เมื่อเวลา 18.00 น. วันที่ 14 ก.พ.2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าที่บริเวณริมบึงสีฐาน ภายในมหาวิทยาลัยขอนแก่น หรือ มข. ได้มีนักท่องเที่ยวและประชาชนชาว จ.ขอนแก่นจำนวนมาก ทั้งคู่รัก เพื่อนรัก ทุกเพศทุกวัย พร้อมใจกันทำข้าวจี่รูปหัวใจในงานบุญข้าวจี่วาเลนไทน์ ประจำปี 2566 ซึ่ง มข.ได้กำหนดจัดกิจกรรมขึ้นท่ามกลางความสนใจของเหล่าคู่รักที่มานั่งปิ้งข้าวจี่รูปหัวใจสื่อรักแทนใจให้กับคนที่รักที่ล้วนต่างอิ่มท้องและอิ่มใจไปพร้อมกัน
น.ส.ดวงพร จอมคำสิงห์ นักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า วันนี้พาเพื่อนรักมาทำกิจกรรมร่วมกันเพราะความรักมีหลายรูปแบบเป็นความรักแบบเพื่อนก็ได้ จึงชวนกันมาจี่ข้าวรูปหัวใจในวันแห่งความรัก ซึ่งต่างคนต่างจี่ข้าวแล้วเอามารับประทานร่วมกันแสดงออกถึงความรักในอีกรูปแบบที่ไม่ใช่แค่แฟนกันอย่างเดียวเท่านั้น
ขณะที่ น.ส.ภทรชลพรรษ์ ผลเรือง นักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า วันนี้แต่งตัวมาเป็นทีม เพราะเราชอบเห็ดเหมือนกันในธีม วันนี้จึงสื่อให้เห็นว่าเห็ดที่ทุกคนเห็นในงานวันนี้เกิดจากความรัก ที่เพื่อนรักกลุ่มใหญ่ กลุ่มคนที่ทำอะไรชอบทำเหมือนๆกันจึงมาร่วมกันทำกิจกรรมในเทศกาลบุญข้าวจี่ วาเลนไทน์ปีนี้
“วันนี้ช่วยกันปั้นข้าวจี่เป็นรูปหัวใจนำไปชุบไข่หอมๆ แสดงให้เห็นถึงการมีความรักเป็นเรื่องที่หอมหวาน รับประทานได้ ความรักมาในรูปแบบเพื่อนกันก็ได้ เพื่อนที่รู้ใจ”
ด้าน รศ.ดร.นิยม วงศ์พงษ์คำ รองอธิการบดีฝ่ายศิลปวัฒนธรรมและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ มข. กล่าวว่า บุญข้าวจี่ วาเลนไทน์ ที่จัดขึ้นเป็นการอนุรักษ์และฟื้นฟู ที่ มข.ได้ประยุกต์ประเพณีได้อย่างสร้างสรรค์และที่สำคัญคือการเข้ากับยุคสมัยใหม่ ที่ถือเป็นการขับเคลื่อนศักยภาพทางวัฒนธรรมที่มีอยู่ในท้องถิ่นให้ปรากฏเป็นรูปธรรม บุญข้าวจี่วาเลนไทน์ จึงเป็นการพลิกฟื้นวัฒนธรรม
“อยากให้เด็กยุคปัจจุบันเข้าใจวิถีวัฒนธรรม ใครที่อยากร่วมสืบสานวัฒนธรรมบุญข้าวจี่ทาง มข.จัดให้ฟรีทุกอย่างไม่ว่าจะเป็น เตาไฟพร้อมถ่าน, นึ่งข้าวเหนียวร้อนๆให้อีกด้วย, ไข่ไก่, เกลือ มีให้พร้อมตลอดทั้งคืนยาวไปจนถึงเช้าวันที่ 15 กุมภาพันธ์ เพื่อที่จะได้มีข้าวจี่ร้อนๆไว้ใส่บาตรในตอนเช้า ฉะนั้นเพื่อให้คนหนุ่มสาวได้ฉลองความรักในเทศกาลวาเลนไทน์และมีโอกาสสืบสานประเพณีดั้งเดิมของชาวอีสาน มข.จึงกำหนดจัดงานบุญข้าวจี่วาเลนไทน์ขึ้นในวันแห่งความรัก ที่สอดแทรกแนวคิดและตีความหมายของความรักให้กว้างขึ้น โดยเฉพาะความรักความสามัคคีของคนในท้องถิ่นล้วนแต่เป็นประเพณีที่ส่งเสริมให้คนในชุมชนได้ออกมาร่วมกิจกรรมพบปะสังสรรค์กันอีกด้วย”
Leave a Response