สวนสัตว์ขอนแก่น สร้างรังรักให้นกกาบบัว เพื่อเตรียมพร้อมจับคู่ในช่วงฤดูผสมพันธุ์ เพื่อส่งเสริมพฤติกรรมสัตว์ป่าตามธรรมชาติ ตามหลักมาตรฐานสากลด้านสวัสดิภาพของสัตว์
เมื่อเวลา 13.00 น.วันที่ 8 พฤศจิกายน 2566 นางทิพาวดี กิตติคุณ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสวนสัตว์ขอนแก่น รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการสวนสัตว์ขอนแก่น เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า สวนสัตว์ขอนแก่น สร้างรังรักให้นกกาบบัว เพื่อเตรียมพร้อมจับคู่ในช่วงฤดูผสมพันธุ์ เพื่อส่งเสริมพฤติกรรมสัตว์ป่าตามธรรมชาติ ตามหลักมาตรฐานสากลด้านสวัสดิภาพของสัตว์ (Animal Welfare) โดยจัดเตรียมกิ่งไม้เพื่อทำรังตามแบบธรรมชาติสำหรับนกกาบบัว เพื่อเป็นการส่งเสริมพฤติกรรมสัตว์ ตามหลักมาตรฐานสากลด้านสวัสดิภาพของสัตว์ (Animal Welfare) นกกาบบัว มีชื่อวิทยาศาสตร์ที่หมายถึง “นกที่มีปากยาวใหญ่หัวมีสีขาว” พบในพื้นที่ชุ่มน้ำของที่ราบเอเชียเขตร้อนทาง ตอนใต้ของเทือกเขาหิมาลัยใน อนุทวีปอินเดียและขยายไปสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นชนิดที่พบครั้งแรกในประเทศศรีลังกา ไม่มีการแบ่งเป็นชนิดย่อย มีถิ่นกำเนิดในอินเดีย พม่า ไทย จีน อินโดจีน และมาเลเซีย ลักษณะทั่วไป เป็นนกที่มีขนาดกลาง สูงประมาณ 93 – 102 ซม. (36.5 – 40 นิ้ว) ช่วงปีกกว้าง 150 – 160 ซม. (59 – 63 นิ้ว) และหนัก 2 – 3.5 กก. ปากยาวสีเหลืองแกมส้มโค้งลงตรงปลายเล็กน้อย หน้าผาก ใต้คอและหัว เป็นหนังเปลือยเปล่าสีส้ม คอ หลัง อก ท้องสีขาว บริเวณหัวไหล่มีสีดำและลายริ้วสีขาวแทรกกระจายทั่ว ตัดกับแถบปีกสีขาวขนาดใหญ่ ขนโคนปีกสีชมพูอ่อนไม่จนถึงสีชมพูเข้ม แข้งและตีนสีชมพู ขณะบินข้างอกและขนคลุมใต้ปีกมีลายริ้วสีขาวทั่วชุดขน ฤดูผสมพันธุ์ หนังบริเวณหน้าสีเข้มขึ้น แข้งและตีนสีชมพูเข้ม นกวัยอ่อน คอสีน้ำตาลอ่อน ขนบริเวณหัวไหล่และขนโคนปีก สีน้ำตาล แข้งและตีนสีชมพูซีด
อุปนิสัยและอาหาร เป็นนกที่มีกิจกรรมต่าง ๆ ในตอนกลางวัน อาศัยและหากินตามแหล่งน้ำต่าง ๆ เช่น หนอง บึง และทะเลสาบ ปกติอาศัยและหากินเป็นฝูง เป็นนกที่บินได้ดี ขณะที่บินหัวและลำคอเหยียดตรงไปข้างหน้า ขาและนิ้วเหยียดไปทางด้านหลังโผล่พ้นปลายหาง บางครั้งจะร่อนอยู่กลางอากาศในระดับที่สูงมาก โดยร่อนเป็นวงกลมโดยเฉพาะเหนือรังและเหนือแหล่งหากิน เป็นนกที่จับเกาะตามกิ่งไม้ได้ดี เวลาหากินจะลงมายังพื้นดิน นกกาบบัวกินสัตว์น้ำต่าง ๆ เป็นอาหารเป็นส่วนใหญ่ เช่น ปลา กุ้ง ปู นอกจากนี้ก็ยังกินแมลง และตัวหนอนของแมลงอีกด้วย พฤติกรรมการหาอาหารใช้วิธีเดินลุยไปตามแหล่งน้ำต่าง ๆ ที่ระดับน้ำไม่ลึก อ้าปากอยู่เกือบตลอดเวลา ตาก็คอยจ้องหาเหยื่อในน้ำเมื่อพบก็จะใช้ปากงับเอาไว้สักระยะหนึ่ง จากนั้นก็จะเงยหัวขึ้นเล็กน้อย อ้าปากให้กว้างขึ้นอีก แล้วกลืนเหยื่อทั้งตัว บางครั้งนกกาบบัวก็เดินลุยไปตามทุ่งหญ้าจิกแมลงและตัวหนอนของแมลง รวมทั้งสัตว์ต่าง ๆ ตามกอหญ้า หรือตามพื้นดินเป็นอาหาร เมื่ออิ่มแล้วมักจะมายืนพักผ่อนโดยการยืนนิ่งและด้วยการยืนขาเดียว ใช้ปากไซ้ขน หรือกางปีกผึ่งแดด
“พฤติกรรมการผสมพันธุ์ของนกกาบบัวจะมีการจับคู่สร้างรังวางไข่ 2 ช่วง โดยในช่วงแรกจะเริ่มสร้างรังตอนปลายเดือนกรกฎาคม การสร้างรังในช่วงที่ 2 จะเป็นช่วงเดือนพฤศจิกายน เพื่อหาคู่ผสมพันธุ์และจะเป็นไปอย่างช้า ๆ จะมีการผสมพันธุ์กันบ่อยครั้งในระหว่างการสร้างรัง ช่วงฤดูการผสมพันธุ์อยู่ในช่วงฤดูหนาวต่อฤดูร้อน อยู่ระหว่างเดือนมกราคม หรือกุมภาพันธ์ จนถึงเดือนเมษายน การผสมพันธุ์จะคงมีต่อไปแม้กระทั่งนกเริ่มกกไข่แล้วก็ตาม โดยจะไข่ครั้งละ 2 – 6 ฟอง ใช้เวลากกไข่ประมาณ 30 -31 วัน”
นางทิพาวดี กิตติคุณ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสวนสัตว์ขอนแก่น รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการสวนสัตว์ขอนแก่น กล่าวอีกว่า สวนสัตว์ขอนแก่น จึงให้เจ้าหน้าที่เตรียมกิ่งไม้ เพื่อทำรังตามแบบธรรมชาติ เพื่อเตรียม ความพร้อมสู่ฤดูผสมพันธุ์ของนกกาบบัว ตามมาตรฐานสากลด้านสวัสดิภาพสัตว์ ซึ่งสวนสัตว์ขอนแก่นประสบความสำเร็จในการเพาะขยายพันธุ์นกกาบบัว โดยไข่นกกาบบัวสามารถฟักออกมาได้เป็นผลสำเร็จ ปัจจุบันสวนสัตว์ขอนแก่น มีนกกาบบัวทั้งหมด 98 ตัว มีจำนวนนกกาบบัวมากเป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศไทย และที่สำคัญสวนสัตว์ขอนแก่น มีโครงการปล่อยนกกาบบัวคืนสู่ธรรมชาติ อยู่ระหว่างการหาพื้นที่ในการปล่อย นกกาบบัวคืนสู่ธรรมชาติ นกกาบบัวเป็นนกที่มีลักษณะสวยงาม เป็นที่ชื่นชอบของนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเยี่ยมชม อีกทั้งนกกาบบัวยังถูกจัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 จึงอยากเชิญชวนนักท่องเที่ยว มาเยี่ยมชมนกกาบบัว ได้ที่สวนสัตว์ขอนแก่น ซึ่งเปิดบริการทุกวันไม่เว้นวันหยุดราชการ ตั้งแต่เวลา 08.30 – 16.30 น.
Leave a Response