มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยทีมวิจัยโครงการวิทยาลัยหมอลำกับเศรษฐกิจสร้างสรรค์: วิถีการแปรเปลี่ยนนวัตกรรมและการประกอบการทางวัฒนธรรมในสังคมเสมือน ร่วมกับทีมนักพัฒนา Metaverse จาก Khon Kaen InfiniteLand เปิดตัวนวัตกรรมดิจิทัลจากทุนทางวัฒนธรรมในพื้นที่โลกเสมือน “หมอลำเมตาเวิร์ส” (Molam Metaverse) ซึ่งเป็นพื้นที่เรียนรู้ใหม่ที่ทุกคนสามารถท่องโลกหมอลำผ่านพื้นที่โลกเสมือนจักรวาลนฤมิตร
การออกแบบหมอลำจักรวาลนฤมิตร (Molam Metaverse) มีเป้าหมายเพื่อเปิดพื้นที่และช่องทางการเรียนรู้รูปแบบใหม่ในยุคดิจิทัลโดยใช้กลไกและหลักคิดของ Metaverse โดยผู้ใช้สามารถเข้าถึงแหล่งเรียนรู้จากทุนทางวัฒนธรรมด้านหมอลำได้ทุกที่ทุกเวลาและเสมือนจริง นอกจากนั้นพื้นที่หมอลำเมตาเวิร์สยังสามารถเชื่อมต่อกับแพลตฟอร์มแผนที่วัฒนธรรม (Cultural Map) ที่เป็นเครือข่ายห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ที่เกี่ยวโยงกับการประกอบการธุรกิจที่อยู่ภายใต้คลัสเตอร์หมอลำซึ่งจะช่วยส่งเสริมและเพิ่มการรับรู้ไม่ใช่เฉพาะหมอลำเท่านั้น แต่เป็นการเพิ่มพื้นที่เข้าถึงการประกอบการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องได้ด้วย
นอกจากนี้ Molam Metaverse จะเป็นทั้งแหล่งเรียนรู้และพื้นที่ส่งเสริมการประกอบการในช่องทางดิจิทัลที่อำนวยประโยชน์แก่ธุรกิจหมอลำ ศิลปินหมอลำ และผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง ซึ่งในอนาคตพื้นที่ Molam Metaverse สามารถที่จะต่อยอดไปยังกิจกรรมและช่องทางอื่น ๆ เพิ่มเติมได้เมื่อมีเทคโนโลยีใหม่เข้ามาเสริม เป็นช่องทางการเผยแพร่องค์ความรู้ เรื่องราว และธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับห่วงโซ่อุปทานของหมอลำ เป็นการส่งเสริมการใช้เครื่องมือดิจิทัลในรูปแบบใหม่ ให้กลุ่มผู้ประกอบการหมอลำ และสามารถสร้างประสบการณ์ใหม่ให้แก่กลุ่มผู้ใช้งานสู่การขยายฐานลูกค้าที่รับชมการแสดงหมอลำทั้งภายในและต่างประเทศได้ โดยเฉพาะกลุ่มที่ไม่รู้จักหมอลำมาก่อน
ผศ.ดร.ศิริศักดิ์ เหล่าจันขาม หัวหน้าโครงการวิจัยฯ กล่าวว่า “หมอลำเมตาเวิร์ส” เกิดจากการตั้งคำถามพื้นฐานง่าย ๆ ที่ว่า ในยุคที่เมตาเวิร์สเข้ามามีอิทธิพลในกระแสสังคมดิจิทัล หมอลำจะเข้าไปอยู่ในพื้นเสมือนนั้นได้อย่างไร เราไม่ทราบหรอกว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร แต่เราอยากทดลอง ทดสอบ และอยากใช้พื้นที่นี้เป็นพื้นที่ที่ช่วยให้เกิดแนวความคิดและนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่จะมาช่วยต่อยอดหมอลำให้ก้าวไปให้ทันยุคดิจิทัลให้ได้” หมอลำ เมตาเวิร์สนับเป็นนวัตกรรมดิจิทัลจากทุนทางวัฒนธรรมที่เป็นการเปิดพื้นที่ให้ให้คนทั้งที่รู้จักและไม่รู้จักหมอลำสามารถเข้าถึงเข้าถึงหมอลำได้ง่ายขึ้น โดยการวิจัยครั้งนี้คณะผู้วิจัยมุ่งศึกษาทดลองกับ หมอลำหมู่ หรือ หมอลำเรื่องต่อกลอน เป็นหลัก ในพื้นที่โลกเสมือนหมอลำเมตาเวิร์ส ผู้วิจัยได้ออกแบบพื้นที่เชื่อมต่อกันเป็น 2 โซน ประกอบด้วย
โซนที่ 1 เปิดโลกหมอลำ เป็นพื้นที่โถงกลางให้คนได้เห็นภาพบรรยากาศหน้าเวทีหมอลำ มีอวาร์ตาร์ออกลีลาท่าเต้นอยู่หน้าเวทีการแสดงหมอลำ เสมือนการฉายภาพมโนมติให้เกิดจินตนาการสำหรับคนที่ไม่เคยรู้จักหมอลำ ก่อนที่จะเข้าไปสัมผัสโลกของหมอลำในขั้นตอนต่อไป นอกจากนี้ในพื้นที่โซนที่ 1 ยังจัดให้มีช่องทางการเชื่อมต่อเข้าถึงหมอลำคณะต่าง ๆ ผ่าน Social Network และการเข้าถึงฐานข้อมูล Cultural Map ที่เชื่อมโยง Supply Chain ต่าง ๆ ที่เกิดจากหมอลำ ในส่วนสุดท้ายของโซนที่ 1 จะเป็นจุดที่ Avatar สามารถว้าปเข้าไปเยี่ยมชมในโซนที่ 2
