ขอนแก่น: ต้นแบบดูแลรักษาผู้ป่วยสมองเสื่อมสูงอายุ เขตสุขภาพที่ 7 กลุ่มจังหวัดร้อยแก่นสารสินธุ์ สรุปบทเรียนและการขยายผลจากโครงการวิจัย สู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุไทยในอนาคตต่อไป
เวลา 09.00 น. วันที่ 1 มิ.ย.66 ที่โรงแรมอวานี ขอนแก่น โฮเทล แอนด์ คอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ อ.เมืองขอนแก่น จ.ขอนแก่น นายแพทย์ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 7 เป็นประธานพิธีเปิดการประชุมการดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อม บทเรียนและการขยายผลจากโครงการวิจัยการสร้างความร่วมมือเพื่อการดูแลรักษาผู้ป่วยสมองเสื่อมสูงอายุ (Partnership in Implementation Science for Geriatric Mental Health, หรือ PRISM) ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างมูลนิธิสังคมและสุขภาพ วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีขอนแก่น สำนักงานเขตสุขภาพที่ 7 องค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น และองค์การบริหารส่วนจังหวัดร้อยเอ็ด และร่วมกับ The Brigham and Women’s Hospital, Harvard Medical School และ College of Social Work, University of South Carolina โดยโครงการนี้ได้ทุนสนับสนุนการวิจัยจากศูนย์วิจัยสุขภาพจิตระดับโลก (Center for Global Mental Health Research: CGMHR) ของสถาบันสุขภาพจิตแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา (Nation Institute for Mental Health: NIMH)
นายแพทย์ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ กล่าวว่า ปัญหาการดูแลผู้สูงอายุสมองเสื่อมเป็นปัญหาที่สำคัญในสังคมผู้สูงอายุที่ประเทศไทยและทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่ และยังไม่มีวิธีการรักษาภาวะการเสื่อมของสมองให้กลับคืนมาได้ ซึ่งผู้สูงอายุสมองเสื่อมส่งผลต่อความทุกข์ของผู้ดูแลในครอบครัว ทั้งทางด้านร่างกายจิตใจ เศรษฐกิจและสังคม ทำให้เกิดค่าใช้จ่ายการดูแลผู้ป่วยในภาพรวมมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นตามสัดส่วนของผู้สูงอายุในอนาคต การแสวงหาแนวทางการจัดการปัญหาภาวะสมองเสื่อม จึงเป็นนโยบายสำคัญของกระทรวงสาธารณสุขในปัจจุบัน โครงการนี้ดำเนินมาตั้งแต่ ปี พ.ศ.2560 ถึง 2566 ทำให้เกิดการขับเคลื่อนการพัฒนาระบบสุขภาพเพื่อผู้สูงอายุสมองเสื่อมด้วยกัน และทำให้เกิดบทเรียนที่สำคัญของการพัฒนาระบบการดูแลผู้สูงอายุสมองเสื่อมที่สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ ทั้งในเรื่องค้นหาผู้ป่วยสมองเสื่อมเพื่อให้เข้าถึงระบบบริการ และกระบวนการดูแลรักษาผู้ป่วยสมองเสื่อมสอดคล้องบริบทของพื้นที่
“หน่วยระดับนโยบายด้านสุขภาพ ทั้งกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ องค์การบริหารส่วนจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะนำบทเรียนดีๆเหล่านี้ไปขยายผลสู่การดูแลในเชิงป้องกันภาวะสมองเสื่อมต่อไป การประชุมครั้งนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของการสร้างความร่วมมือในการดูแลรักษาผู้ป่วยสมองเสื่อมร่วมกันของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อเป้าหมายเพื่อทำให้เกิดการขับเคลื่อนระบบการดูแลรักษาผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อมที่มีประสิทธิภาพ อันจะนำมาซึ่งการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุไทยในอนาคตต่อไป” ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 7 กล่าว
Leave a Response