มข.เปิดตัวโปรแกรม AI ประเมินอายุร่างกายและอวัยวะสำคัญ ใช้วางแผนดูแลสุขภาพในการชะลอวัย ชะลอโรค

มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดตัวโปรแกรมปัญญาประดิษฐ์ (AI) ประเมินอายุร่างกายและอวัยวะสำคัญ สามารถนำข้อมูลไปใช้ในการดูแลสุขภาพก่อนเกิดโรค ใช้วางแผนดูแลสุขภาพในการชะลอวัย ชะลอโรค พร้อมรองรับเมดิคัลฮับ


เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 17 ม.ค.2566 ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น หรือ มข. ศ.ดร.ธิดารัตน์ บุญมาศ รองอธิการบดีฝ่ายนวัตกรรมและวิสาหกิจ มข.พร้อมด้วย ผศ.ดร.สมชาย เชื้อวัชรินทร์ ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีชีวภาพทางการแพทย์ ศ.ดร.พัชรี เจียรนัยกูร คณะเทคนิคการแพทย์ มข. และ ศ.ดร.ศันสนีย์ ไชยโรจน์ ประธานคณะอนุกรรมการ แผนงานกลุ่มสุขภาพและการแพทย์ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ นำคณะนักวิชาการร่วมกันเปิดตัวโปรแกรมปัญญาประดิษฐ์ประเมินอายุร่างกายและอวัยวะสำคัญ ประกอบด้วย ตับ ไต หัวใจ ตับอ่อน จากผลตรวจเลือด ซึ่งประชาชนสามารถนำการแปลผลไปใช้ในการวางแผนดูแลสุขภาพในการชะลอวัย ชะลอโรคได้

ศ.ดรธิดารัตน์ บุญมาศ รองอธิการบดีฝ่ายนวัตกรรมและวิสาหกิจ มข. กล่าวว่า โปรแกรมปัญญาประดิษฐ์สำหรับอายุร่างกายและอวัยวะสำคัญ มีนักวิจัยจากหลายคณะและหลายสถาบัน ซึ่งประกอบด้วยมหาวิทยาลัยขอนแก่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยมหิดล ที่แต่ละคนมีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ที่สร้างนวัตกรรมจากฐานข้อมูลสุขภาพครอบคลุมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จากเขตสุขภาพ 7-8-9 และ 10 ใช้ข้อมูล 59,675 ชุด และฐานข้อมูลจากผู้เข้าร่วมโครงการเพื่อเก็บข้อมูลสุขภาพเชิงลึกอีกกว่า 3,000 ราย แล้วนำข้อมูลประมวลผลด้วยปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งโปรแกรมนี้ช่วยให้ประชาชนระมัดระวังเรื่องการพักผ่อน พฤติกรรมและการบริโภค พร้อมนำไปใช้เพื่อส่งเสริมสุขภาพของประชาชนโดยรวมของประเทศได้

ศ.ดร.พัชรี เจียรนัยกูร นักวิจัยคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ศ.ดร.พัชรี เจียรนัยกูร นักวิจัยคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

ขณะที่ ศ.ดร.พัชรี เจียรนัยกูร นักวิจัยคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า สำหรับการตรวจสุขภาพด้วยโปรแกรมแปลผลอายุร่างกาย สามารถนำข้อมูลไปใช้ในการดูแลสุขภาพก่อนเกิดโรค สามารถนำข้อมูลไปปรับไลฟ์สไตล์ ทำให้การตรวจสุขภาพประจำปีครั้งต่อไปดีขึ้น ในส่วนของการพัฒนาโปรแกรมขึ้นต่อไปคือ การพัฒนาโปรแกรมให้มีความแม่นยำและสามารถใช้ได้กับประชากรทั้งประเทศ ซึ่งขณะนี้ฐานข้อมูลส่วนใหญ่เป็นข้อมูลในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หากมีความร่วมมือใช้โปรแกรมนี้ไปทุกภูมิภาค จะทำให้มีฐานข้อมูลเพิ่มขึ้น และทำให้โปรแกรมมีความแม่นยำมากขึ้น

“การแถลงข่าวถึงโปรแกรมนี้ จะทำให้ประชาชนสนใจ เรียนรู้ และเข้าใจในการดูแลสุขภาพตัวเองมากขึ้น เพื่อชะลอวัย และชะลอโรค จะได้มีการนำไปใช้จริง ขณะที่การเข้าถึงโปรแกรมนี้ ทางมหาวิทยาลัยได้จัดตั้งไว้ที่ คณะเทคนิคการแพทย์ มข. หากประชาชนสนใจเข้าใช้บริการนวัตกรรมนี้ สามารถเข้าไปติดต่อได้ โดยสามารถนำข้อมูลเดิมที่เคยตรวจสุขภาพประจำปี นำมาให้เจ้าหน้าที่ป้อนข้อมูลในโปรแกรม ที่ผ่านมาเคยนำโปรแกรมนี้ไปใช้ในผู้สูงวัย ใช้ในโครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบลแล้ว”

Leave a Response

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง