[ ชมคลิป ]
เมื่อเวลา 16.30 น.วันที่ 4 มีนาคม 2566 ที่เทศบาลตำบลบ้านค้อ อ.เมือง จ.ขอนแก่นนายจักรพงศ์ เพ็ชรแสน นายกเทศมนตรีตำบลบ้านค้อ พร้อมชาวชุมชนทั้ง 20 หมู่บ้าน10 โรงเรียน ร่วมกันแห่บุญมหาชาติ(บุญผะเหวด) เทศกาลหุ่นเซียงยืน บนถนนสายบ้านค้อ หนองแปน ระยะทางกว่า 4 กม. ซึ่งแต่ละหมู่บ้านจะมีชาวบ้านแต่งตัวเป็นหุ่นเซียงยืน ในลักษณะต่างๆจำนวน 200 ตัว
นายจักรพงศ์ เพ็ชรแสน นายกเทศมนตรีตำบลบ้านค้อ กล่าวถึงการจัดงานประเพณีบุญมหาชาติ(บุญผะเหวด) เทศกาลหุ่นเซียงยืน ประจำปี 2566 ว่า เพราะประเพณีบุญมหาชาติหรือบุญผะเหวด เป็นประเพณีบุญประจำปีในฮีตสิบสอง ที่ชาวตำบลบ้านค้อธำรงสืบต่อกันมาเป็นเวลาช้านาน ตามคติความเชื่อที่ว่า หากผู้ใด ได้ฟังเทศน์เรื่องราวพระเวสสันดรจบทั้ง 13 กัณฑ์ ภายในการเทศน์ครั้งเดียว จะได้เกิดร่วมชาติภพกับพระศรีอริยเมตไตย เกิดความอุดมสมบูรณ์ สุขภาพแข็งแรง อายุยืนยาวอยู่เย็นเป็นสุขภายในชุมชน
ซึ่งในปีนี้ในการจัดงานบุญผะเหวดของชาวตำบลบ้านค้อ ได้มีการฟื้นฟูวัฒนธรรมหุ่นเซียงยืนของตำบลบ้านค้อ ที่ได้หายไปจากชุมชนเป็นเวลานาน ซึ่งหุ่นเซียงยืนในภาพความทรงจำและคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ ปราชญ์ชาวบ้านและบุคคลสำคัญ ในท้องถิ่น คือ ศรัทธา คือผู้นำพาพี่น้องป้องปายสร้างบ้านแปงเมือง ผู้นำในการเผชิญต่อสู้อุปสรรคปัญหาต่าง ๆ รวมทั้งภัยจากธรรมชาติ หุ่นเซียงยืนสร้างจากวัสดุอุปกรณ์ ภายในท้องถิ่น เช่น ไม้ไผ่ เศษผ้า เศษเส้นด้าย เศษเส้นไหม รวมถึงผ้าขาว ผ้าอาบน้ำฝน ผ้าสบง จีวร ที่ไม่ใช้แล้ว มีการเขียนคิ้วเขียนตา แต้มสีสันด้วยสีจากเปลือกไม้ จากก้อนถ่าน อัตลักษณ์ของเซียงยืนมีลักษณะ ไม่ดุร้าย ไม่น่ากลัว สร้างความอบอุ่นสนุกสนานรื่นเริงต่อผู้พบเห็น
“การจัดงานก็เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนผู้เลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนา ได้มีโอกาสร่วมกันทำกิจกรรม ประเพณีอันดีงามและศาสนาพิธีต่างๆ ตลอดจนเป็นแบบอย่างที่ดีในการน้อมนำหลักธรรมต่างๆ มาประพฤติปฏิบัติตนเพื่อให้เกิดความผาสุกในสังคมและชุมชน เป็นการส่งเสริม อนุรักษ์จารีต ประเพณี วัฒนธรรมอันดีงาม ให้คงอยู่กับสังคมไทยสืบไป ประชาชนในตำบลเกิดความภาคภูมิใจ เกิดความรัก ความสมานสามัคคีของคนในตำบลบ้านค้อและตำบลใกล้เคียง และประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมของตำบลบ้านค้อ รวมทั้งส่งเสริมการกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างรายได้ให้เกิดขึ้นกับชุมชน ท้องถิ่น จังหวัดและภูมิภาคต่อไป”
“หุ่นเซียงยืนนั้น มีความเกี่ยวข้องกับประชาชนในพื้นที่มานานแล้ว เนื่องจากเซียงคือบุคคลที่ทำความดี เป็นที่เคารพนับถือของคนในหมู่บ้านชุมชน มาแต่โบราณ แต่เซียงยืนหายไปจากชุมชนกว่า 50 ปีแล้ว เมื่อได้รับเลือกให้เป็นนายกเทศมนตรีตำบลบ้านค้อ จึงถือโอกาสสร้างหุ่นเซียงยืนกลับมาอีกครั้ง และจะส่งเสริมให้คนในท้องถิ่นร่วมอนุรักษ์ และสร้างหุ่นเซียงยืนให้อยู่คู่ตำบลบ้านค้อและจังหวัดขอนแก่น ร่วมถึงสร้างชื้อเสียงให้ประเทศไทยด้วยการส่งเสริมให้นักท้องเที่ยวได้รู้จักและมเที่ยวชมหุ่นเซียงยืนที่ตำบลบ้านค้อ เช่นเดียวกับผีตาโขนของจังหวัดเลย โดยจะบรรจุเข้าในแผนปฏิทินการท่องเที่ยวของจังหวัดขอนแก่น ให้นักท่องเที่ยวรู้ว่า ในช่วงเดือนมีนาคมของทุกปี ต้องมาเที่ยวชมการสร้างและขบวนแห่หุ่นเซียงยืนที่ตำบลบ้านค้อ ซึ่งในปีนี้มีหุ่นเซียงยืนยักษ์จำนวน 3 ตัว นอกจากนั้นเป็นหุ่นเซียงยืนตัวเล็ก ร่วม 200 ตัวเป็นหุ่นเซียงยืนในวัยหนุ่มสาวและผู้สูงอายุ เพราะหุ่นเซียงยืนสร้างจากจินตนาการของคนในชุมชน”
Leave a Response