โซนที่ 2 หมอลำแกลอรี เป็นพื้นที่แสดงนิทรรศการให้ความรู้เกี่ยวกับหมอลำ โดยแบ่งเนื้อหาออกเป็น 4 ส่วน ประกอบด้วย ยุคแรก จุดกำเนิดของหมอลำหมู่ที่พัฒนามาจากหมอลำพื้น ยุคที่สอง ยุคที่พัฒนาจากหมอลำพื้นสู่หมอลำหมู่ ยุคที่สามคือยุคที่พัฒนาสู่คอนเสิร์ตหมอลำเรื่องต่อกลอน และส่วนสุดท้าย แสดงหมอลำ Avatar ที่นำเสนอการปั้นหุ่นอวาร์ตาร์ตัวแสดงสำคัญของหมอลำหมู่ ในส่วนสุดท้ายเป็นการนำเสนอนวัตกรรมดิจิทัลในพื้นที่จักรวาลนฤมิตร (Metaverse) โดยการจัดแสดงหมอลำและนักแสดงอวาตาร์ที่ทีมวิจัยได้ออกแบบขึ้น หมอลำอวาตาร์ที่นำเสนอประกอบด้วย พระเอก นางเอก ในยุคแรกและยุคปัจจุบัน โดยสังเกตได้จากลักษณะเครื่องแต่งกาย รวมถึงตัวอวาตาร์ที่เป็นศิลปินนักแสดงในส่วนต่าง ๆ ของคณะหมอลำ เช่น ตลก แดนเซอร์ เป็นต้น นอกจากนั้น หมอลำอาวาตาร์ที่นำเสนอยังสามารถเคลื่อนไหวได้ด้วยลีลาท่าทางการฟ้อนรำอย่างสนุกสนาน ซึ่งเป็นการเปิดประสบการณ์เสมือนจริงแก่ผู้เข้าชมได้ใกล้ชิดกับหมอลำอวาตาร์ ประสบการณ์จากการทำหมอลำเมตาเวิร์สทำให้คณะผู้วิจัยได้สัมผัสกับประสบการณ์การออกแบบและทดลอง ซึ่งเชื่อว่ายังไม่มีที่ใดมาก่อน อีกทั้งทำให้นักวิจัยสามารถสร้างจินตนาการจากการทดลองนี้เพื่อต่อยอดไปยังการออกแบบส่วนอื่น ๆ ให้สมบูรณ์ในอนาคต
ผู้สนใจท่องโลกหมอลำเมตาเวิร์สสามารถเข้าชมได้ผ่าน 2 ช่องทาง คือ
1) ผ่าน web browser ที่ Link: MoLam Metaverse | Spatial
2) ผ่านแอฟพลิเคชัน spatial และใช้คำค้นว่า “Mo Lam” หรือ สแกน QR Code
QR CODE
เนื่องจาก Spatial.io มีข้อจำกัดหลายด้าน ทีมวิจัยจึงพัฒนา metaverse เพื่อรองรับการ scale up การ log on ใช้งานของ user จำนวนมากในเวลาเดียวกัน ที่ลิ้งค์ หรือ หรือ QR Code ดังนี้
Link: https://infinitland.com/metaverse/morlam/?undefined
QR CODE
การนำหมอลำเข้าสู่โลกเมตาเวิร์สนับว่าเป็นเรื่องใหม่ที่นักวิจัยได้ทำการทดลองออกแบบ ขณะที่เทคโนโลยีเมตาเวิร์สยังอยู่ในระหว่างการพัฒนาจึงพบข้อจำกัดจากการใช้ Spatial App หลายประการ ดังนี้
1) Application ที่มี Version ล้ำสมัยอาจพบปัญหาในการโหลด Avatar หรือ Object หรือฉากจึงแนะนำให้ Update Application ตาม link ดังนี้
– Android: https://play.google.com/store/apps/details…
– iOS: https://apps.apple.com/app/id1528403747
2) สัญญาณ Internet ที่แนะนำสำหรับการเข้าใช้งาน ควรเป็น 10Mbps download, 2Mbps upload หรือ ถ้าต้องการให้มีความเสถียรสูงที่สุดควรจะใช้ความเร็วสัญญาณ 50Mbps download, 10Mbps upload
ในส่วนข้อจำกัดของ Verse ที่พัฒนาโดย InfinitLand ที่ไม่ได้ใช้ Spatial พบว่า
1) สัญญาณ Internet ที่แนะนำสำหรับการเข้าใช้งาน 50Mbps download, 10Mbps upload
2) อุปกรณ์ที่ใช้งานควรมี RAM อย่างน้อย 6 GB ขึ้นไป
3) ยังไม่แนะนำให้ใช้กับอุปกรณ์พกพา เช่น มือถือ Tablet ฯลฯ โดยเฉพาะที่ใช้ระบบปฏิบัติการ iOS ทั้งนี้ ไม่นับรวมระบบปฏิบัติการ OSX ของ MacBook หรือ PowerMac หรือ MacMini
(หมายเหตุ: ความเร็วของ Internet และพื้นที่ความจุในคอมหรือโทรศัพท์มีผลต่อการเข้าถึงเมตาเวิร์ส และยังมีอีกหลายปัจจัยที่ยังเป็นข้อจำกัดของระบบเมตาเวิร์สซึ่งคิดว่าผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกกำลังพัฒนาไปอย่างไม่หยุดยั้ง)
Leave a Response