ชาวบ้านสมาชิกพันธุ์ไม้และร้านค้าตลาดกลางสินค้าเกษตรขอนแก่น กว่า 30 ราย วอนขอความเป็นธรรมและเห็นใจผ่านสื่อมวลชน ถูกธกส.ซึ่งเป็นคนเชิญให้มาอยู่พร้อมปล่อยสินเชื่อค้าขายตั้งแต่ปี 40 ดุจเป็นครอบครัวเดียวกัน ร่อนหนังสือขับไล่ตัดน้ำตัดไฟอย่างไม่เป็นธรรม ร้องขอเวลา 15 เดือน เพื่อขนย้ายทรัพย์สินต้นไม้ออกนอกพื้นที่ก็ไม่ยอม
เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 22 ก.ย.2566 ที่โซนจำหน่ายพันธุ์ไม้และสินค้า ตั้งอยู่ในพื้นที่ตลาดกลางสินค้าเกษตรขอนแก่น ถ.มิตรภาพ ในเขตเทศบาลนครขอนแก่น นำโดยนางธราทิพย์ ลิมปิพัฒน์ อายุ 52 ปี เปิดร้านขายอาหารมาตั้งแต่ปี 52 อยู่บ้านเลขที่ 31 ม.11 ต.ศิลา อ.เมือง จ.ขอนแก่นพร้อมชาวบ้านร่วม 30 คน ซึ่งมีร้านค้าอยู่ภายในจุดจำหน่ายพันธุ์ไม้และสินค้าตั้งแต่เริ่มต้นตั้งแต่ปี 40 นำหนังสือร้องขอความเห็นใจ จากทาง ธ.ก.ส. และ กรมธนารักษ์ มาเปิดเผยกับสื่อมวลชน ภายหลังเข้าร้องทุกข์กับทางนายไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น เมื่อ 21 ก.ย.2566 และเป็นหนังสือข้อความเดียวกันกับที่เคยส่งให้กับนาย เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เมื่อครั้งที่เดินทางมาลงพื้นที่จังหวัดขอนแก่น เมื่อวันที่ 8 ส.ค.66 เพื่อให้มีการพิจารณาให้มีการผ่อนผันชะลอการรื้อถอนร้านค้า ของทาง ธ.ก.ส.และกรมธนารักษ์ โดยขอให้ธนาคารดำเนินการต่อน้ำและไฟฟ้ากลับมาเหมือนเดิม ขอผ่อนผันระยะเวลาการรื้อถอนร้านค้า 15 เดือน และจัดหาสถานที่ที่เหมาะสมให้กับชาวบ้านทุกคนได้ค้าขาย
นางธราทิพย์ ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวถึงความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นขณะนี้ ภายหลังจากเมื่อวันที่ 4 ก.ย.2566 ที่ผ่านมา ทางเจ้าหน้าที่มาตัดน้ำและตัดไฟฟ้าของชาวบ้าน ซึ่งมีร้านค้าอยู่ในพื้นที่รวม 41 ครอบครัว โดยก่อนหน้าจะมีการตัดไฟฟ้าและน้ำนั้นทางธ.ก.ส.มีหนังสือมาถึงชาวบ้านเมื่อ 25 ส.ค.66 ระบุว่า
“ให้ผู้ใช้พื้นที่ทุกร้านขนย้ายทรัพย์สินและรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากพื้นที่ พร้อมส่งมอบพื้นที่คืนในสภาพเรียบร้อยตามเดิม ภายในระยะเวลาที่กำหนด 90 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับหนังสือดังกล่าว ซึ่งจะครบกำหนดรายสุดท้ายในวันที่ 29 สิงหาคม 2566 โดย ธ.ก.ส.จะงดจ่ายไฟฟ้าและน้ำประปา ในวันที่ 4 กันยายน 2566 เวลา 09.00 น. – 16.00 น. นี้”
