จัดพิธีบายศรีสู่ขวัญรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมพร้อมภริยา เปิดกิจกรรมส่งเสริมมรดกภูมิปัญญาสู่ Soft Power จังหวัดขอนแก่น ในงานเทศกาลไหมนานาชาติ ประเพณีผูกเสี่ยว งานกาชาดจังหวัดขอนแก่น และงานขอนแก่นซอฟต์พาวเวอร์ ประจำปี 2566 ตั้งเป้าให้อุตสาหกรรมเทศกาลเป็น The World’s Festival Country
เมื่อเวลา 18.30 น.วันที่ 1 ธันวาคม 2566 นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานเปิดกิจกรรมส่งเสริมมรดกภูมิปัญญาสู่ Soft Power จังหวัดขอนแก่น ในงานเทศกาลไหมนานาชาติ ประเพณีผูกเสี่ยว งานกาชาดจังหวัดขอนแก่น และงานขอนแก่นซอฟต์พาวเวอร์ ประจำปี 2566 โดยมีนางศศิฑอณร์ สุวรรณมณี หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงวัฒนธรรม ผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม ผู้บริหารจังหวัดขอนแก่น กงสุลใหญ่และกงสุลกิตติมศักดิ์ สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดขอนแก่น ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น และส่วนราชการในพื้นที่ วัฒนธรรมจังหวัดและเครือข่ายสภาวัฒนธรรมในภาคอีสาน นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ เข้าร่วม ณ บริเวณศาลากลางจังหวัดขอนแก่น
โดยกิจกรรมส่งเสริมมรดกภูมิปัญญาสู่ Soft Power จังหวัดขอนแก่น ในงานเทศกาลไหมนานาชาติ ประเพณีผูกเสี่ยว งานกาชาดจังหวัดขอนแก่น และงานขอนแก่นซอฟต์พาวเวอร์ ประจำปี 2566 นายไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น ได้เชิญพราหมณ์มาทำพิธีบายศรีสู่ขวัญให้นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม และนางระเบียบรัตน์ พงษ์พานิช ภริยาด้วย
นายเสริมศักดิ์ กล่าวว่า ตามนโยบายรัฐบาลที่มุ่งส่งเสริม Soft Power ผ่านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ 11 สาขา มีแผนตราพระราชบัญญัติจัดตั้งองค์กรชื่อ THACCA หรือ Thailand Creative Content Agency ขึ้นมาเพื่อขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าว ซึ่งกระทรวงวัฒนธรรม หนึ่งในคณะกรรมการซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ได้ร่วมผลักดันให้เทศกาลประเพณี ที่มีอยู่ทั่วประเทศ เป็นหมุดหมายดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามาจับจ่ายในพื้นที่ ตามที่รัฐบาลส่งเสริมให้เทศกาลฤดูหนาวในไทยกว่า 3,000 เทศกาล ในชื่องาน Thailand Winter Festival
โดยรัฐบาลตั้งเป้าให้อุตสาหกรรมเทศกาลเป็น The World’s Festival Country พร้อมทั้ง วธ. มีนโยบาย “วัฒนธรรมนำเศรษฐกิจ” Culture Now ที่นำเอาภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม มาทำให้เกิดรายได้ เริ่มจากการส่งเสริมเพิ่มพูนทักษะทางวัฒนธรรม เพื่อสร้างอาชีพ สร้างงาน สร้างรายได้ ตามแผนการขับเคลื่อนนโยบาย 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์ (One Family One Soft Power หรือ OFOS) ด้วยเหตุนี้ การมาเปิดกิจกรรมส่งเสริมมรดกภูมิปัญญาสู่ Soft Power จังหวัดขอนแก่น ในงานเทศกาลไหมนานาชาติ ประเพณีผูกเสี่ยว งานกาชาดจังหวัดขอนแก่น และงานขอนแก่นซอฟต์พาวเวอร์ ประจำปี 2566 ที่เน้นในเรื่องซอฟต์พาวเวอร์ของจังหวัดขอนแก่น ทั้งอุตสาหกรรมแฟชั่นคือผ้าไหมผ้าทอคุณภาพ อุตสาหกรรมดนตรีที่ได้ชื่อว่าเป็น “เมืองหมอแคนแดนหมอลำ” เรียกได้ว่า “หมอลำ” ทำการแสดงที่ไหนที่นั่นจะเกิดมูลค่าเงินหมุนเวียนทางเศรษฐกิจต่อวันนับล้านบาท อุตสาหกรรมอาหารที่มีชื่อเสียง ได้รับการรับรองจากหน่วยงานรับรองมาตรฐานระดับนานาชาติอย่างมิชลิน และอุตสาหกรรมเทศกาลซึ่งงานไหมปีที่ผ่านมา สร้างรายได้ทางเศรษฐกิจให้กับจังหวัดกว่า 326 ล้านบาท จึงถือเป็นการปลุกยักษ์ใหญ่ทางวัฒนธรรมของประเทศ ซึ่งภาคอีสานมีสัดส่วนประชากรมากที่สุดของประเทศ ที่สำคัญคือมีวิถีวัฒนธรรมที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์
นายเสริมศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า ในปีนี้ วธ. โดย กรมส่งเสริมวัฒนธรรม ร่วมกับเครือข่ายทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนในจังหวัดขอนแก่น ได้ร่วมกันสนับสนุนจัดกิจกรรมโดดเด่นเพื่อช่วยยกระดับงานไหมฯ ให้ยิ่งใหญ่ขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา ทั้งการจัดขบวนแห่คาร์นิวัล Khon Kaen Soft Power ภายใต้แนวคิด “ม่วน ถึง แก่น” ถือเป็นครั้งแรกที่จัดขบวนแห่ยามค่ำ เป็นขบวนแห่ที่มีแสง สี เสียงสวยงามตระการตา
“เราได้เชิญบุคคลที่มีชื่อเสียงระดับประเทศและในภาคอีสานมาสะท้อนศักยภาพซอฟต์พาวเวอร์ในขบวนแห่ ได้แก่ สุดยอดหมอลำศิลปินแห่งชาติ 3 ท่าน นางฉวีวรรณ ดำเนิน และป.ฉลาดน้อย และนางราตรีศรีวิไล มีศิลปินหมอลำซุปตาร์ อย่าง แอน อรดี และบอย ศิริชัย มีนักมวยชื่อดังของจังหวัดขอนแก่น 10 ท่าน ที่เป็น “มวยไทยสายขอนแก่น” อาทิ สมรักษ์ คำสิงห์ และวิชัย ราชานนนท์ และมีการแสดงหุ่นเชียงยืนมาช่วยเติมสีสันจากภูมิปัญญาคนไทอีสานขอนแก่น กิจกรรมต่อมาคือการจัดงาน “มหกรรมหมอลำพื้นบ้าน ฮีต 12 ตามฮอยอีสาน” โดยรวมเอาสภาวัฒนธรรมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด นำเสนอมรดกภูมิปัญญาวัฒนธรรมหมอลำอีสาน ที่มีทั้งการแสดงหมอลำกลอน พิธียกอ้อยอคาย”
Leave a Response