ดราม่า ชุดอุ๊งอิ๊ง THACCA SPLASH โซเชียลเดือด ดีไซเนอร์เปิดใจพร้อมพัฒนา

ข่าวขอนแก่น Web Cover

Key Points

– วิจารณ์แรงชุดอุ๊งอิ๊งในงาน THACCA SPLASH

– ผู้ใช้โซเชียลโพสต์ภาพและข้อความบูลลี่เสื้อผ้า

– ดีไซเนอร์ออกมาอธิบายและน้อมรับคำติชม

?

ดราม่า ชุดอุ๊งอิ๊ง แพทองธาร ชินวัตร ใส่ขึ้นเวทีในงาน “THACCA SPLASH – Soft Power Forum 2024” ชี้แรงบอกเป็นแบบเศษผ้าขยะ เพื่อต้องการนำผ้าเช็ดเท้ามาทำเป็น Soft Power ด้านดีไซเนอร์เปิดใจ เห็นข้อความทีแรกตกใจ แต่น้อมรับทุกคำติชมพัฒนาฝีมือต่อไป

มีกรณีผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ “Pete Pittayaphan Sriweawnetr” โพสต์ภาพของอุ้งอิ้ง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และรองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ สวมใส่ชุดผ้าไหมขึ้นเวทีในงาน “THACCA SPLASH – Soft Power Forum 2024” โดยระบุข้อความว่า “อุ๊งอิ๊งนี่เฉียบแหลมจริง ๆ ผมละอ่านเกมคุณหนูผิดพลาดอย่างไม่น่าให้อภัยพ่อแม้วเลย การแต่งตัวแบบเศษผ้า ขยะ ๆ เพื่อต้องการจะนำพรมเช็ดเท้ามาทำเป็น #SoftPower ล้ำลึกสมกับลูกสาวและเจ้าของวลี “My dad is โกง” จริงๆ”

นอกจากนี้ยังมีเพจเฟซบุ๊กชื่อ “Amarat Chokepamitkul อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล“ โพสต์ภาพคุณอุ๊งอิ๊ง ที่สวมใส่ชุดผ้าไหมในงานเดียวกัน พร้อมข้อความไปในทางบูลลี่เสื้อผ้าว่า “เปลี่ยนตัวดีไซเนอร์ด่วน !! งาน “THACCA SPLASH – Soft Power Forum 2024””และยังมีอีกหลายคนที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับชุดดังกล่าว

ซึ่งต่อมาภายหลังจากมีคนแชร์โพสต์ดังกล่าวออกไปทำให้เกิดเป็นกระแสดราม่าขึ้นมาเกี่ยวกับชุดที่คุณอุ๊งอิ๊งสวมใส่ในงานดังกล่าว จนดีไซเนอร์ที่เป็นคนออกแบบชุดดังกล่าวออกมาโพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัวอธิบายความหมายของแต่ละส่วนในการทำงานออกแบบเสื้อตัวนี้ตามโจทก์ที่ได้รับคือการนำเอาผ้าเอกลักษณ์ของชาวอีสานมาผสมผสานกันเป็นเกิดเป็นชุดนี้ขึ้นมา

โดยผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่ไปพบกับ คุณธรากร คำทอน อายุ 27 ปี ดีไซเนอร์ ทำแบรนด์ผ้าไหมร่วมกับชุมชน อ.ชนบท จ.ขอนแก่น ที่ JUMLAENG PLAENGGUY STUDIO ตั้งอยู่เลขที่ 135/31 ม14 ต.ในเมือง อ.เมือง ขอนแก่น ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวว่า จากประเด็นในโลกโซเชียลนั้น ตนเองเป็นผู้ออกแบบและตัดเย็บเอง โดยเลือกผ้าจากในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น และทั่วภาคอีสาน โดยได้รับโจทก์การทำมาจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่ตนเองสำเร็จการศึกษามา โดยโจทก์ที่ได้รับนั้นคือ อยากได้เป็นตรีมชุดผ้าจากภาคอีสานทั้งหมด ส่วนตัวพยายามมองถึงลักษณะเด่นการแต่งกายที่เป็นเอกลักษณ์มากกว่าผ้าอื่นๆ จึงเล็งเห็น “ผ้าเบี่ยง” คือผ้าสไบเล็กๆที่พาดหน้าอกของชาวอีสาน ในหลายๆกลุ่มชนในชาติพันธุ์หลายๆชาติก็จะมีการใช้ผ้าเบี่ยงที่แตกต่างกันออกไป เรารู้สึกว่าผ้าเบี่ยงเป็นเอกลักษณ์ที่บ่งบอกเฉพาะถึงกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆจึงอยากดึงเอาเอกลักษณ์นี้มาทำเป็นชุดที่อยากจะนำเสนอในรูปแบบอีสานสมัยใหม่มากขึ้นจึงออกมาเป็นชุดนี้

ในมุมของผู้ออกแบบกับคำว่าเอาผ้าขยะหรือพรมเช็ดเช้ามาทำนั้น รู้สึกว่าเป็นคำที่หนักและแรงพอสมควร แต่เราไม่ได้นำเสนอในลู่ทางนั้น หรือแบบนั้น มองว่าทุกคนสามารถแสดงความคิดเห็นได้ที่หลากหลาย เราก็ไม่ได้ไปโฟกัสหรือให้ความสำคัญที่จุดนั้น

เราจะให้ความสำคัญกับงานเราตามแรงบันดาลใจที่เรามีให้ได้มากที่สุด คงความเป็นอีสานให้ได้มากที่สุด โจทก์ที่ได้มาก็ค่อนข้างยาก เพราะมีทั้งผ้าไหม ผ้าไหมมัดหมี่ ผ้าแพรวา และผ้าย้อมคราม ซึ่งผ้าแต่ละประเภทก็จะมีลักษณะ หรือการนำมาใช้งานที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งเราก็อยากจะชูเอกลักษณ์ของผ้าทั้งหมดให้ออกมาได้อย่างครบถ้วน ซึ่งชุดที่ออกมานั้นก็จะมีเทคนิคที่เรียกว่า การแพ็คเวิร์ค ซึ่งใช้ผ้าไหมมัดหมี่ ผสมกับ ผ้าคราม เพื่อให้ได้เป็นลักษณะของเส้นสายหรือหมี่คั่นเหมือนผ้าถุงของชาวอีสาน ทับด้วยสไบแพรวาซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของชาวอีสานอีกครั้ง

ดีไซเนอร์ที่ออกแบบชุดดังกล่าว ยังบอกอีกว่า ต้องขอขอบคุณชาวโซเชียลทั้งให้กำลังใจเข้ามาชื่นชม และยังมีคำติที่เราขอน้อมรับไว้เพื่อนำไปพัฒนาดีไซน์ต่อไปให้ออกมาดีขึ้นเรื่อย และขอบคุณแทนแม่ๆซึ่งเป็นชาวบ้านที่ทอผ้าไทยอยากให้ทุกคนมีกำลังใจ ที่หลายคนเห็นคุณค่าของผ้าทอไทยอยากจะให้สนับสนุนบุคคลเหล่านี้ด้วย สุดท้ายนี้อยากจะบอกว่า งานดีไซน์มีหลากหลาย ถ้าเรามองเป็นกลางเราก็จะเจอสิ่งที่จะสามารถนำไปพัฒนาต่อได้ เพื่อให้ไปสู่สิ่งที่ดีได้ นอกเหนือจากคำตำหนิหรือการด้อยค่า เพราะการทำงานชิ้นหนึ่งขึ้นมาไม่ได้เริ่มแค่เราคนเดียว แต่ยังมีอีกหลายคนที่ร่วมกับเราบางคนก็รับได้บางคนก็รับไม่ได้ แต่ส่วนตัวมองว่างานศิลปะเป็นสิ่งที่ตัวเราเองทำขึ้นมาก็จะมีทั้งคนชอบและไม่ชอบ ซึ่งก็ขอขอบคุณทุกคนที่ให้ความสนใจ ทั้งสนับสนุนและติชมเข้ามา แต่ไม่ท้อจะขอทำงานร่วมกับชาวบ้านในชุมชนต่อไป

Leave a Response

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง