ข้าวราคาดีแต่ชาวนาที่ขอนแก่น กำลังได้รับผลกระทบ หลังน้ำในลำคลองชลประทานไหลเข้าไม่ถึงพื้นที่ทำการเกษตร ส่งผลให้ข้าวนาปรังยืนต้นตาย ด้านชลประทานเรียกผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมหารือ หลังพบมีการลักลอบขโมยน้ำที่ต้นน้ำ ส่งผลให้น้ำไหลเข้าไม่ถึงปลายน้ำ
ชมคลิป
วันที่ 18 มี.ค. 67 นางละมุน พิมพ์ดี เกษตรกรชาวบ้านท่ากระเสริม ต. ท่ากระเสริม อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น พาผู้สื่อข่าวไปดูต้นข้าวนาปรังที่ไม่สมบูรณ์ ต้นเตี้ย ไม่เจริญเจริญงอกงาม กำลังเหี่ยวแห้งตาย หลังคลองน้ำของชลประทานแห้งขอด น้ำไม่เพียงพอต่อความต้องการในการทำการเกษตร ส่งผลให้พื้นที่การเกษตรความเสียหายจำนวนกว่า 4,000 ไร่ ใน 2 ตำบล ของ อ.น้ำพอง จ. ขอนแก่น ส่วนใหญ่เป็นข้าวนาปรัง ที่เกษตรกรกำลังปลูกเพิ่มมากขึ้น หลังมีการรับซื้อข้าวในราคาสูงกว่าทุกปี
นางละมุน เล่าว่า ปีนี้ข้าวได้ราคาดี ตนจึงเริ่มทำนาปรังตั้งแต่วันที่ 6 ก.พ. 2567 แล้วได้น้ำเข้านาเพียงครั้งเดียวคือเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา จากนั้นก็ไม่มีน้ำเพื่อสูบเข้าในนาข้าวอีกเลย จึงอยากฝากไปยังชลประทาน ให้ปล่อยน้ำให้กับเกษตรกรได้ใช้ทำนาปรังอย่างเต็มที่ ถ้าไม่มีการปล่อยน้ำเกษตรกรคงหมดหวังที่จะได้เก็บเกี่ยวข้าว ซึ่งตนลงทุนทำข้าวนาปรังในปีนี้ไปแล้ว เป็นเงินจำนวนกว่า 1 หมื่นบาท หากไม่มีน้ำคงหมดทุนที่จะทำการเกษตรต่อ ยอมรับว่าทำใจเพราะที่นาของตนเองอยู่ปลายน้ำ น้ำจึงไหลมาไม่ถึงเหมือนเช่นทุกปี
ขณะที่บริเวณองค์การบริหารส่วนตำบลท่ากระเสริม อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น สำนักงานชลประทานที่ 6 นำโดย นายจีรศักดิ์ มงคลสวัสดิ์ ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาหนองหวาย พร้อมด้วยนายกรชวาลวิชญ์ ขัยพีรวัส นายอำเภอน้ำพอง และนายประสิทธ์ คลังกลาง นายกองการบริหารส่วนตำบลท่ากระเสริม เข้าทำความเข้าใจกับชาวบ้าน ที่ได้รับผลกระทบจำนวน 10 หมู่บ้าน ใน 2 ตำบล คือ ต.ท่ากระเสริม และ ต. ทรายมูล อ.น้ำพอง จ ขอนแก่น ที่อยู่พื้นที่การเกษตรปลายคลองส่งน้ำ R1 หลังไม่ได้รับน้ำจากคลองชลประทานที่ไหลมาจากเขื่อนอุบลรัตน์ ผ่านลำน้ำพอง แต่น้ำไหลเข้าไปไม่ถึงพื้นที่การเกษตรของชาวบ้าน ทั้งนี้เพื่อเป็นการหาทางแก้ไขให้กับชาวบ้านในเบื้องต้น
นายจีรศักดิ์ มงคลสวัสดิ์ ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาหนองหวายชลประทานที่ 6 กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้น มีอยู่ 2 ประการหลัก เรื่องแรกปัญหาที่น้ำส่งไม่ถึงปลายคลอง สาเหตุมาจาก คลองส่งน้ำมีการใช้งานเป็นเวลานาน มีการชำรุดทรุดโทรม ประกอบกับมีวัชพืชเข้ามาปกลุมจำนวนมาก ส่วนประเด็นที่สอง คือการจัดสรรและแบ่งปันน้ำ ซึ่งพบว่ากลุ่มผู้ใช้น้ำ มีการแย่งน้ำและขโมยน้ำกัน โดยไม่ทำตามกฎเกณฑ์ระเบียบ ด้วยการแอบเปิดน้ำตอนกลางวัน ตลอด 24 ชั่วโมงที่บริเวณต้นน้ำ จึงส่งผลให้ปลายน้ำเกิดปัญหาขาดแคลนน้ำ ปัญหาดังกล่าวนี้ ต้องเร่งดำเนินการแก้ไขอย่างเร่งด่วน ส่วนแนวทางแก้ไขให้กับเกษตรที่อยู่ปลายน้ำ ถึงแม้ว่าปริมาณน้ำในเขื่อนอุบลรัตน์จะมีปริมาณมากก็ตาม แต่การระบายน้ำออกก็อยู่ในวงจำกัด แต่ทางชลประทาน จะทำอย่างเต็มที่ ให้น้ำไหลเข้าพื้นที่การเกษตรที่เสียหายให้ได้มากที่สุด แต่อุปสรรคคือการแบ่งปันน้ำ ซึ่งลำน้ำพองเป็นคลองสายหลักที่มีความยาวกว่า 88 กิโลเมตร การจัดสรรน้ำให้เหมาะสมจึงมีความสำคัญเป็นอย่ามาก///////////
Leave a Response