“ปะจัน” โดย “เขี้ยวจัน”
ที่นี่….ไม่ใช่คอลัมน์ร้องทุกข์ แต่เป็น การสังคมอุดมปัญญา ลุกขึ้นมา “ทวงสิทธิ” ของการเป็นพลเมืองผู้ตื่นรู้ เจ้าของคะแนนเสียงที่เลือก “ตัวแทน” ในทุกระดับ ของการปกครองส่วนท้องถิ่น และการบริหารบ้านเมือง ด้วยข้าราชการ “ตัวแทน” จากส่วนกลาง ทุกกระทรวง ทบวง กรม…[ หน้ารวมบทความ ประจัน ]
โครงสร้างทางธุรกิจ ในฐานะนิติบุคคลที่บริหารงานตามกฎหมายไทย ถูกจัดวางไว้ตามเกณฑ์ คือ 51 : 49 หมายถึง คนไทย 51% คนต่างชาติ 49%
แต่สำหรับ ในโหมดการศึกษา มีความละเอียดอ่อน จึงเป็นข่าวที่หลายคนกังวลใจ เมื่อปรากฏว่า มี 3 มหาวิทยาลัยดัง ถูก “ทุนจีน” ซื้อ ไปแล้ว
ได้แก่ มหาวิทยาลัยเกริก มหาวิทยาลัยนานาชาติแสตมฟอร์ด และ มหาวิทยาลัยเมธารัถย์ (ชื่อเดิม คือ มหาวิทยาลัยชินวัตร)
สองมหาวิทยาลัยหลัง หนึ่งเป็น “นานาชาติ” จึงดูไม่แปลก ส่วนอีกหนึ่ง เป็นของนักธุรกิจชื่อดังตาม “นามสกุล” การศึกษาถูกมองเป็นหนึ่งในธุรกิจที่ไม่ทำเงิน จึงขายทิ้ง ก็ดูไม่แปลก อีกเช่นกัน
ที่ถูกพูดถึงหนักมาก คือ “มหาวิทยาลัยเกริก” ซึ่งมี ศ.นพ.กระแส ชนะวงศ์ วัย 89 ชาวอำเภอพล จังหวัดขอนแก่น เป็นอธิการบดี
“มหาวิทยาลัยเกริก” ก่อตั้ง เมื่อปี 2495 (อายุ 71 ปี) ผู้ก่อตั้ง คือ ดร.เกริก มังคละพฤกษ์ เป็น 1 ใน 5 ของมหาวิทยาลัยเอกชน ที่ก่อตั้งมารุ่นราวคราวเดียวกัน ได้แก่ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ วิทยาลัยไทยสุริยะ และ วิทยาลัยพัฒนา
มีศิษย์เก่า คนดัง อาทิ จินตหรา สุขพัฒน์, มาริโอ เมาเร่อ, ธนกร วังบุญคงชนะ, กนกวรรณ วิลาวัลย์
แบ่งการเรียนออกเป็น 6 คณะ, 1 บัณฑิตวิทยาลัย และอีกหนึ่งวิทยาลัยการสื่อสารการเมือง แห่งเดียวในประเทศไทย ที่สอนหลักสูตรนี้ นัยว่า ถูกจริตของนักการเมืองยิ่งนัก ดูแลหลักสูตร โดยนักวิชาการ-นักโต้วาที ชื่อดัง “นันทนา นันทวโรภาส”
ค่าธรรมเนียมการศึกษา หรือ “ค่าเทอม” เป็นรายได้หลัก ที่หล่อเลี้ยงสถาบันการศึกษา มีกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นหน่วยกำกับดูแล
การแข่งขัน ภาคการศึกษาเอกชนเข้มข้นขึ้น หลายแห่งจึงเหือดแห้ง และหาทาง “ต่อทุน” เพื่อ ใช้ในการดำเนินงาน จึงเป็นที่มาของการ “เทคโอเวอร์” สถาบันการศึกษา ทั้ง 3 แห่ง ตามข่าวที่ปรากฏ
ทุนจีน เข้าซื้อหุ้น มีการส่งนักศึกษาจากจีน เข้ารับการศึกษา มากขึ้น มีอาจารย์ชาวจีน เข้ามาสอน จนเกิดความกังวลใจ กับรากฐานการศึกษาไทย
“เป็นเรื่องปกติ ของการมีนักศึกษาต่างชาติ เข้ามาเรียน จัดว่าเป็นการแลกเปลี่ยนระหว่างกัน ผมคิดว่าไม่น่าห่วง” หมอกระแส กล่าว เมื่อถูกนักข่าวตั้งคำถาม ในฐานะอธิการบดี
“ตามเกณฑ์ ของกระทรวงฯ ตัวนายกสภาฯ, อธิการบดี เป็นชาวต่างชาติได้ ส่วนกรรมการสภามหาวิทยาลัย ต้องเป็นคนไทย 50%” ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัด อว. แสดงความคิดเห็นเรื่องที่หลายคนกังวลใจ และย้ำว่า อว.จะเฝ้าติดตาม เรื่องนี้
การขยายวง ของการ “อพยพ ” ของชาวจีน ประเทศที่มีประชากรมากที่สุดอันดับหนึ่งของโลก มีกระแสออกมาเป็นระลอกเรื่อย ๆ เมื่อมีโอกาสทางธุรกิจ พวกเขาไม่เคยละทิ้ง
การฝังรากทางการศึกษา การแทรกซึมทางวัฒนธรรม ที่ ไทย-จีน พี่น้องกัน อาจเป็นการ “ครอบครอง ” โดยไม่มีสงคราม…..
…..อนาคต กำลังไล่ล่า เรา…….”ผู้นำ” ที่เข้มแข็ง เท่านั้น ที่จะ ค้ำยัน-บ้านเมือง ได้อย่างเหนียวแน่น…..สุดกำลัง….
Leave a Response