ไฟไหม้ แทรมน้อย รถไฟฟ้ารางเบาแก้รถติดเมืองขอนแก่น

ข่าวขอนแก่น Web Cover

เกิดเหตุเพลิงไหม้ “แทรมน้อย” ต้นแบบรถไฟฟ้ารางเบาของเมืองขอนแก่น ฝีมือคนไทยสายเลือดอีสาน ที่กำลังทำการพัฒนาอยู่ภายในบริษัท ช.ทวี จ.ขอนแก่น เพื่อเป็นระบบขนส่งมวลชน แก้ไขปัญหารถติดในเมืองขอนแก่น โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจพร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมลงพื้นที่ตรวจสอบช่วงบ่ายวันนี้

วันที่ 1 กรกฎาคม 2567 ผู้สื่อข่าวรายว่า เมื่อเวลา 00.30 น. ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ศูนย์วิทยุ 191 รับแจ้งเหตุเพลิงไหม้ ภายในบริษัท ช.ทวี บ้านโนนตุ่น ต.เมืองเก่า อ.เมือง จ.ขอนแก่น จึงประสานไปยังเจ้าหน้าที่มูลนิธิสว่างขอนแก่นสามัคคีอุทิศ พร้อมรถดับเพลิงเทศบาลตำบลเมืองเก่า และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำกำลังเข้าตรวจสอบ 

เมื่อไปถึงที่ถึงที่เกิดเหตุ พบต้นเพลิงกำลังลุกไหม้ที่โครงสร้างหัวรถจักร และส่วนต่างๆ รวม 3 ขบวน เจ้าหน้าที่กู้ภัยฯ พร้อมทีมดับเพลิงเทศบาลตำบลเมืองเก่า ทำการดับเพลิงที่ลุกไหม้ โดยใช้เวลาประมาณ 1-2 ชม. จึงสามารถควบคุมเพลิงไว้ได้ อย่างไรก็ตาม ในช่วงบ่ายวันนี้ พ.ต.อ.ยศวัจน์ แก้วสืบธัญญานิจ ผกก.สภ.เมืองขอนแก่น พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะลงพื้นที่เกิดเหตุ เพื่อตรวจสอบสาเหตุของเพลิงไหม้อย่างละเอียด ขณะที่แหล่งข่าวที่เชื่อถือได้ในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น เปิดเผยว่า ขณะนี้ผู้บริหารระดับสูงของมหาวิทยาลัยฯ ได้รับรายงานเหตุเพลิงไหม้ที่เกิดขึ้นแล้ว ซึ่งรถไฟที่ถูกเพลิงไหม้นั้นเป็นโครงการวิจัยของมหาวิทยาลัยฯ เป็นขบวนรถไฟฟ้าที่ได้จากการศึกษา “แทรม 907” ที่ได้รับมอบมาจากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งทางมหาวิทยาลัยฯ ได้รับงบประมาณในการพัฒนาจากขบวนรถไฟต้นแบบ โดยได้มีการพัฒนาที่ บริษัท ช.ทวี ก่อนจะเกิดเหตุเพลิงไหม้ในครั้งนี้ 

ข้อมูลจากเว็บไซต์ spacebar.th (Spacrbar Big City) ระบุว่า “แทรมน้อยลูกอีสาน” เป็นระบบขนส่งสาธารณะของจังหวัดขอนแก่น ที่ถูกผลักดันให้เป็นหนึ่งใน ‘เมืองอัจฉริยะ’ หรือ Smart city คือเมืองที่ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการให้บริการและการบริหารจัดการเมือง เน้นการออกแบบที่ดี และการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ภายใต้แนวคิดการพัฒนา เมืองน่าอยู่ เมืองทันสมัย ให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความสุขอย่างยั่งยืน โดยเมืองอัจฉริยะขอนแก่น มีมิติแผนการพัฒนาที่สำคัญ 7 ด้าน คือ สิ่งแวดล้อม การเดินทางและขนส่ง การดำรงชีวิต พลเมือง พลังงาน เศรษฐกิจ และการบริหารภาครัฐ ในฐานะมหานครของภาคอีสาน ขอนแก่นมีการพัฒนาเมืองอย่างรวดเร็ว ปัญหาส่วนหนึ่งที่เกิดขึ้นคือ การจราจรติดขัดไม่ต่างจากเมืองใหญ่ ทำให้หลายหน่วยงานเล็งเห็นความสำคัญในการวางระบบขนส่งสาธารณะ หนึ่งในนี้คือ “โครงการรถไฟฟ้ารางเบา” (ต้นแบบ) ของขอนแก่น ที่ได้รับการยอมรับว่า เป็นรถไฟฟ้ารางเบาฝีมือคนไทยสายเลือดอีสาน และถือเป็นรถไฟฟ้ารางเบาขบวนแรกของประเทศไทย ที่พัฒนาโดยฝีมือของคนไทย ซึ่ง อาจารย์ปริญ นาชัยสิทธิ์ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น อดีตนายกสมาคมวิศวกรรมระบบขนส่งทางรางไทย เคยให้สัมภาษณ์จุดเริ่มต้นของรถไฟฟ้ารางเบาไว้ว่า เมื่อปี 2562 เทศบาลเมืองฮิโรชิมาประเทศญี่ปุ่น มอบรถแทรม 1 ตู้โดยสารให้กับเทศบาลนครขอนแก่น โดยอาจารย์ นักวิจัย และนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ มทร.อีสาน ร่วมกับบริษัท ช ทวี จำกัด(มหาชน) และอีกหลายภาคส่วน ร่วมศึกษาวิจัย พัฒนา และผลิตรถไฟฟ้ารางเบาขบวนแรกของประเทศไทยขึ้น 

