เกษตรกรผู้ปลูก “กุยช่าย” ขอนแก่นเดือดร้อนหนัก ดินเค็มแก้ปัญหาไม่ได้ ต้องหันไปปลูกพืชชนิดอื่นทดแทน แต่ก็สู้ราคากุยช่ายไม่ได้

เกษตรกรผู้ปลูก "กุยช่าย" ขอนแก่นเดือดร้อนหนัก ดินเค็มแก้ปัญหาไม่ได้

เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 4 ธ.ค. 2566 ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่บ้านนาเพียง ม.4 ต.สำราญ อ.เมือง จ.ขอนแก่น ซึ่งก่อนหน้านี้เคยเป็นแหล่งปลูกกุยช่ายแหล่งใหญ่ของจังหวัด แต่ชาวบ้านในพื้นที่ประสบปัญหาดินเค็ม ไม่สามารถปลูกกุยช่ายได้เหมือนเดิม จึงหันไปปลูกพืชอย่างอื่นทดแทนแม้รายได้จะไม่ดีเท่าปลูกกุยช่ายก็ตาม

นายจำรูญ วงษ์ละคร อายุ 59 ปี เกษตรกรชาวบ้านนาเพียง ม.4 ต.สำราญ อ.เมือง จ.ขอนแก่น กล่าวว่า ครอบครัวเริ่มปลูกกุยช่ายมาตั้งแต่ปี 2539 ปีนี้ต้องตัดสินใจเลิกปลูกเพราะดินที่เสื่อม จึงหันไปปลูกอย่างอื่นแทนเพื่อความอยู่รอด จึงบริหารจัดการที่ดิน 1 ไร่มาปลูกผักชนิดต่างๆ แทนคือ กะหล่ำปลี ,กวางตุ้ง ,ถั่วฝักยาว ,ผักบุ้งจีน และบล๊อกคอลี่

“ต้องหันมาปลูกพืชอายุสั้นแทนเพราะจะได้เก็บเกี่ยวผลผลิตได้ไวขึ้น และขณะนี้อากาศเย็นแล้วและถ้าอากาศเย็นกว่านี้ผักจะโตขึ้นดีกว่าเดิม ส่วนเรื่องศัตรูพืชช่วงฤดูหนาวจะไม่ค่อยน่ากังวลเท่าไร เพราะส่วนมากจะมีหนอนช่วงฤดูร้อนมากกว่า”

นายจำรูญ กล่าวต่ออีกว่า สำหรับผลผลิตมีรถมารับซื้อถึงหน้าสวนมากขึ้น จึงถือว่าปลูกผักยังได้ราคาดีและลูกค้ามีมาตลอด แต่ราคาได้การขายผักชนิดต่างๆ ก็ยังสู้กุยช่ายไม่ได้เพราะกุยช่ายได้ราคาดีกว่านี้มาก แต่ถ้ายังปลูกกุยช่ายได้เหมือนที่ผ่านมาก็คงไม่มาปลูกผักชนิดต่างๆแบบนี้

“เป็นเพราะดินที่เสื่อมและถ้าจะถมใหม่คงต้องใช้ต้นทุนเยอะขึ้นเลยตัดสินใจเลิก เสียดายที่ปลูกกุยช่ายไม่ได้แล้วเพราะยังเป็นที่ต้องการของตลาดอย่างมากเช่นเดิม อย่างไรก็ตามถ้าเป็นไปได้ก็อยากกลับไปปลูกอีกครั้งเพราะกุยช่ายถือว่าราคาดี แต่คงต้องใช้เวลาให้ดินฟื้นตัวอีกหลายปีจึงจะกลับไปทำได้เช่นเดิม”

Leave a Response

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง