“ปะจัน” โดย “เขี้ยวจัน”
ที่นี่….ไม่ใช่คอลัมน์ร้องทุกข์ แต่เป็น การสังคมอุดมปัญญา ลุกขึ้นมา “ทวงสิทธิ” ของการเป็นพลเมืองผู้ตื่นรู้ เจ้าของคะแนนเสียงที่เลือก “ตัวแทน” ในทุกระดับ ของการปกครองส่วนท้องถิ่น และการบริหารบ้านเมือง ด้วยข้าราชการ “ตัวแทน” จากส่วนกลาง ทุกกระทรวง ทบวง กรม…[ หน้ารวมบทความ ปะจัน ]
เคยไปโรงพยาบาล แล้วเจอ มุมหนึ่ง ที่มีป้ายติดว่า “ประกันสังคม เชิญทางนี้ “ ไหม ? และเราจะได้รับการรักษา แบบไม่ต้องจ่ายเงิน นั่นแหละ เป็นส่วนหนึ่งของ “รัฐสวัสดิการ”
“รัฐสวัสดิการ” มีความหมายในเชิงกว้าง ว่า รัฐมีบทบาทสำคัญในการคุ้มครองและส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีทางเศรษฐกิจและสังคมของพลเมือง
เรื่องนี้ มีข้อมูล ที่ส่งกันในโลกออนไลน์ ว่า “กองทุนประกันสังคม” ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบาย ของ “รัฐสวัสดิการ” จะขาดทุน จะเจ๊ง ในอีก 30 ปี ข้างหน้า ตกใจ ใจตก ไหม ? คนวัยทำงานอาจ วิตก กังวล แต่ กลุ่ม สว. อาจเฉยๆ เพราะ คง “กลับบ้านเก่า” กันหมดแล้ว กระมัง ?
โลกการสื่อสาร เช็ค สอบทานข้อมูล ได้ไม่ยาก แต่อย่าเชื่อข้อมูล แบบฉากเดียว มะ…มาลองเช็คข้อมูลกัน
ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ 2560 ระบุข้อความบางวรรค ด้าน การดูแลจัดสรรสวัสดิการให้ประชาชน ว่า “บุคคลผู้ยากไร้ย่อมมีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขของรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายตามที่กฎหมายบัญญัติ”
“สวัสดิการ” ที่รัฐจัดสรรให้ประชาชน เริ่มต้นในยุโรป เข้ามาเมืองไทย เมื่อปี 2480 หรือ เมื่อ 86 ปี ก่อน จึงไม่ใช่เรื่องใหม่ ต่อมา มีการยกระดับตามประกาศคณะปฏิวัติ ปี 2515 และจัดตั้ง เป็น “สำนักงานกองทุนประกันสังคม” ในปี 2533 หรือ 33 ปีก่อน
สำนักงานกองทุนประกันสังคม ดูแล บริหารจัดการ กองทุน 2 ประเภท คือ กองทุนประกันสังคม และกองทุนเงินทดแทน
กองทุนประกันสังคม : มีที่มาของเงิน กองทุน จาก 3 ฝ่าย คือ ฝ่ายลูกจ้าง-คนทำงาน ที่ต้องจ่าย เดือนละ 750 บาท …คุ้นๆ ไหม ฝ่ายนายจ้าง-จ่ายสมทบ เป็นหน้าที่ตามกฎหมาย ฝ่ายรัฐบาล-จ่ายเป็นเงินอุดหนุน
กองทุนเงินชดเชย : จ่ายโดยนายจ้าง ตามความเสี่ยงของธุรกิจ และมีธุรกิจบางประเภท ที่ได้รับยกเว้น กองทุนนี้ มีไว้เพื่อ ดูแล ช่วยเหลือลูกจ้าง
มีการคาดการณ์ ตามความกังวลใจ กับโลกที่เปลี่ยนแปลงไป พบว่า “กองทุนประกันสังคม” อาจแบกรับภาระ ไปต่อ ไม่ได้ ในอีก 30 ปี ข้างหน้า หรือ ปี 2596 ถึงขั้นใช้คำว่า “เจ๊ง” จากปัจจัย แวดล้อม ได้แก่ 1)การจ่ายเบี้ยคนชรา ให้กับประชากรกลุ่มสูงวัย ซึ่งมีอัตราเพิ่มขึ้น ตามโครงสร้างของประชากรโลก-รวมทั้งเมืองไทยด้วย 2)สัดส่วนของคนทำงานน้อยลง เด็กเกิดน้อยลง คนชอบทำงานอิสระ การจ่ายเงินในส่วนของลูกจ้าง จึงน้อยลง 3 ) รัฐบาล มีภาระ หนักมาก กับ หนี้สาธารณะ และ 4) การบริหาร เงินกองทุน กว่า 2 ล้านล้านบาท นั้น ได้รับผลตอบแทน ในอัตราที่ อาจติดลบ-ขาดทุน หรือได้รับผลตอบแทน ไม่เป็นไปตามแผนงาน เช่น ลงทุน ซื้อหุ้นบริษัทจดทะเบียน ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และ อื่นๆ
การเป็น “รัฐสวัสดิการ” ที่เราเห็นตัวอย่างในต่างประเทศ คือ การเก็บภาษี “คนรวย” มาช่วย “คนจน” บ้านเขา โดนภาษีกันหนักมาก บางประเทศ หาเงินมาได้ 100 บาท เสียภาษี 60 บาท แต่พวกเขาก็มีความสุข และใช้ชีวิตตามระเบียบชุมชน ใครเลี่ยงภาษีมีโทษหนัก
แล้วหันกลับมอง เมืองไทย กันนะ จ่ายน้อยเป็นทำ เลี่ยงได้เป็นเลี่ยง กับภาษี ใช้คำว่า “บริหารภาษี” คือ จ่ายให้น้อยที่สุด
แต่ พรรคการเมือง มักนำ “ปลายคำ” มาโปรยหาเสียง โดยพี่น้องประชาชน ไม่ทันได้ฉุกคิดว่า จะนำเงินก้อนใหญ่ มาจัดสรร ให้เป็น “รัฐสวัสดิการ” ได้อย่างไร ??
การคาดการณ์ ล่วงหน้า ในอีก 30 ปี ต่างหาก ที่เป็น “โจทย์” ให้ นักการเมือง ที่อ้างคำว่า เป็น “ตัวแทน” พี่น้องประชาชน มาบริหารประเทศ ต่างหากเล่า ที่ต้อง เข้ามาวางแผนบริหารงาน เรื่องนี้ เพื่อไม่ให้ ปลายทาง ที่อาจเป็น “ฝันร้าย” เกิดขึ้นได้จริง……
Leave a Response