ต่อมาในปี 2565 มหาวิทยาลัยฯ ได้รับงบประมาณสนับสนุนครั้งแรก 120 ล้านบาท ผลิตรถไฟฟ้ารางเบาเวอร์ชั่นแรก มี 2 ขบวน ขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้าเหนือศีรษะ ทดสอบขับเคลื่อนภายในมหาวิทยาลัย ระยะทาง 70 เมตร จากนั้น พัฒนาเป็นเวอร์ชั่นที่ 2 โดยทางสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ  หรือ สวทช. สนับสนุนทุนเพิ่มเติมกว่า 60 ล้านบาท ซึ่งล่าสุด รถไฟฟ้ารางเบาเวอร์ชั่น 2 นี้อยู่ระหว่างการพ่นสีรอบสุดท้ายแล้ว โดยใช้สีเหลืองดอกคูณ แทนสัญลักษณ์ของรถไฟฟ้ารางเบาขบวนแรก ที่ผลิตในจังหวัดขอนแก่น รถไฟฟ้ารางเบาเวอร์ชั่น 2 ได้พัฒนาเพิ่มเติมให้เป็นรถไฟฟ้ารางเบาใหม่มี 3 โบกี้ และมี 2 ระบบขับเคลื่อน คือ ขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้าเหนือศีรษะ และขับเคลื่อนด้วยแบตเตอรี่

สำหรับการทดสอบความทนทานในการใช้งานของรถไฟฟ้ารางเบา แบ่งเป็น 2 แผน คือการขอสนับสนุนงบประมาณของมหาวิทยาลัย วางรางรถไฟภายในมหาวิทยาลัย จากเดิมที่มีระยะการทดสอบที่ 70 เมตร จะต่อรางเป็นระยะทาง 420 เมตร ไปจนถึงถนนศรีจันทร์หน้ามหาวิทยาลัย คาดว่างบประมาณจะอนุมัติภายในเดือนสิงหาคม 2567 จากนั้นจะใช้เวลาก่อสร้างราง 3-4 เดือน จึงจะแล้วเสร็จ ตั้งเป้าว่าช่วงเดือนธันวาคม 2567 สามารถทดสอบรถไฟฟ้ารางเบาเวอร์ชั่นล่าสุด ที่มีทั้งระบบขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าเหนือศีรษะและระบบแบตเตอรี่ได้

ส่วนการทดสอบการใช้งานรถไฟฟ้ารางเบาระยะที่ 2 ตั้งเป้าให้มีการทดสอบระยะทางที่ไกลขึ้น คือการวางรางรถไฟฟ้ารอบบึงแก่นนคร ระยะทางประมาณ 4 กิโลเมตร มีระยะเวลาในการก่อสร้าง 3 ปี โดยการทดสอบนี้ จะสอดคล้องกับการทดสอบระยะแรก 420 เมตร ภายในมหาวิทยาลัยฯ ซึ่งการทดสอบรอบบึงแก่นนคร 4 กิโลเมตรนี้ จะเป็นสิ่งที่พิสูจน์ความสามารถของวิศวกรไทยว่า สามารถสร้างรถไฟฟ้าระบบรางที่ตรงตามมาตรฐานสากล โครงการวางระบบรางรอบบึงแก่นนคร จะเป็นการพิสูจน์ได้ว่า เราสามารถใช้รถไฟฟ้าพัฒนาระบบการจราจร การใช้รถร่วมกันระหว่างถนนกับรถไฟ และเกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจ ถือเป็นบทพิสูจน์ว่า คนไทยสามารถพัฒนาระบบรางด้วยฝีมือคนไทยเองพร้อมที่จะนำไปใช้จริง โดยการพัฒนารถไฟฟ้ารางเบา ทุกฝ่ายเชื่อว่าจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวขอนแก่น ทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการสาธารณะต่าง ๆ ได้สะดวกสบายขึ้น ขณะเดียวกัน การพัฒนาระบบขนส่งมวลชนยังช่วยให้เมืองมีสภาพแวดล้อมที่น่าอยู่ การจราจรติดขัดน้อยลง คาดว่ารถไฟฟ้ารางเบา จะทำให้ปริมาณรถยนต์บนถนนมิตรภาพ ลดลงได้ถึงร้อยละ 10

เครดิตภาพ มูลนิธิสว่างขอนแก่นสามัคคีอุทิศ

Leave a Response

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง