แม่ค้าขายกับข้าวชาวอำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น หันมายึดอาชีพเพาะขยายพันธุ์แมงดานาไว้ขายเป็นพ่อและแม่พันธุ์ คู่ละ 100 บาท และส่วนหนึ่งนำไปแปรรูปเป็นแจ่วบองปลาร้าแมงดาขาย มียอดสั่งซื้อจนทำขายไม่ทัน สร้างรายได้ 3-4หมื่นบาทต่อเดือน เผยหลายปีก่อนต้องไปตระเวนหาซื้อแมงดามาเป็นวัตถุดิบในการทำกับข้าวซึ่งมีราคาแพง กระทั่งซื้อมาขังไว้ ก่อนพบแมงดาวางไข่จึงเริ่มเพาะพันธุ์ขายเอง
วันที่ 24 เมษายน 2567 ที่ศูนย์เลี้ยงแมงดา ตั๊กแตน แม่ลิน้ำพองขอนแก่น บ้านโนนเชือก ต.บ้านขาม อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น นางมะลิ โนนทิง อายุ 64 ปี เจ้าของศูนย์เลี้ยงแมงดาฯ พาผู้สื่อข่าวสำรวจดูแมงดานา กว่า 200 ตัว ที่นำขึ้นมาจากบ่อเลี้ยง หลังจากที่นำมาพักไว้ภายในบ่อที่โครงสร้างทำจากไม้ ล้อมด้วยมุ้งไนล่อน ซึ่งแมงดาจำนวนนี้เป็นแมงดานาตัวผู้และตัวเมีย อายุระหว่าง 5 – 7 เดือน ที่เตรียมไว้ขายให้กับลูกค้าทั้งในจังหวัดขอนแก่นและจังหวัดใกล้เคียง ที่ต้องการนำไปเพาะขยายพันธุ์ต่อ โดยการเพาะเลี้ยงแมงดานานี้ เป็นอาชีพที่นางมะลิ ยึดเป็นอาชีพหลักและเป็นอาชีพที่สร้างรายได้ให้กับครอบครัว มาตั้งแต่ปี 2560
นางมะลิ เล่าว่า ก่อนหน้านี้ตนเองประกอบอาชีพทำนาเป็นอาชีพหลัก และทำกับข้าวขายตามตลาดนัดคลองถมเป็นอีกอาชีพ แต่หลังจากที่พื้นที่ทำนาถูกน้ำท่วมซ้ำซากเป็นประจำ และการที่ต้องคอยปั่นจักรยานไปหาตระเวนซื้อแมงดานามาเป็นวัตถุดิบในการทำอาหารไปขาย ซึ่งแมงดานามีราคาสูงขึ้นเรื่อย ๆ จากเคยซื้อในราคา 40 ตัว 10 บาท ก็กลายมาเป็น 2 ตัว 10 บาท จนกระทั้งปี 2558 ราคาเพิ่มเป็น 3 ตัว 20 บาท ในครั้งนั้นตนเองจึงตัดสินใจซื้อแมงดานาที่มาชาวบ้านนำมาขายในตลาดมาไว้มากกว่าปกติ ซึ่งช่วงนั้นแมงดาก็กำลังมีราคาแพง โดยนำมาขังไว้ในกะละมัง ปรากฏว่าวันต่อมาตนเองจะนำเอาแมงดาไปทำอาหาร ก็พบว่า แมงดามีการวางไข่ จึงมีแนวคิดว่าอยากลองเพาะเลี้ยงไว้วัตถุดิบในการทำกับข้าวไปขาย หากได้ผลก็จะไม่ต้องไปซื้อกับคนอื่นอีก จากนั้นจึงได้ทดลองเพาะเลี้ยงแบบลองผิดลองถูก จนกระทั้งสามารถเพาะเลี้ยงแมงดานาได้สำเร็จ โดยวิธีการเลี้ยงและการเตรียมสถานที่เพาะเลี้ยง เริ่มจากการเตรียมบ่อเลี้ยงจะเป็นปูน ผ้าใบ หรือบ่อดินก็ได้ แต่ต้องขุดบ่อให้มีความลึกไม่ต่ำกว่า 30 – 50 ซม. จากนั้นหาพืชน้ำ เช่น ต้นข้าว ต้นกก จอด แหน มาใส่ลงในบ่อ ทำมุ้งครอบเพื่อป้องกันแมงดาบินออก เติมน้ำธรรมชาติลงในบ่อ หากเป็นน้ำประปาให้พักน้ำไว้ 4 – 5 วัน ส่วนอาหารของแมงดา จะเป็นกุ้งขนาดเล็ก ปลาซิว หรือลูกอ๊อด หากได้ตัวที่ยังเป็นๆ อยู่จะดีกว่า ติดสปริงเกอร์เพื่อสร้างความเย็น โดยเปิด 4 – 5 ครั้งต่อวัน ครั้งละ 30 – 60 นาที งดเว้นการรบกวนจาก คน สัตว์ แสงและเสียง หากแมงดาวางไข่ ให้แยกเอาไข่ออกมารอฟักในบ่ออนุบาล โดยประมาณ 7 วัน ไข่แมงดาก็จะฟักเป็นตัว ก็สามารถเลี้ยงดูแลได้ตามขั้นตอนข้างต้น โดยผู้ที่สนใจสามารถเดินทางมาศึกษาดูงานที่ศูนย์ฯ ได้ หรือโทรศัพท์มาสอบถามได้ที่เบอร์โทรศัพท์ 080 – 9234525
นางมะลิ กล่าวว่า ตั้งแต่ตนเองพาครอบครัวหันมายึดอาชีพเลี้ยงแมงดานาขายมาตั้งแต่ประมาณปี 2560 ทำให้ฐานะทางครอบครัวดีขึ้น มีรายได้จากการขายพ่อแม่พันธุ์แมงดา และขายแจ่วบองแมงดา เดือนละประมาณ 30,000 – 40,000บาท ซึ่งปัจจุบันแจ่วบองแมงดาขายดีมาก มีลูกค้าสั่งซื้อจนทำแทบไม่ทัน เนื่องจากแจ่วบองแมงดาสูตรของตนเองมีรสชาติอร่อยกลมกล่อม โดยปลาร้าที่นำมาทำแจ้วบอง จะเป็นปลาร้าปลาตะเพียนที่หมักไว้อย่างน้อย 2 ปี นำมาโครกเข้ากับสมุนไพร ปรุงรสตามสูตร และที่ขาดไม่ได้คือ แมงดานาที่เป็นส่วนผสมที่ให้กลิ่นที่หอมเย้ายวน เป็นที่ติดอกติดใจของลูกค้า โดยจะนำปลาร้าบองแมงดาที่ทำเสร็จบรรจุใส่กระปุก ขายกระปุกละ 60 บาท และ 100 บาท สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เพจเฟซบุ๊คชื่อ “ศูนย์เลี้ยงแมงดาแม่ลิขอนแก่น เพจจริง” หรือ โทร. 080 – 9234525
Leave a Response