“ปะจัน” โดย “เขี้ยวจัน”
ที่นี่….ไม่ใช่คอลัมน์ร้องทุกข์ แต่เป็น การสังคมอุดมปัญญา ลุกขึ้นมา “ทวงสิทธิ” ของการเป็นพลเมืองผู้ตื่นรู้ เจ้าของคะแนนเสียงที่เลือก “ตัวแทน” ในทุกระดับ ของการปกครองส่วนท้องถิ่น และการบริหารบ้านเมือง ด้วยข้าราชการ “ตัวแทน” จากส่วนกลาง ทุกกระทรวง ทบวง กรม…[ หน้ารวมบทความ ปะจัน ]
10 สิงหาคม ของทุกปี กำหนดเป็น “วันกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ”
ปี 2566 วางเวลา ว่า เป็น วันกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ปีที่ 131 หันกลับไปมอง เอ..อายุเท่า กระทรวงมหาดไทย ซึ่งเป็น ต้นสังกัด เลยนะ แสดงว่า คงมีกำเนิดมาพร้อมกัน แต่พอลงลึก พบว่า มีมายาวนานกว่า ซะอีก….
ประวัติศาสตร์ ของกำเนิด กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน มีมาตั้งแต่ยุคสุโขทัย ที่มี โครงสร้างการปกครอง ระดับ เจ้าเมือง> นายแขวง >นายแคว้น>นายบ้าน
พบว่าสองตำแหน่งสุดท้าย นี่แหละ เป็นตำแหน่ง ที่เรียกว่า “กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน” ในเวลาต่อมา
ในยุครัตนโกสินทร์ ล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 แบ่งการปกครอง เป็น 12 กระทรวง ให้ทันสมัย หนึ่งในกระทรวงหลัก คือ กระทรวงมหาดไทย
ปี 2435 เสนาบดี พระองค์แรก ของกระทรวงมหาดไทย คือ “สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ “ จึงทรงให้ทดลองมีการเลือกตั้ง “กำนัน” เป็นครั้งแรกที่พระนครศรีอยุธยา โดยมี “พระยารัตนกุลอดุลยภักดี “ (จำรัส รัตนกุล) เป็นกำนันคนแรก ชื่อจึงปรากฏตามประวัติศาสตร์
กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เป็นนักปกครองท้องที่ ที่ทำงาน “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” และ เป็นกำลังสำคัญของมหาดไทย
“ผู้ใหญ่บ้าน ” เป็นตัวแทนระดับหมู่บ้าน ที่ชาวบ้าน เลือก เพื่อทำหน้าที่ ดูแล ปกครองราษฎร รายงานเหตุการณ์ที่ไม่ปกติ รับเรื่องราวร้องทุกข์ แจ้งให้รัฐ เข้ามาแก้ไข ตลอดจน การปฏิบัติงานตามคำสั่ง นายอำเภอ โดยมี “ผู้ช่วย” ได้ 2 คน
“กำนัน” เป็นตัวแทน ระดับตำบล โดยผู้ใหญ่บ้าน เป็นคนเลือก
กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน มีเงินเดือนไหม ?
พวกเขาเป็น “เจ้าหน้าที่ของรัฐ” จึงมีค่าตอบแทน ตามอัตราใหม่ ทั่วประเทศ เริ่ม 01 ตุลาคม 2566 เป็นต้นไป คือ
- กำนัน 7,036 คน : รับค่าตอบแทน เดือนละ 12,000./ บาท ต่อคน
- ผู้ใหญ่บ้าน 67,673 คน : รับค่าตอบแทน เดือนละ 10,000./ บาท ต่อคน
- ผู้ช่วย ผู้ใหญ่บ้าน–ฝ่ายปกครอง 149,418 คน : รับค่าตอบแทน เดือนละ 6,000./บาทต่อคน
- ผู้ช่วย ผู้ใหญ่บ้าน–ฝ่ายรักษาความสงบ 46,181 คน: รับค่าตอบแทน เดือนละ 6,000./ บาท ต่อคน
ยุคนี้ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อายุน้อยลง คนวัยหนุ่มสาว สนใจการเมืองระดับท้องถิ่น ที่จะใช้เป็นบันได เดินต่อ สู่ระดับประเทศ ที่พึ่งของชาวบ้าน ดุจคนใกล้ชิด คนในครอบครัว ในหมู่บ้าน คุ้มเดียวกัน จากเดิม ผันเสียงสนิทใจ เรียก ว่า พ่อกำนัน พ่อผู้ใหญ่ อาจเป็น ท่านกำนัน พี่กำนัน น้องกำนัน ท่านผู้ใหญ่ พี่ผู้ใหญ่ ห่างกันออกไป ตามวิถีใหม่
ความใกล้ กับราษฎร์ จึงเป็น “สะพาน” สำหรับ ทุกฤดูการเลือกตั้ง เบอร์ไหน เบอร์นั้น เชียวล่ะ..
……………………………………………………………………………………………………….
Leave a Response