ทำให้ชาวบ้านตั้งตัวไม่ทัน เกิดความเดือดร้อน ทั้งสินค้า พันธุ์ไม้และอุปกรณ์ขายของที่ร้านที่ต้องใช้ไฟฟ้าไม่สามารถใช้ได้ น้ำประปาก็ถูกตัดไม่มีน้ำใช้ในรดน้ำต้นไม้ ทำให้ต้นไม้เริ่มใบเหลืองทยอยแห้งตาย บางคนที่พอมีกำลังทรัพย์ก็ใช้แบตเตอรี่ปั่นไฟมาใช้ชั่วคราวเพื่อหาสถานที่รองรับสินค้าโดยเฉพาะต้นไม้เหล่านี้ เพื่อรอการจำหน่าย ทางตนเองและคนอื่นๆที่มีร้านค้าอยู่ในพื้นที่จำหน่ายของ ธ.ก.ส.จึงร่วมลงชื่อทำหนังสือขอผ่อนผันชะลอการรื้อถอนออกไป เป็นระยะเวลา 15 เดือน โดยแบ่งเป็นช่วงระบายสินค้าและหาสถานที่แห่งใหม่ 12 เดือน และ อีก 3 เดือนเพื่อเตรียมจัดเก็บสินค้าและทรัพย์สินเพื่อการรื้อถอนออกไป รวม 15 เดือน และในช่วงระยะเวลา 15 เดือน ขอให้ต่อน้ำประปาและไฟฟ้าให้สามารถใช้งานได้ตามปกติ เนื่องจากมีความจำเป็นต้องใช้ในทั้งสองกรณีโดยได้ยื่นหนังสือให้ในวันที่ 28 สิงหาคม 2566
ก่อนจะมีหนังสือตอบกลับของทาง ธ.ก.ส. เมื่อวันที่ 31 ส.ค.66 ที่ผ่านมาว่า ทางธ.ก.ส.ได้ให้เวลาในการดำเนินการมาโดยตลอด โดยได้แจ้งแผนการดำเนินการตามบันทึกการประชุมและตามหนังสือแจ้งให้ขนย้ายทรัพย์สิน และรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากพื้นที่พร้อมส่งคืนในสภาพเรียบร้อยตามเดิม อันเป็นระยะเวลานานพอสมควรแล้วธ.ก.ส.จำเป็นต้องดำเนินการตามกระบวนการที่ได้แจ้งให้ทราบ โดยจะดำเนินการงดจ่ายไฟฟ้า และน้ำประปาในวันที่ 4 กันยายน 2566 และดำเนินกระบวนการทางกฎหมายต่อไป ซึ่งในหนังสือดังกล่าวได้อ้างอิงถึงหนังสือของ ธ.ก.ส.ได้แจ้งให้ทางเจ้าของร้านทั้ง 41 ราย ให้ขนย้ายทืรัพย์สิน และรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากพื้นที่พร้อมส่งมอบพื้นที่คืนสภาพเรียบร้อยตามเดิม ซึ่งลงฉบับที่ 1 วันที่ 2 มิ.ย.66 ฉบับที่ 2 และ 3 ลงวันที่ 12 พ.ค.2566
ทำให้ตอนนี้ได้รับความเดือดร้อนเนื่องจากเคลื่อนย้ายรื้อถอนไม่ทัน เพราะต้องใช้เงินในการรื้อถอน และเพื่อหาทำเลใหม่ซึ่งการหาทำเลก็ไม่ใช่เรื่องที่ง่าย ต้องใช้เวลาเพราะหากได้ทำเลไม่ดีเหมือนที่เคยค้าขายมาทั้งชีวิต ก็เหมือนต้องกลับไปเริ่มต้นจากศูนย์อีกครั้ง หากทาง ธ.ก.ส.ยอมทำตามข้อเสนอของเราก็เชื่อว่าทุกคนจะสามารถขนย้ายทรัพย์ทั้งหมดและมีเงินที่จะรื้อถอนให้กลับมาเป็นสภาพเดิม รวมทั้งหาทำเลขายของใหม่ได้ทัน
ด้าน นางหอมไกร ฮงทอง อายุ 62 ปี อยู่บ้านเลขที่ 191/188 หมู่บ้านเดชา ต.บ้านเป็ดอ.เมือง จ.ขอนแก่น ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวว่า ตนเองเป็นแม่ค้าพันธุ์ไม้รุ่นแรกที่ ธ.ก.ส. มาเชิญชวนไปตั้งร้านขายอยู่จุดนี้ เดิมทีขายอยู่ในตลาดต้นไม้ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นตั้งแต่ปี 36 กระทั่งปี 39 ธ.