นักวิชาการวอนทุกพรรคเลิกนโยบายขายยาแก้ปวด หันมาชูนโยบายแก้ปัญหาปากท้องอย่างยั่งยืน หลังพบติดป้ายทั้งจังหวัดอย่างแทบจะทุกต้นเสาไฟแล้ว

นักวิชาการวอนทุกพรรคการเมืองชูนโยบายแก้ปัญหาปากท้อง ดีกว่าขายยาแก้ปวดไปวันๆ หลังพบติดป้ายทั้งจังหวัดอย่างแทบจะทุกต้นเสาไฟแล้ว


เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 16 ก.พ.2566 รศ.ดร.ธนพฤกษ์ ชามะรัตน์ อาจารย์คณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น หรือ มข. ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนที่ จ.ขอนแก่น ว่า การติดป้ายหาเสียงกันอย่างคึกคัก จากทุกพรรคการเมืองที่เห็นปรากฎตามถนนและจุดติดตั้งป้ายต่างๆทั่วทั้ง จ.ขอนแก่น ขณะนี้โดยส่วนตัวมองว่าคนอีสานส่วนใหญ่ยังต้องการนโยบายปากท้องมาเป็นอันดับแรก และทุกพรรคควรที่จะเลิกพูดนโยบายขายยาแก้ปวดไปวันๆเพราะเป็นเรื่องที่ไม่ยั่งยืน เพราะนโยบายที่เชื่อว่ามีผลต่อคนอีสานที่จะทำเลือกพรรคนั้นอันดับแรกต้องเป็นนโยบายปากท้อง ซึ่งต้องเป็นปากท้องที่ไม่ใช่การสงเคราะห์เหมือนที่ผ่านๆมา เพราะการสงเคราะห์คือการที่จะให้อย่างนั้นอย่างนี้ เป็นนโยบายยาเสพติดฉีดยาให้หายเจ็บหายปวดแต่ว่าไม่ได้หายขาด

“คนอีสานมีความรู้มากพอเพราะมีประสบการณ์ต่างๆที่ผ่านมาเพื่อที่จะเรียนรู้ว่าควรจะเลือกนโยบายแบบไหน เท่าที่ดู ตอนนี้ ป้ายที่พรรคการเมืองนำมาติดเป็นนโยบายต่างๆเต็มไปหมด โดยนโยบายที่จะแก้ปัญหาได้ระยะยาวและถูกที่ถูกจุดจริงๆ ยังมีให้เห็นไม่มาก ส่วนมากจะเป็นนโยบายขายฝัน ขายมอร์ฟีน ขายยาแก้ปวดไปวันๆ”

รศ.ดร.ธนพฤกษ์ กล่าวต่ออีกว่า นโยบายที่นำมาติดป้ายแก้ปัญหาได้จริงหรือไม่ ทั้งนโยบายเรื่องการศึกษา นโยบายเรื่องการสร้างฐานอำนาจประชาชน การกระจายอำนวยที่ให้ประชาชนมามีส่วนร่วมได้อย่างแท้จริงยังไม่ค่อยมี ซึ่งพรรคการเมืองอาจจะมองว่าเป็นเรื่องที่จับต้องยากแต่พรรคไหนที่สามารถจะแปลงเรื่องยากๆแบบนี้ให้เห็นเป็นรูปธรรมได้น่าจะทำให้ประชาชนมองเห็นภาพและเอากลับมาพิจารณาในการเลือกตั้งครั้งนี้

