลย์ ละภักดี นายตะวัน พิทักษ์เสมา นายวิรัช ค้าคล่อง และนายสมจิตร เกตวิบูลย์ รวมทั้งมีกรรมการที่มาจากผู้แทนอำเภอทุกอำเภอ จำนวน 26 คน นอกจากนี้ยังมีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากเครือข่ายอื่นๆ ได้แก่ ดร.สมยงค์ แก้วสุพรรณ จากธรรมาภิบาลจังหวัดขอนแก่น ดร.ไพฑูรย์ พรหมเทศ จากผู้แทนสื่อมวลชน ดร.อำไพพรรณ สิงห์สกุล ผู้แทนสงเคราะห์เด็กและเยาวชน สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัด รวมทั้งมีกรรมการจากสภาเด็กและเยาวชนจังหวัดขอนแก่นด้วย รวมทั้งหมด จำนวน 40 คน
นายฉัตรชัย ข้อยุ่น ประธานชมรม STRONG จิตพอเพียงต้านทุจริตจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า วัตถุประสงค์ชมรมที่จัดตั้งขึ้นมีวัตถุประสงค์เพื่อ 1.ปลูกฝังจิตพอเพียงต้านทุจริต ด้วยรูปแบบ STRONG แก่ประชาชนและทุกภาคส่วนในจังหวัด 2.ปลูกวิธีคิด แยกแยะผลประโยชน์ส่วนตัวและประโยชน์ส่วนรวม รวมทั้งความอายและไม่ทนต่อการทุจริตแก่ประชาชนและทุกภาคส่วนในจังหวัด 3.ขยายผลการป้องกันทุจริตเชิงรุก ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนและทุกภาคส่วนในจังหวัด 4.ขยายผลการรับรู้การทุจริตต่อประชาชนและทุกภาคส่วนในจังหวัด และ 5.ร่วมมือกับองค์กรต่างๆ หรือชมรมอื่นๆ ที่มีวัตถุประสงค์ในการต่อต้านการทุจริต รวมทั้งการดำเนินกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ ทั้งนี้ โดยไม่ดำเนินกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเมือง.
/////////////////// ไพฑูรย์ พรหมเทศ ผู้สื่อข่าวจังหวัดขอนแก่น รายงาน ////////////
Leave a Response