ก.ส.มีใบปลิวมาเชิญชวนขายอยู่ที่ธกส. โดยตนเองกับเจ้าของร้านชายพันธุ์ไม้คนอื่นรวม 12 ร้านตกลงมาตั้งร้านขายที่นี่ และเริ่มขายตอนปี40 โดยมาทราบทีหลังว่าเพื่อเป็นแนวป้องกันฝุ่นละอองจากข้าวเปลือก เนื่องจากพื้นที่ใกล้เคียง เป็นโรงพยาบาลและเขตที่พักอาศัย ศูนย์การค้า ธนาคาร จึงต้องหาทางป้องกันการร้องเรียนจากผู้อาศัยข้างเคียง โดยธนาคารได้มีการเชิญผู้ขายพันธุ์ไม้และเรียกเก็บค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า และค่าธรรมเนียมอื่นๆ จากสมาชิกพันธุ์ไม้และร้านค้า
ต่อมากรมธนารักษ์ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่อ้างว่า สมาชิกชมรมพันธุ์ไม้และร้านค้าทำไม่ถูกต้องตามสัญญาเนื่องจากพื้นที่ที่ทำกินนี้ ทางธ.ก.ส.เช่าจากกรมธนารักษ์ และมีหนังสือแจ้งให้ธ.ก.ส.รื้อถอนร้านค้าของชมรมฯออกไป และต้องชำระหนี้ ธ.ก.ส.ซึ่งหนี้สินดังกล่าวนั้น ทุกคนต่างกู้สินเชื่อกับธ.ก.ส.ที่มาเสนอโปรโมชั่นต่างๆ และทุกคนก็ชำระหนี้จ่ายดอกเบี้ยตามปกติไม่เคยมีปัญหา เปรียบเสมือนทุกคนเป็นครอบครัวเดียวกันกับธ.ก.ส. มีกิจกรรมทุกอย่างพวกเราทุกคนไปช่วยงาน ร่วมกิจกรรม รักษาน้ำใจ ธ.ก.ส.มาตลอด พยายามไม่ให้เป็นข่าวโด่งดัง แต่สิ่งที่ ธ.ก.ส.ทำกับพวกเราเหมือนเหมือนปล่อยพวกเราลอยแพ
ตอนนี้ทุกคนได้รับความเดือดร้อน หาเช้ากินค่ำ อีกทั้งอายุเยอะไม่สามารถไปทำอาชีพอื่นได้นอกจากค้าขายพันธุ์ไม้ตามเดิม ก็อยากจะขอเวลาตามที่ยื่นขอความเห็นใจไปเพื่อให้ระยะเวลาดังกล่าวให้ชาวบ้านทุกคนหาเงินรื้อถอนและหาทำเลใหม่ได้ทัน และเวลาเพียง 15 เดือนนั้นไม่ใช้เวลาที่นานเลย
พร้อมกันนี้ ชาวบ้านร่วม 30 คน ยังได้พาผู้สื่อข่าวดูจุดที่มีหนังสือให้รื้อถอน โดยเป็นลักษณะพื้นที่รูปตัว L ติดริมถนนมิตรภาพ ซึ่งมีการปรับปรุงพื้นที่รอบอาคารโรงสี โดยทาง ธ.ก.ส.ได้แจ้งกับชาวบ้านว่า กรมธนารักษ์ไม่ต่อสัญญาให้เพราะ ธ.ก.ส.ทำผิดสัญญา และจะมีการสร้างเป็นตลาดการเกษตร ชาวบ้านจึงตั้งข้อสงสัยว่า หากผิดสัญญาทำไมจึงยังมีการก่อสร้างต่อ และหากสร้างตลาดการเกษตรทำไมจึงไม่ให้ผู้ค้ารายเดิมได้มีสิทธิ์ขาย ทั้งที่เป็นลูกค้าของธ.ก.ส.โดยตรงด้วย และแต่ละคนก็ผ่อนชำระหนี้ธ.ก.ส.อยู่ทุกเดือน และเรื่องดังกล่าวนี้ทางชาวบ้านได้มีการร้องเรียนกับทางผู้ว่าราชการจังหวัดชอนแก่น 3 ครั้ง แต่ทางจังหวัดเป็นได้เพียงคนกลางไกล่เกลี่ย หากทางธ.ก.ส.ยืนยันดำเนินการแบบนั้นก็ไม่สามารถทำอะไรได้ ทำให้การพูดคุยยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้ และวในวันที่ 27 นี้ ทุกฝ่ายจะมีการพูดคุยกันอีกครั้ง
Leave a Response