“นโยบายพรรครวมไทยสร้างชาติมองได้ 2 มุม อย่างแรกอาจจะได้เครือข่ายเพิ่มขึ้นในการเลือกตั้งที่จะมาถึงในขณะเดียวกันต้องแลกมาด้วยการถูกมองในทางที่ไม่ดีบ้างเพราะการที่มาขึ้นเงินเดือนให้ อบต. ในช่วงใกล้เลือกตั้งแบบนี้ อดคิดไม่ได้ว่าเป็นเกมส์การเมือง อบต.ถ้ารวมทั้งประเทศน่าจะมีอยู่ประมาณ 400,000 คน แต่จะมั่นใจได้หรือไม่ว่าการขึ้นเงินเดือนให้แล้วเค้าจะมาเป็นไม้เป็นมือให้จริงรึเปล่าเพราะไม่มีอะไรการันตี มองว่าเป็นคนกลุ่มเล็กคะแนนอาจจะไม่ขยับ สำหรับนโยบายของพรรคเพื่อไทยที่ชูค่าแรง 600 บาท ในปี 2570 คิดว่าเป็นนโยบายที่น่าสนใจเพราะว่าตอนที่เป็นชื่อพรรคเก่าเคยมีนโยบายแบบนี้ออกมาแล้วเราก็มองว่าทำได้จริงหรือ แต่ก็มีผลงานวิจัยหลายชิ้นที่พิสูจน์ว่าทำได้จริง ถ้ามองว่า 600 บาทดูสูง แต่อย่างลืมว่าค่าครองชีพทุกวันนี้เป็นยังไงวันนึงใช้ 500 บาท จะพอรึเปล่าก็ยังไม่รู้แต่ถ้าทำนโยบายนี้ได้จริงจะเป็นอะไรที่น่าสนใจมากและต้องรอดูว่ารายละเอียดในการทำเป็นยังไงบ้างแต่ต้องรอดูว่าจะทำให้เป็น 600 บาท ทำยังไงอันนี้น่าสนใจ สำหรับนโยบายพรรคก้าวไกลยังขายได้ในภาคอีสานแต่ต้องปรับอีกสักหน่อยเพราะว่าเสียงของคนรุ่นใหม่เป็นเสียงที่มีพลัง คิดว่าผู้ใหญ่หลายคนชื่นชอบนโยบายของพรรคนี้แต่ก็ยังกังวลใจว่าในความก้าวหน้าจะทำยังไงให้คนทุกกลุ่มวัยเดินไปด้วยกันได้ การเสริมพลังเยาวชนคนรุ่นใหม่ถือว่าเป็นนิมิตรหมายที่ดี”

รศ.ดร.ธนพฤกษ์ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่าสำหรับนโยบายของพรรคไทยสร้างไทย คิดว่าประเด็นที่ชูมาแบบนี้ที่อีสานผมคิดว่า 50 % เพราะว่าบางประเด็นคล้ายๆกับเป็นการลอกของเก่ามาปรับให้ดูใหม่แต่ว่าโดยตัวรายละเอียดยังไม่เห็น เชื่อว่าเจ้าของเสียงโหวดเหมือนคนไปซื้อของเวลาจะไปซื้อของต้องดูว่าของดีจริงหรือไม่คงจะไม่ได้ดูแค่แบรนด์แบบเดิมต้องดูว่าข้างในอร่อยมั้ย วัตถุดิบดีมั้ย คิดว่าคนเลือกจะฉลาดพอ บางพรรคที่ออกนโยบายที่ฉาบฉวยคิดว่าจะอยู่ได้ไม่นานและนโยบายของพรรคพลังประชารัฐ บัตรประชารัฐ 700 บาท ของลุงป้อมก็อาจจะได้ใช้ก็ได้ต้องมีคนชอบแต่อย่าลืมว่านโยบายแบบนี้คือนโยบายยาแก้ปวดไม่ยั่งยืนและนโยบายแบบนี้สร้างความเลื่อมล้ำขึ้นในสังคมเป็นอย่างมาก ระยะหลังบริการสาธารณะหลายอย่างไปผูกโยงเพื่อคนบางกลุ่มซึ่งจะมีคนทำให้ถูกทิ้งไว้ข้างหลังเยอะไปหมด กลุ่มคนจนเมือง กลุ่มคนชายขอบ สังคมละเลยคนเหล่านี้ไปรึเปล่าบางทีอาจจะต้องกลับมาทบทวนวิธีการให้คนหลายๆกลุ่มเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมจะทำอย่างไรแล้วแต่คนจะชอบไม่ชอบ

Leave a Response

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง